xs
xsm
sm
md
lg

แล้วก็ถึงยุค (รถ) "จีน" บุก "อเมริกา"

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในช่วงที่สังคมเมืองของจีนกำลังตกอยู่ในกระแสของ "มอเตอร์โชว์ฟีเวอร์" ความสนใจของงาน ปักกิ่งมอเตอร์โชว์ 2004 ไม่ได้ตกอยู่ที่เพียงการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ของค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่ต่างก็ให้ความสนใจกับตลาดรถยนต์ที่กำลังเติบโตเร็วที่สุดในโลกอย่างจีน แต่ยังมีประเด็นปลีกย่อยอีกมากมาย

ท่ามกลางควันหลงความน่าสนใจจาก งานมอเตอร์โชว์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน มีประเด็นหนึ่งถูกจุดขึ้นมาก็คือ "ผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อจีนแท้ๆ กำลังจะตาย"

ในงานปักกิ่งมอเตอร์โชว์ มีตัวเลขระบุว่า พื้นที่การจัดงานส่วนใหญ่นั้นถูก บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกจับจองไปเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ผู้จัดงานกับให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับยี่ห้อในประเทศเพียงน้อยนิด ซึ่งถ้าหากหันไปมองตัวเลขสัดส่วนตลาดรถยนต์นั่ง ของเมืองจีนแล้วก็จะพบได้ว่า ภาวะดังกล่าวนี้มีที่มาที่ไป

ปัจจุบัน ตลาดรถยนต์นั่งในจีนกว่าร้อยละ 90 ถูกกุมอยู่ในมือบริษัทรถยนต์ที่มีบริษัทต่างชาติร่วมทุน และขายในยี่ห้อของต่างชาติ อย่างเช่น โฟล์คสวาเกน จีเอ็ม ฮอนด้า เปอโยต์ โตโยต้า บีเอ็มดับเบิลยู ฟอร์ด ส่วนผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อจีนนั้นก็ต้องแบ่งสรรปันส่วนสัดส่วนเล็กๆ ที่เหลืออีกร้อยละ 10 กันเอาเอง

ณ สถานการณ์ปัจจุบันที่บริษัทรถยนต์จากทั้ง ยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แทบทุกยี่ห้อในโลกต่างกรีฑาทัพเข้ามาตั้งโรงงานผลิตและขายสินค้าในจีนกันหมด บริษัทรถยนต์จีนถูกบีบให้เหลือเนื้อที่ขยับตัวเพียง ในตลาดของรถบรรทุก รถตู้ และตลาดรถยนต์ขนาดเล็ก ส่วนรถยนต์นั่งขนาดกลาง และหรูหรานั้นถูกบริษัทต่างชาติยึดครองไปเกือบหมด

มีนักวิเคราะห์ระบุว่า หนทางข้างหน้าของผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อจีนแท้ๆ นั้นจะยิ่งขรุขระมากขึ้นทุกวันทุกวันโดยเหตุผลที่มีการนำมาอ้างอิง ถึงคำพูดดังกล่าวก็คือ

หนึ่ง ยุคสมัยทำให้นโยบายของรัฐบาลจีนกำลังจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่อุ้มชูอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศอย่างเต็มที่ โดยให้ฐานะว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศเป็น อุตสาหกรรมทารก (Infant Industry) สังเกตได้จาก โควต้า และเพดานภาษีนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศของจีน รวมถึงรถยนต์ยี่ห้อต่างประเทศที่ผลิตในจีนที่สูงปรี๊ด อันส่งผลให้ราคารถยนต์ในประเทศจีนนั้นสูงกว่าตลาดโลกอยู่มาก ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย

รัฐบาลจีนอุ้มชู อุตสาหกรรมรถยนต์ที่เป็นทารกนี้เริ่มตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 70 และดำเนินต่อเนื่องอยู่นาน กว่ายี่สิบปี โดยมุ่งหวังว่าอุตสาหกรรมรถยนต์นั้นจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน ทั้งนี้ความช่วยเหลือที่รัฐบาลมอบให้ก็ประกอบไปด้วย การดึงบริษัทรถยนต์ต่างชาติพร้อมเทคโนโลยีให้เข้ามาร่วมทุนกับโรงงานในประเทศ โดยบริษัทรถยนต์แรกๆ ก็คือ โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) ในปี ค.ศ.1985 อันเป็นจุดกำเนิดของบริษัทรถยนต์ร่วมทุน จีน-เยอรมัน ที่ชื่อ "Shanghai Volkswagen" หรือในชื่อจีนคือ "ซ่างไห่ต้าจ้ง:上海-大众"

อย่างไรก็ตาม ในยุคที่โลกกำลังตกอยู่ในกระแสของการแปรรูป (Privatization) จีนก็เช่นกัน ภาครัฐของจีนก็จำเป็นต้องตัดภาระที่ตนเองแบกอยู่ให้เหลือน้อยที่สุดด้วย ซึ่งภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ก็เป็นหนึ่งในนั้น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจีนจึงเริ่มถอยตัวออกห่างมากขึ้นเรื่อยๆ และปล่อยให้กลไกตลาดเข้ามาจัดการกับอุตสาหกรรมรถยนต์

สัญญาณที่ชี้ให้เห็นได้ชัดเจนถึง ภาวะของการแข่งขัน ก็คือ "ราคา"

การแข่งขันด้านราคา (Price Competition) ของตลาดรถยนต์จีนที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ 3 ปีก่อนและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีนี้ก็มีการคาดหมายกันว่าราคารถยนต์ในตลาดโดยเฉลี่ยน่าจะลดลงอีกราวร้อยละ 10

สอง การที่จีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) บีบให้จีนเลิก โควต้าการนำเข้ารถยนต์ต่างชาติ ภายในปี 2548 (ค.ศ.2005) และลดอัตราภาษีการนำเข้ารถยนต์จากร้อยละ 80-100 ให้เหลือไม่เกิน ร้อยละ 25 ภายในปี 2549 (ค.ศ.2006) รวมถึงการลดข้อจำกัดในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และสัดส่วนการใช้ส่วนประกอบที่ผลิตในประเทศด้วย

เพียงแค่สองปัจจัยนี้ก็ดูเหมือนจะบ่งบอกได้ว่าอีกไม่นาน รถยนต์สัญชาติจีน คงต้องยอมยกธงขาวให้กับ บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่รุ่นเฮฟวีเวตจากต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมิถุนายนเช่นกัน ก็มีรายงานข่าวที่หลายคนแล้วไม่อยากจะเชื่อเกิดขึ้นมา เมื่อมีข่าวระบุว่า บริษัทค้ารถยนต์ในสหรัฐฯ เจ้าหนึ่งกำลังจะนำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อจีนที่ผลิตในจีน ในสหรัฐฯ ภายในฤดูใบไม้ผลิที่จะถึงนี้

โดยบริษัทดังกล่าวมีชื่อว่า China Motor ตั้งอยู่ในรัฐอริโซนา และมีเจ้าของชื่อ เดวิด เชลเบิร์ก (David Shelburg) เชลเบิร์ก ต้องการที่จะนำเข้ารถยนต์สัญชาติจีน เพื่อมาขายในสหรัฐฯ มาเป็นเวลานานแล้ว โดยเขาเห็นว่า รถยนต์จีนนั้นมีจุดได้เปรียบหลักคือ "ราคาถูก" โดยรถยนต์จีนที่เขาจะขายนั้นราคาจะตกอยู่ในช่วง 9,000 ถึง 15,000 เหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้รถยนต์ที่ตกเป็นข่าวว่าเชลเบิร์กต้องการจะขายนั้น เป็นแบบ Sport-Utility Vehicles (SUV) สองรุ่น, รถปิ๊กอัพสองรุ่น และรถยนต์อีกสองรุ่น ทั้งนี้ยี่ห้อที่ถูกเปิดเผยสู่สื่อมวลชนจีนก็ได้แก่ Geely (吉利), Great Wall (长城) และ Gonow

พร้อมกันนี้แผนของเชลเบิร์กยังระบุอีกด้วยว่า บริษัทของเขาจะสร้างเครือข่ายตัวแทนขายให้ได้ครบ 100 แห่ง และจะขายรถยนต์จีนให้ได้ 60,000 คันภายในปีนี้

แม้จะมีปัญหาว่า รถยนต์จีน มีคุณภาพที่ค่อนข้างต่ำ รวมถึงปัญหาที่หลายคนยังข้องใจว่า รถยนต์ยี่ห้อจีนที่ผลิตจากจีนจะสามารถยกระดับให้ก้าวพ้น การควบคุมมาตรฐานทางด้านความปลอดภัย และการรักษาสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ที่ได้ชื่อว่า เป็นตลาดที่เคี่ยวและเข้มงวดที่สุดของโลกได้หรือไม่ หรือ แผนของ เชลเบิร์ก ผู้นำเข้ารถยนต์จีนสู่แดนอเมริกันจะเป็นไปตามเป้าหมายอย่างที่เขาคุยไว้หรือเปล่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวคล้ายเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่า จีนกำลังเคลื่อนตัว ก้าวพ้นสถานะของการผู้ส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น หรือ เป็นเพียง Subcontractor รับจ้างต่างชาติมาผลิต

การที่จีนสามารถส่งออกรถยนต์ไปขายยังสหรัฐอเมริกานั้น ทำให้ผมต้องย้อนอดีตนึกไปถึง สมัยที่รถยนต์จากญี่ปุ่น หรือ รถยนต์จากเกาหลีใต้ ซึ่งในช่วงแรกๆ ต่างก็ประสบปัญหาในการตีตลาดสหรัฐฯ เช่นกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความทุ่มเทในการยกระดับคุณภาพทั้งในการออกแบบ การผลิต รวมถึงบริการหลังการขาย ส่งผลให้ปัจจุบัน ในตลาดรถยนต์หลายกลุ่ม ความนิยมของคนอเมริกันต่อรถยนต์ญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ กลับแซงหน้ารถยนต์ยี่ห้อเจ้าถิ่นไปแล้ว

ไม่แน่ว่าอีก 10 ปีข้างหน้า รถยนต์ที่ได้รางวัล Car of the Year ที่จัดๆ กันอยู่ในแดนมะกันอาจมีรถยนต์สัญชาติจีนผสมอยู่บ้าง และหากวันนั้นมีจริงนั่นก็หมายความว่าอุตสาหกรรมรถยนต์จีนใช้เวลาไม่ถึงครึ่งศตวรรษ ลบคำสบประมาท หักปากกาเซียน พัฒนาตัวเองให้ก้าวขึ้นสู่ระดับสากลเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม :
- Inexpensive Chinese cars on way soon? จาก USA Today
- 2 ล้อ-4 ล้อ โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล จาก นิตยสารผู้จัดการ (พฤศจิกายน 2546)
กำลังโหลดความคิดเห็น