xs
xsm
sm
md
lg

Computer Lab ที่มาแรงที่สุดในโลก

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

สัปดาห์ก่อน คุณพลากร อาชานานุภาพ เพื่อนสนิทของผมตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ที่กำลังจะเข้าเรียนปริญญาเอกด้าน Information Science&Technology ในสหรัฐอเมริกา และเคยจัดรายการด้านเทคโนโลยีด้วยกัน ทางคลื่น 99.5 เมกะเฮิร์ตซ ส่งอีเมล์มาถามไถ่สารทุกสุกดิบ พร้อมกับแนบข้อมูลเป็นข่าวที่น่าสนใจมาด้วยข่าวหนึ่ง

ข่าวที่ว่าเป็นข่าวเทคโนโลยี ที่รายงานโดย MIT Technology Review อันเกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน

สัปดาห์นี้เลยผมขออนุญาตใช้พื้นที่คอลัมน์ตรงนี้ เรียบเรียงรายละเอียดของข่าวมานำเสนอ
.......................
“ผู้คนควรให้ความสนใจกับจีน จีนกำลังสร้างปรากฎการณ์ในทุกแง่ทุกมุม” - บิล เกตส์

ความหมายของสิ่งที่บิล เกตส์ กล่าวข้างต้นไม่ได้หมายถึง จีนในแง่มุมของการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ บ้านเมืองที่เจริญอย่างรวดเร็วจนผิดหูผิดตา แต่นายใหญ่ของบริษัทไมโครซอฟท์ผู้นี้กำลังหมายความถึง คนจีน ในแง่มุมของการเป็น นักประดิษฐ์ คิดค้น และที่สำคัญเขากำลังกล่างถึง ห้องทดลองทางคอมพิวเตอร์ (Computer Lab) ของไมโครซอฟท์ที่ปักกิ่ง

ไมโครซอฟท์เพิ่งคลอดศูนย์วิจัยทางคอมพิวเตอร์ ที่ปักกิ่ง ออกมาได้เพียงแค่ 6 ปี (ตั้งแต่ปี 2541) แต่ก็กลายเป็นศูนย์วิจัยที่ MIT Technology Review ยกให้ว่ามาแรงที่สุดในโลก ในเวลานี้ไปแล้ว

การเปิดศูนย์วิจัยของไมโครซอฟท์ที่ห่างจากเรดมอน วอชิงตัน อันเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ของบริษัทกว่าครึ่งโลก นั้นก็เพราะ ไมโครซอฟท์พบว่า หากจะยังรักษาความเป็นผู้นำด้านซอฟท์แวร์ของโลกได้ ไมโครซอฟท์ต้องหันมาใช้ทรัพยากรบุคคลอันมีค่าของจีน

"ห้องทดลองที่ปักกิ่ง เป็นส่วนสำคัญของไมโครซอฟท์ในการรักษาความเป็นผู้นำของโลกในอนาคต ด้วยการวิจัย พวกเขา (นักวิจัยจีน) มักจะแก้ปัญหาด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไปจากสิ่งที่เห็นกันในยุโรป หรือ สหรัฐอเมริกา เพราะพวกเขามีพื้นฐานที่แตกต่าง ทำให้วิธีแก้ปัญหาจึงแตกต่างกับเรา และหลายครั้งมันก็เป็นการแก้ปัญหาที่ดีกว่า" ริค ราชิด รองประธานอาวุโสของ Microsoft Research ที่ดูแลศูนย์วิจัยของไมโครซอฟท์ ทั้งที่ เรดมอนด์ วอชิงตัน, เมาท์เทนวิว ซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย และที่ เมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ กล่าว

6 ปีก่อนไมโครซอฟท์ส่งผู้บริหารชาวจีนที่เคยทำงานให้กับไมโครซอฟท์ คือ Kai-Fu Lee, Harry Shum และ Zhang Hongjiang พร้อมกับเงินอีกก้อนใหญ่ 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อตั้งศูนย์วิจัยที่ปักกิ่ง พร้อมกับการกว้านเอา นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ นักเรียนอัจริยะทางด้านคอมพิวเตอร์ ซอฟท์แวร์ ทั่วเมืองจีน มารวมกันไว้ที่นี่ (หากใครได้ดูภาพยนตร์เรื่อง AnitTrust (2001) คงเห็นภาพชัดเจนขึ้น-ผู้เขียน)

แน่นอนว่า การจ้างอัจฉริยะด้านคอมพิวเตอร์ชาวจีนย่อมมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า การจ้างนักคอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์อเมริกันเป็นไหนๆ เหมือนกับที่ บริษัทคอมพิวเตอร์อเมริกัน พยายาม Outsource ไปยังประเทศอินเดีย

ปัจจุบัน ห้องทดลองของไมโครซอฟท์แห่งนี้มีนักวิจัยทำงานเต็มเวลากว่า 150 คน และมีนักศึกษาฝึกงานเป็นประจำกว่า 200 คน โดยนักวิจัยและนักเรียนจีนเหล่านี้ผลิตทรัพย์สินทางปัญญาให้ ไมโครซอฟท์เป็น เอกสารผลงานวิจัยกว่า 750 ชิ้น สิทธิบัตรหลายร้อยชิ้น ซึ่งในจำนวนดังกล่าว สิทธิบัตรราว 70 กว่าชิ้นถูกคัดเลือกให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์แล้ว เช่น ในระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ระบบกราฟฟิกของ Xbox (วีดีโอเกมของไมโครซอฟท์) รวมไปถึงระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ลองฮอร์น (Longhorn) ที่มีกำหนดจะออกวางตลาดในปี 2549 (ค.ศ.2006)

Harry Shum ผู้ที่เคยทำงานให้ไมโครซอฟท์ที่ เรดมอนด์ และปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยไมโครซอฟท์ ที่ปักกิ่ง ให้สัมภาษณ์ว่า เขาพยายามกระตุ้นให้บุคลากรของเขาก้าวไปให้ถึงระดับโลกให้ได้

"ผมบอกว่า ถ้าคุณคิดว่าคนที่เอ็มไอที ทำได้แค่ไหน คุณก็ต้องผลักดันตัวเองให้ไปไกลกว่าพวกเขา" พร้อมกันนี้ Shum ยังกล่าวด้วยว่า ความที่ศูนย์วิจัยแห่งนี้อยู่ห่างจากบริษัทแม่ ในสหรัฐฯ มาครึ่งโลกเช่นนี้การทำวิจัยก็ย่อมประสบอุปสรรคไปด้วย เพราะ เวลาทำงานไม่เหมือนกัน ดังนั้นนักวิจัยที่ห้องทดลองแห่งนี้จึงต้องทำงานหนักกว่า โดยเฉลี่ยต้องทำงานตกสัปดาห์ละ 100 ชั่วโมง (วันละมากกว่า 14 ชั่วโมง) มากกว่านั้นขณะที่ปักกิ่งประสบกับวิกฤตการณ์โรคซาร์ส เมื่อปี 2546 นักวิจัยแห่งนี้ก็ยังไม่หยุดทำงาน

เมื่อมาตั้งศูนย์วิจัยในจีน แน่นอนว่า ไมโครซอฟท์ก็ย่อมหวังผลอะไรที่มากกว่า ผลงานจากค่าแรงของนักวิจัยที่มีราคาถูกกว่าในยุโรป หรือสหรัฐฯ เพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ที่วางขายไปทั่วโลก แต่ยังรวมถึง การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับการใช้งานของคนจีนและคนเอเชียอีกด้วย อย่างเช่น การแปลงตัวอักษรภาษาจีนให้กลายเป็นเสียง (Text-to-Speech) ซึ่งแน่นอนว่า เทคโนโลยีนี้เมื่อนำมาดัดแปลงใช้กับ ภาษาจีน รวมถึงภาษาของคนเอเชียแล้ว ย่อมมีความซับซ้อนกว่า ภาษาอังกฤษมากมายนัก

ด้วยบุคลากรของห้องทดลองที่ปักกิ่ง ส่งให้งานวิจัยของไมโครซอฟท์ในหลายด้าน ก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ขณะที่ในอีกมุมหนึ่งห้องทดลองแห่งนี้ยังเอื้อให้ให้ไมโครซอฟท์สามารถเรียนรู้พฤติกรรม และทิศทาง ของตลาดเอเชียมากขึ้นอีกด้วย

ไมโครซอฟท์กำลังจะเปิดศูนย์เทคโนโลยีแห่งใหม่ที่ชื่อ Advanced Technology Center และกำลังจะรับบุคลากรชาวจีนเข้ามาเพิ่มเติม ทั้งนี้ด้วยแรงดึงดูดจากชื่อ "ไมโครซอฟท์" ในการเป็นบริษัทด้านซอฟท์แวร์อันดับหนึ่งของโลก รวมถึงรายได้ที่เทียบได้เป็นระดับรายได้สูงของชาวจีน ทำให้มีคนส่งใบสมัครเข้ามามากกว่า 10,000 ใบใน 6 เดือน โดยไมโครซอฟท์ สาขาจีน ต้องกระจายการทดสอบข้อเขียนออกไปยัง 11 เมืองทั่วจีนเพื่อคัดเลือก

แม้ Harry Shum เอ็มดีของศูนย์วิจัยไมโครซอฟท์ ที่ปักกิ่งจะบอกว่า เป็นเรื่องน่าภูมิใจของประเทศจีนที่ ถือว่าได้ก้าวไปอีกขั้นจากการการผลิต รองเท้า ถุงเท้า เสื้อผ้า แปะป้าย "Made in China" ไปเป็น ผลิตนักเรียนเอ็มไอที ผลงานวิจัย และซอฟท์แวร์ "Made in China" แทน แต่ก็ไม่น่าแปลกใจว่ามีผู้เชี่ยวชาญของจีนหลายคนรู้สึกเสียดายว่า ประเทศได้ และกำลังจะสูญเสียบุคลากรอันมีค่าให้กับบริษัทต่างชาติ เพราะ ไมโครซอฟท์ ก็ทำเช่นเดียวกับ ไอบีเอ็ม อินเทล เบลล์แล็ป หรือ โมโตโรล่า ที่ต่างก็ยกทัพ พร้อมทุนเต็มพิกัด มาตั้งศูนย์วิจัยกันในประเทศจีนกันหมดแล้ว

หมายเหตุ : จาก The World's Hottest Computer Lab โดย Gregory T. Huang ใน MIT Technology Review ฉบับ มิถุนายน 2547
กำลังโหลดความคิดเห็น