xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตหลังมนุษย์ ของ ฟรานซิส ฟูกูยามา (2)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

บิสเนสวีค ได้คัดย่อ และสรุป เอาส่วนหนึ่งของหนังสือ Rational Exuberance (ตีพิมพ์ พฤษภาคม 2547) ที่เขียนโดย ไมเคิล เจ แมนเดิล (Michael J. Mandel) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของนิตยสารบิสเนสวีค มาไว้ใน นิตยสารบิสเนสวีค ภาคเอเชีย ฉบับ 17 พฤษภาคม 2547

ผมยังไม่ได้อ่านหนังสือฉบับเต็มของ Rational Exuberance แต่พอทราบว่า ประเด็นสำคัญของหนังสือเล่มนี้ก็คือ ผู้เขียน พยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า วัฎจักรทางเศรษฐกิจของโลก (โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา) มีความเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี ซึ่งจุดโยงใยระหว่าง เทคโนโลยีใหม่-การเติบโตทางเศรษฐกิจ นี้เองที่ "นักเศรษฐศาสตร์" และ "ผู้กำหนดนโยบาย" ในปัจจุบันมองข้ามไป

Mandel กล่าวว่า สาเหตุหลักของการบูมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ 90 ที่ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ รายได้ของคนงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และตลาดหลักทรัพย์ที่เติบโตสูง นั้นไม่ได้เกิดจากการที่รัฐบาลใช้นโยบาย ขาดดุลทางด้านการคลัง หรือนโยบายรัฐอื่นๆ แต่เกิดจากการที่ ทศวรรษที่ 90 มี เทคโนโลยีที่เรียกว่า "อินเทอร์เน็ต"

Mandel เรียก ภาวะเช่นนี้ว่า "Exuberant Growth" หรือ "การเติบโตอย่างอุดมสมบูรณ์"

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบิสเนสวีค ได้กล่าวต่อว่า หลังจากการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตในช่วง 10 ปีสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 ที่นำมาสู่ความมั่งคั่งของรายได้จากครัวเรือน และการหดตัวลงของความยากจนของชาวสหรัฐฯ มากที่สุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาแล้ว ถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีใดที่สามารถเทียบเคียงได้กับ อินเทอร์เน็ตเลย

"อินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องยอดเยี่ยม แต่อินเทอร์เน็ตโดยตัวมันเองแล้วไม่สามารถผลักดันให้ เศรษฐกิจเติบโตไปได้ในระยะยาว หากไม่มีการสนับสนุนจากเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างเช่น เทคโนโลยีใหม่ทางสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีต้นทุนต่ำเพื่อแบ่งเบาภาระของคนยุคนี้ที่ต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลของผู้สูงอายุที่สูงอย่างมหาศาล, การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นโดยน้ำมือของบริษัทที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างงานใหม่, การเกิดขึ้นของแหล่งพลังงานใหม่ๆ และการกระจายพลังงานนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นในการยกระดับความเป็นอยู่ของคนที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ฯลฯ"

ผู้เขียนหนังสือ Rational Exuberance มองไปที่เทคโนโลยีใหม่ อย่างเช่น การเชื่อมต่อแบบไร้สาย-อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง พลังงานแสงอาทิตย์ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ หรือแม้กระทั่งการเดินทางสู่อวกาศ ว่าเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่มีความเป็นไปได้มากว่าจะสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ในระดับเดียวกับ อินเทอร์เน็ต แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ก็ยังต้องรอเวลา ให้สุกงอม

พูดง่ายๆ ก็คือ ปัจจุบันโลกขาดเทคโนโลยีที่มีความ Breakthrough ในระดับเดียวกับ อินเทอร์เน็ต ในทศวรรษที่ 90 เพื่อมาผลักดันเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ให้ขึ้นจากหลุม

นอกจากนี้ Mandel ยังได้วิพากษ์วิจารณ์ต่อไปถึง ผู้กำหนดนโยบาย โดยเฉพาะ บรรดากูรูทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างเช่น Alan Blinder นักเศรษฐศาสตร์จาก พรินซ์ตันและรองประธานเฟด, Martin Feldstein นักเศรษฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ด และนายกสมาคมนักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน, Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์จากพรินซ์ตันผู้มีชื่อเสียง หรือ N. Gregory Mankiw นักเศรษฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ด และประธานที่ปรึกษาของสภาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่านักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้มองละเลย ปัจจัยของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไป แต่กลับไปให้ความสำคัญกับ นโยบายการขาดดุลการคลัง การเพิ่มการออม หรือการปรับระบบภาษีมากกว่าที่จะเสนอนโยบายเพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ

อย่างที่ผมอ้างอิงถึงคำพูดของ ฟรานซิส ฟูกูยามา ในตอนที่แล้วที่ว่า เทคโนโลยีที่มนุษย์กำลังพัฒนาอยู่ปัจจุบัน แตกต่างไปจากเทคโนโลยียุคก่อน เพราะ เทคโนโลยีอย่างเช่น เทคโนโลยีชีวภาพ นั้นส่งผลกระทบต่อโลกมากกว่า มิติทางเศรษฐกิจ แต่ยังเชื่อมโยงไปถึง มิติทางการเมือง ลึกลงไปถึงวัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในระดับพื้นฐานของมนุษย์แบบขุดรากถอนโคน

แนวคิดหรือหนังสืออย่าง Exuberant Growth ของ Michael J. Mandel นั้นก็เป็นตัวอย่างการมองผลกระทบของการพัฒนาเทคโนโลยี ในมุมทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว

ใน Our Posthuman Future ที่ ฟูกูยามา เน้นไปที่เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnoloty) ได้ยกตัวอย่างถึง ความก้าวหน้าของ Neuropharmacology พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือเทคโนโลยีทางยาเพื่อควบคุม แก้ปัญหาของระบบประสาท

ฟูกูยามา กล่าวว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าทางประสาทวิทยาและเภสัชศาสตร์ได้มาถึงระดับที่ มีการผลิตยาสามารถควบคุมพฤติกรรม บุคลิก ของมนุษย์อย่างเช่น ยาสร้างความพึงพอใจในตัวเอง (Self-esteem) และ ยาที่ช่วยให้มีสมาธิ อย่างเช่น Prozac หรือ Ritalin ซึ่งได้รับความนิยมจากคนอเมริกันอย่างมาก และกลายเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่ส่งผลกระทบทางวัฒนธรรมของคนอเมริกันอย่างรุนแรง จนถึงกับมีการเขียนหนังสือออกมาหลายเล่ม เช่น Listening to Prozac หรือ Prozac Nation

ปัจจุบันแม้ยาทั้งสองชนิดนี้ จะส่งผลกระทบข้างเคียงต่อผู้ใช้ แต่ฟูกูยามา ก็ชี้ให้เห็นว่า ความรู้ใหม่ๆ อย่างเช่น จีโนมิกส์ (Genomics) กำลังจะช่วยให้บริษัทยาสามารถปรับปรุงและลดผลข้างเคียงจากยาเหล่านี้ที่มีต่อมนุษย์ให้เหลือน้อยที่สุดได้ หรือแม้กระทั่งคิดค้นยาที่ส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาทขึ้นมาเพิ่มเติม

ซึ่งนั่นก็หมายความว่าปัญหาทางจิต ความสุข หรือ ความพึงพอใจของมนุษย์ ต่อไปนี้อาจบำบัดได้โดยตรงด้วย เทคโนโลยี เงิน การกินยา (Drug Therapy) ไม่ใช่การแก้ไขด้วยวิธีดั้งเดิม อย่างเช่น ศาสนา การบำบัดทางการพูดคุย (Talk Therapy) ที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน

ฟูกูยามา คิดและเชื่อมโยงไปถึง สถานการณ์ที่ว่า หากเทคโนโลยีทาง Neuropharmacology ก้าวหน้าไปถึงขั้นที่สามารถมียาที่ควบคุม ความสามารถ จิตใจ พฤติกรรม ของมนุษย์ได้จริง ความก้าวหน้าดังกล่าวอาจจะไม่เป็นเพียงความก้าวหน้าทางการแพทย์ แต่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม ปัญหาทางชนชั้นขึ้นมาอย่างรุนแรง

ยกตัวอย่างง่ายๆ หากมีการคิดค้น ยาที่ช่วยกระตุ้นสมอง กระตุ้นความฉลาดของเด็ก สำเร็จขึ้นมา ยาที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้จะไม่เพียงก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคม แต่จะกลายเป็น "สงครามทางชนชั้น" ระหว่าง สังคมคนมีเทคโนโลยีกับคนไม่มีเทคโนโลยีขึ้นมาทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น