xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตหลังมนุษย์ ของ ฟรานซิส ฟูกูยามา (1)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ต้นมิถุนายนเมื่อสองปีก่อน หลังเกิดเหตุการณ์ 9-11 - - - โศกนาฎกรรม 11 กันยายน 2544 ได้ไม่ครบปีดี ผมเดินทางไปทำธุระกับครอบครัวที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกับหิ้วหนังสือกลับมาหลายเล่ม

ถึงปัจจุบัน 9-11 ถูกยกให้เป็นรอยต่อครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์โลก ภาพตึกคู่ เวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ที่ลุกไหม้เป็นสัญลักษณ์ของการปะทะกันทางอารยธรรมของโลกตะวันตกกับตะวันออก การปะทะกันของสหรัฐอเมริกากับโลกมุสลิม การปะทะกันของวัฒนธรรมอเมริกันที่กำลังครอบโลกกับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่กำลังถูกกลืน

ผู้ที่ได้ทำการอรรถาธิบายถึง การปะทะทางอารยธรรม เป็นคนแรกๆ และถูกยกให้เป็นเจ้าทฤษฎีก็คือ แซมวล พี ฮันทิงตัน (Samuel P. Huntington) เจ้าของผลงาน "Clash of Civilizations" ทฤษฎีดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงมาได้อย่างต่อเนื่องถึง การบุกอิรักของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร การแพร่ขยายของลัทธิต่อต้านการก่อการร้าย การแพร่ขยายลัทธิเอกนิยม (Unilateralism) การต่อต้านระบบโลกานุวัตร ความล้มเหลวของดับเบิลยูทีโอ รวมถึงการแพร่ขยายในการทำข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคี (Bilateral Trade Agreement) ฯลฯ

เดิมที ฮันทิงตัน เขียนถึง การปะทะทางอารยธรรม เพื่อเอามาคัดค้านทฤษฎีจุดจบของประวัติศาสตร์ จากหนังสือ The End of History and the Last Man (1989) ที่ ฟรานซิส ฟูกูยามา (Francis Fukuyama) นักรัฐศาสตร์และนักคิดชื่อดังระบุไว้ว่าเมื่อสงครามเย็นจบลงพร้อมกับความล่มสลายของ สหภาพโซเวียต ด้วยการปฏิวัติครั้งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ชื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศจะช่วงผลักดันให้เกิดการแพร่กระจายของ แนวคิดเสรีประชาธิปไตยไปทั่วโลก

ฮันทิงตัน กล่าวคัดค้านทฤษฎีดังกล่าวของฟูกูยามาด้วย ทฤษฎีการปะทะกันของอารยธรรม ซึ่งภาวการณ์ของโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ยิ่งหนุนเนื่องให้ ทฤษฎีของฮันทิงตัน ถูกต้องขึ้นไปใหญ่

หนังสือเล่มหนึ่งที่ผมหอบหิ้วกลับมาจากสหรัฐอเมริกาเมื่อสองปีก่อน ก็คือหนังสือเรื่อง อนาคตหลังมนุษย์ (Our Posthuman Future) ที่ ฟรานซิส ฟูกูยามา เขียนหลังจากเหตุการณ์ 9-11 เพื่อง้างกับ ฮันทิงตัน แก้ไขข้อบกพร่องในทฤษฎีเดิมของตัวเองและนำเสนอทฤษฎีใหม่

"การโจมตีสหรัฐฯ ของผู้ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001 นำมาสู่ข้อสงสัยอีกครั้งหนึ่งในทฤษฎีจุดจบของประวัติศาสตร์ของผม ด้วยพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่าการปะทะทางอารยธรรม ระหว่างโลกตะวันตกและโลกอิสลาม ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้พิสูจน์อะไรอย่างที่กล่าวกันมากนัก"

"การโจมตีของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง นั้นเป็นเพียงปฏิกิริยาโต้ตอบของคนที่จนตรอกเท่านั้น ซึ่งในไม่ช้าไม่นานก็จะต้องถูกกระแสของความทันสมัยท่วมทับในที่สุด" ฟูกูยามากล่าวไว้ในบทนำของ Our Posthuman Future พร้อมกลับกล่าวแก้ไขทฤษฎีเดิมของตัวเองด้วยว่า ประวัติศาสตร์จะไม่สิ้นสุดหากวิทยาศาสตร์ยังไม่สิ้นสุด

ฟูกูยามา เริ่มต้นอธิบายถึงทฤษฎีใหม่ของตนเองด้วยการ กล่าวอ้างถึง นิยายวิทยาศาสตร์สองเล่ม คือ 1984 โดย จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) และ Brave New World โดย อัลดัส ฮักซ์ลีย์ (Aldous Huxley) อันเป็นหนังสือที่ถูกตีพิมพ์ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20

หนังสือทั้งสองเล่มเขียนถึงโลกในอนาคต โดย 1984 ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1949 กล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 35 ปีถัดมา ซึ่ง ปัจจุบัน Telescreen ที่เกิดขึ้นในความหมายของออร์เวลล์ ก็คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) อย่างไรก็ตามผลกระทบจาก Telescreen ที่มีต่อสังคมที่ ออร์เวลล์ จินตนาการว่า Telescreen จะทำให้เกิดการรวมศูนย์ของโลก และพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์โลกจะถูกควบคุม และรวมศูนย์ โดยกลุ่มคนเล็กๆ กลับกลายเป็นตรงกันข้าม เมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเอื้ออำนวยและสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและส่งเสริมความหลากหลายทางสังคมของมนุษย์

ขณะที่ Brave New World ของ ฮักซ์ลีย์ กล่าวถึง สิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) โดย สิ่งที่ฮักซ์ลีย์เขียนถึงไม่ว่าจะเป็น การให้กำเนิดมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีทางวิศวพันธุกรรม หรือ การที่ผู้ปกครองในเรื่องทราบดีว่า การบังคับเป็นสิ่งทีไม่ดี และมนุษย์ยินดีที่จะถูกเกลี้ยกล่อมเพื่อให้อยู่ในสังคมที่เป็นระเบียบมากกว่า เป็นภาพที่ยังไม่เกิดขึ้นอย่างครบสมบูรณ์นัก

วิธีการปกครองในเรื่อง Brave New World ก็คือ โลกจะเป็นโลกสำเร็จรูปที่ไร้โรคภัยไข้เจ็บ ไร้ความขัดแย้งทางสังคม ไม่มีความโศกสลด บ้าคลั่ง เหงา หรือ ความทุกข์โศก ทุกคนจะอยู่ท่ามกลางความแข็งแรงและความสุข ประชาชนจะได้รับความสุขแบบสำเร็จรูป เช่น การกระตุ้นผ่านขั้วไฟฟ้าที่ฝังอยู่ในสมอง โดย ผู้ปกครองจะคอยตรวจสอบและควบคุมให้ ช่องว่างของระดับความปรารถนาและระดับความพอใจของประชาชน อยู่ในระดับที่แคบที่สุด

แม้ดูเหมือนโลกดังกล่าวจะดี แต่หากกล่าวในอีกนัยหนึ่ง โลกใน Brave New World มนุษย์ได้ถูกลดความเป็นมนุษย์ลงให้เหลือน้อยที่สุด ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ไม่มีความรัก ไม่มีความเจ็บปวด ไม่มีการแสวงหา ไม่มีเรื่องเกียรติยศ ไม่มีศาสนา ไร้ความสัมพันธ์ทางครอบครัว แต่ทุกคนก็ยังใช้ชีวิตอยู่ด้วยร่างกายที่แข็งแรง และ จิตใจที่มีความสุข!

สภาวะเช่นนี้เองที่ ฟูกูยามา ให้ชื่อว่า "ประวัติศาสตร์ช่วงหลังมนุษย์ (Posthuman stage of History)"

ฟูกูยามา พยายามชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ไม่เหมือนเทคโนโลยีในยุคก่อน เทคโนโลยีการโคลนนิ่งในวันนี้ไม่ได้ชี้ให้มนุษย์เห็นถึงผลดี ผลร้ายได้เด่นชัด เช่น เทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษก่อน การตัดต่อทางพันธุกรรม (GMOs) ส่งผลกระทบต่อโลก และสังคมมนุษย์ ในหลายระดับชั้น มากกว่าเพียงการเพิ่มผลผลิตทางเกษตรหรืออาหารการกิน ให้แก่มนุษยชาติ ฯลฯ

Our Post human Future เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ทำนายไปยังอนาคต และพยายามเชื่อมโยงเอา ผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นต่อ มนุษย์ ต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครองของโลก เมื่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า การทำนายอนาคตจะเป็นการทำนายอนาคตที่จะเกิดขึ้นในอีก 50 ปี หรือ 100 ปีข้างหน้าแต่อย่างใด อนาคตที่ ฟูกูยามา หมายความถึง คือ สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว (เช่นการโคลนนิ่งมนุษย์) แต่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย เทคโนโลยีที่อาจถูกเปิดเผยในอีกหนึ่งปีข้างหน้า อีกหนึ่งเดือนข้างหน้า อีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า อีกชั่วโมงข้างหน้าก็ได้ สิ่งที่รอเวลาจะเกิดขึ้นนี้จะพลิกโฉมหน้าของโลก และจะผลักดันให้มนุษย์เขยิบเข้าไปใกล้ ยุคประวัติศาสตร์หลังมนุษย์มากขึ้นทุกทีทุกที
กำลังโหลดความคิดเห็น