xs
xsm
sm
md
lg

Soft Landing ของเศรษฐกิจจีน (2)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ตัวเลขในช่วงสองเดือนแรกของปี 2547 ระบุว่า อัตราการลงทุนของทรัพย์สินถาวรในเขตเมือง (Fixed-asset Investment) ของจีนนั้นเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2546 ตัวเลขดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนว่า การลงทุนในภาคที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น เหล็ก ซีเมนต์ อะลูมิเนียม รวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ เติบโตมากเกินไปแล้ว

ส่งผลให้เมื่อช่วงสิ้นเดือนเมษายน ธนาคารกลางของจีน (People's Bank of China) ต้องออกมาประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินต่างๆ เพิ่ม Reserve Requirements อีก ร้อยละ 0.5 หรือหากคิดเป็นตัวเลขการกันสำรองที่สถาบันต้องเพิ่มก็ตกอยู่ที่ราว 110,000 ล้านหยวน, ออกกฎให้ผู้ต้องการซื้อบ้านในตลาดบน (High-end) เพิ่มเงินดาวน์จากร้อยละ 20 เป็น ร้อยละ 30 และห้ามทำการซื้อขายก่อนที่บ้านจะสร้างเสร็จ โดยมีความคาดหวังว่ามาตรการเช่นนี้จะลดความร้อนแรงในการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเหล่านั้นได้

อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการทางการเงินโดย เพิ่ม Reserve Requirements หรือ มาตรการปลีกย่อยดังที่กล่าวก็อาจนับว่ายังเป็นการลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจที่ไม่เห็นผลชัดเจนนัก เพราะ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก็ยังคงอยู่ในระดับเดิม

ในการประชุม International Finance Forum 2004 ที่ปักกิ่ง เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญหลายคนอย่างเช่น หวังเจ้า (王兆) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยประชาชน หรือ หยวนกังหมิง (袁罡明) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าเศรษฐกิจจีนที่ร้อนแรงอย่างนี้ การแก้ไขเพียงเพิ่มสำรองของธนาคารนั้นไม่เพียงพอ เพราะธนาคารกลางจีนจะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยควบคู่กันไปด้วย เพราะ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไม่เพียงจะลดความร้อนแรงในภาคการลงทุนได้ แต่ยังลดแรงจูงใจในการบริโภคของประชาชนได้อีกด้วย

ขณะที่ ฝานกัง (樊纲) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติจีน ก็ระบุว่า การเติบโตอย่างเกินตัวในภาคเศรษฐกิจอย่างเช่น อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมรถยนต์ ทำให้ ภาคคมนาคม และ ภาคพลังงานของจีน ตกอยู่ในภาวะวิกฤต นอกจากนี้ยังถีบให้ราคาของวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้นไปอย่างมาก และส่วนที่ที่ราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ก็ เพราะ อุปสงค์จากจีนด้วย

ฝานกัง แนะนำว่า รัฐบาลจีนถึงเวลาที่จะหยุดความลังเล และหันมาใช้เครื่องมือที่มีคือ มาตรการทางการเงินและการคลังที่มีอยู่ให้เกิดผล โดยมาตรการทางการคลัง คือ สั่งให้รัฐบาลท้องถิ่นลดการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่ในมาตรการทางการเงินก็อาจหมายความถึง ธนาคารกลางจีนอาจต้องเพิ่มดอกเบี้ยเร็วๆ นี้

ดูเหมือนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของจีนจะได้รับการตอบรับจาก โจวเสี่ยวฉวน (周小川) ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนที่รับพิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยยืนยันว่าจะจับตาดูดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศยักษ์ใหญ่ที่กำลังเติบโตอย่างจีน การขึ้นดอกเบี้ยที่ไม่ได้มีการปรับมาเกือบ 2 ปีอย่างกระทันหันก็อาจส่งผลข้างเคียงที่น่าเป็นห่วง อันเปรียบเสมือน "ดาบสองคม" ได้คือ

การเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของจีนนั้นกระจุกอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก เรียบทะเล ตามเมืองใหญ่ๆ ขณะที่เมืองที่อยู่ถัดเข้าไปในแผ่นดิน โดยเฉพาะพื้นที่ในซีกตะวันตก อย่างเช่น มณฑลเสฉวน กานซู่ ซินเจียง นั้นถึงปัจจุบันได้รับอานิสงส์จากการลงทุนไม่มากนัก

"จีนเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีความหลากหลายอย่างมาก ดังนั้นการมองจีนจึงไม่สามารถมองเป็นตลาดจีนตลาดเดียวได้ แต่ต้องแบ่งซอยย่อยลงไปเป็นหลายตลาด" ริชาร์ด เหลียง ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศจีนของธนาคารดีบีเอส (สิงคโปร์) กล่าว "การที่ธนาคารกลางจีน การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างกระทันหันจะทำให้ต้นทุนในการผลิตของโรงงานจะสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่า ความสามารถในการแข่งขันของโรงงานเหล่านั้นจะน้อยลงทันที"

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พื้นฐานในด้านหนึ่งแม้จะสามารถลดการลงทุนตามเมืองและพื้นที่ซึ่งติดชายทะเลของจีนได้ แต่ในเวลาเดียวกันก็จะเปรียบเสมือนเป็นการสร้างภาระให้กับ ผู้กู้ทั้งรัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ซึ่งด้อยพัฒนาของจีนอย่างกระทันหัน

ส่วนที่น่ากลัวกว่าก็คือ ผลกระทบต่อดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ก็อาจหมายความถึง ปริมาณเงินที่กำลังไหลเข้ามาในจีนอย่างไม่หยุดทั้งจาก เงินลงทุนทางตรง เงินออม ฯลฯ จะต้องไปกระจุกตัวอยู่ในสถาบันการเงินจนล้น และเงินเหล่านี้ก็จะกลายเป็นต้นทุนของสถาบันการเงินเหล่านั้นไปในทันที (เพราะรายได้จากการปล่อยกู้มีน้อยลง แต่กลับต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่ม)

นอกจากนี้อัตราส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของสถาบันการเงินจีนที่อยู่ในภาวะวิกฤตอยู่แล้วก็จะถูกซ้ำเติมให้ยิ่งวิกฤตหนักขึ้นไปอีก โดยเฉพาะ ในกลุ่มของ 4 ธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่ที่ยังอยู่ในความควบคุมของรัฐบาลจีน และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Lemon Market* (อธิบายคร่าวๆ คือ เมื่อเห็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น ผู้ต้องการเงินกู้ที่เสนอโครงการเข้ามากับธนาคาร ผู้กู้ที่ไม่ค่อยดีนักคือเป็นผู้กู้ที่โครงการมีความเสี่ยงสูง-ผลตอบแทนสูงก็จะเพิ่มจำนวนขึ้น ส่วนผู้กู้ชั้นดีที่โครงการมีความเสี่ยงต่ำ-ผลตอบแทนต่ำก็จะลดจำนวนลง)

คมที่ดาบอีกด้านนี้เอง ที่ทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางจีนยังลังเลกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และส่งผลมายังตัวเลขการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของปี 2547 ที่ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ฝ่ายวิจัยของกระทรวงพาณิชย์จีนได้ประกาศผลวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจระดับมหภาคของจีนในช่วงสองไตรมาสแรกว่า เฉลี่ยแล้วการอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สองน่าจะอยู่ในระดับเดียวกับไตรมาสแรก โดยยังคงอยู่ที่ระดับ มากกว่าร้อยละ 9 ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังแม้จะลดลงเล็กน้อย แต่ก็จะไม่ลดลงมากมายนัก

ตัวเลขคาดาการณ์ การเจริญเติบโตของจีดีพีดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า สวนทางกับคำประกาศของ นายเวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน ที่กล่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า ปีนี้รัฐบาลจะต้องลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนให้เหลือเติบโตสักประมาณร้อยละ 7 ของจีดีพี เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย Soft Landing ทางเศรษฐกิจ

ย้อนอดีตไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในช่วงปี 2535-2537 (ค.ศ.1992-1994) จีนก็เคยประสบกับภาวะเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น (ตอนนั้นสูงในระดับเลขสองหลัก) มาแล้ว แต่ด้วยมาตรการการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดของ นายจูหรงจี อดีตนายกรัฐมนตรีจีนที่ได้รับฉายาว่า "Economic Czar" ด้วยความแตกฉานทางเศรษฐกิจ (ขณะนั้นจูหรงจียังไม่เป็นนายกรัฐมนตรีแต่มีอำนาจคุมเศรษฐกิจ และเป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติจีน) จูหรงจี ได้ประกาศใช้มาตรการเด็ดขาด เพิ่มอัตราดอกเบี้ย และสั่งธนาคารพาณิชย์ให้ควบคุมการอนุมัติเงินกู้

เศรษฐกิจจีนในวันนี้ที่เมื่อเทียบกับสิบปีก่อนมีขนาดใหญ่โตขึ้นหลายเท่าตัว และผูกพันกับเศรษฐกิจโลกแนบแน่นกว่าเดิมมาก (ระบบ Capital Controls ในจีนก็หละหลวมตามไปด้วย) ความต้องการแตะเบรกเพื่อลดความเร็ว ลดระดับเพดานบิน ของเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ยักษ์อย่างจีนในวันนี้ย่อมมีต้นทุนสูงกว่าที่เคยทำ นอกจากนี้ การแตะเบรกช้าไป หรือ แรงไปก็อาจทำให้เครื่องบินลำใหญ่นี้ร่วงลงมากระทันหัน ซึ่งย่อมหมายความถึงการลากเครื่องบินลำอื่นๆ ให้ตกตาม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

*หมายเหตุ : เป็นศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ ที่มาจากทฤษฎีของ จอร์จ อาร์เคอลอฟ (George Akerlof) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลประจำปี 2544
กำลังโหลดความคิดเห็น