xs
xsm
sm
md
lg

Soft Landing ของเศรษฐกิจจีน (1)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

"If [the Chinese] run into trouble, will create significant problems for Southeast Asian economies, for Japan and indirectly for us." - อลัน กรีนสแปน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวต่อสภาคองเกรส 20 เมษายน 2547

ตลอดเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาหากติดตามข่าวเศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิดจะพบว่า ตามหัวเมืองใหญ่ของประเทศจีนมีการประชุม สัมมนาด้านเศรษฐกิจกันนับครั้งไม่ถ้วน โดยประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาเป็นหลักนั้น เกี่ยวโยงไปถึงคำถามที่ว่า "เศรษฐกิจจีนจะร้อนแรงเกินไปหรือไม่? แล้วจะทำเช่นไรดี?"

ปีนี้เป็นปีแรกที่รัฐบาลจีนออกมายอมรับอย่างตรงๆ ว่า เศรษฐกิจจีนอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ และสมควรอย่างยิ่งที่จะลดอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนอย่างเร่งด่วน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะที่เรียกว่า "ฮาร์ดแลนดิ้ง (Hard Landing)"

ฮาร์ดแลนดิ้ง เป็นศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ที่หยิบยืมเอาศัพท์ทางการบินมาใช้ ....

ท่านผู้อ่านท่านใดที่ไม่ทราบก็ลองมโนภาพ เครื่องบินเวลาจะลงจอดที่ลานบินดู นักบินต้องพยายามบังคับเครื่องบินค่อยๆ ลดระดับ และลงจอดอย่างนุ่มนวลที่สุด ซึ่งก็คือ "ซอฟท์แลนดิ้ง (Soft Landing)" (ภาษาจีนใช้คำว่า หร่วนจั๋วลู่:软着陆) ในทางตรงกันข้ามถ้าหากไม่ระมัดระวัง หรือนักบินไม่เชี่ยวชาญ เครื่องบินบินอยู่สูงๆ แล้วพยายามจะทำการลงจอดทันทีเครื่องบินก็จะได้รับความเสียหาย หรือ เรียกอีกนัยหนึ่งก็คือภาวะที่เรียกว่า "ฮาร์ดแลนดิ้ง" นั่นเอง

ซึ่งประเด็นทางเศรษฐกิจก็คล้ายคลึงกัน ภาวะที่ คนไทย และ ประเทศไทยประสบเมื่อ กลางปี พ.ศ.2540 ก็ถือว่าเป็น ฮาร์ดแลนดิ้ง ครั้งวินาศครั้งหนึ่ง

นับตั้งแต่จีนนำเอาระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเข้ามาดัดแปลงใช้กับประเทศสังคมนิยม เศรษฐกิจจีนเติบโตในระดับสูงมา 20 กว่าปีแล้ว โดยสังเกตได้จากตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เฉลี่ยที่อยู่ในช่วงร้อยละ 8-9

ปี 2546 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนก็เติบโต ร้อยละ 9.1 เกินกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งไว้ร้อยละ 8.5 แต่ตัวเลขที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้นก็คือ ตัวเลขการเติบโตของจีดีพีในไตรมาสแรกของปี 2547 เศรษฐกิจจีนเติบโตถึง ร้อยละ 9.7 จนทำให้นายเวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีต้องออกมาปรับลดเป้าเศรษฐกิจในปี 2547 ใหม่ให้เหลือเพียงร้อยละ 7

ขณะที่ดัชนีผู้บริโภค (CPI) ที่ชี้ให้เห็นถึงภาวะเงินเฟ้อ ก็พุ่งขึ้นอย่างกระทันหันคือในไตรมาสแรก ร้อยละ 2.8 ขณะที่ในเดือนเมษายนตัวเลขดังกล่าวก็กระโดดขึ้นอีกร้อยละหนึ่งไปอยู่ที่ ร้อยละ 3.8 ซึ่งเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2546 ที่อัตราเงินเฟ้อไม่ถึง ร้อยละ 1 แล้ว สัญญาณนี้ยิ่งทำให้ภาวะโดยรวมของเศรษฐกิจจีนน่าเป็นกังวล

ทั้งนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นไปกว่าก็คือ หากเศรษฐกิจจีนเกิดวิกฤตขึ้นจริง เศรษฐกิจของหลายประเทศในโลกก็อาจล้มตาม หรือได้รับผลกระทบหนัก ไปด้วยดังเช่นที่ นายอลัน กรีนสแปนกล่าว เพราะ ระบบเศรษฐกิจใหญ่ๆ ของโลก โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ต่างพึ่งพาการส่งออกไปจีนประคับประคองให้เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัว ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ประเทศที่จัดว่าอยู่ในกลุ่ม Emerging-Market เช่น บราซิลหรือรัสเซีย รวมถึงพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ก็จะเจ็บตัวไม่น้อยเช่นกัน

นิตยสารบิสเนสวีค ฉบับ 3 พฤษภาคม 2547 ระบุว่าบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ หลายแห่งที่ต่างก็เบนเข็มหันมาขุดทองในเมืองจีนต่างก็พรั่นพรึงไปตามๆ กัน เพราะ หากจีนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจริงบริษัทเหล่านี้ก็อาจจะประสบปัญหาหนัก เช่น โมโตโรลา ที่ปัจจุบันตลาดจีนคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 10 ของตลาดทั่วโลก หรือ เจเนอรัล มอเตอร์ส ที่ในไตรมาสแรกรายได้จากตลาดเอเชียเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าเป็น 275 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนพวก Investment Bank อย่าง Morgan Stanley และ Goldman Sachs ที่เข้ามาหาประโยชน์จากการมาช่วยบริษัทจีนบริหารในการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ก็จะต้องได้รับผลกระทบ

หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า ปัญหาใหญ่ๆ ของเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันก็คือ

หนึ่ง เงินในประเทศล้นเกิน โดยเงินนั้นมาจากหลายทางทั้ง เงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามาจากการส่งออก (ปี 2546 มูลค่า 438,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ), เงินลงทุนทางตรง (FDI; ปี 2546 มูลค่า 53,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ), เงินที่ไหลเข้ามาเพื่อเก็งกำไรค่าเงินหยวน (ตั้งแต่ปลายปี 2546 มีการคาดหมายกันว่า ในปี 2547 ธนาคารกลางจีนจะต้องปล่อยให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้นอีก ร้อยละ 5 ทำให้เกิดเงินไหลเข้าระยะสั้นเพื่อการเก็งกำไรประมาณ 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และเงินออมจากครัวเรือนภายในประเทศที่ในปี 2546 ยังเพิ่มขึ้นถึง 350,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงแม้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยทั้งบัญชีเงินฝากออมทรัพย์-ฝากประจำ จะลดต่ำเหลือไม่ถึงร้อยละ 2

สอง ตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตร ที่ยังไม่พัฒนา ทำให้การประกอบธุรกรรมทางการเงิน มีความจำเป็นต้องอาศัยบริการผ่าน การฝาก-กู้ยืม จากธนาคารพาณิชย์เกือบทั้งหมด

สาม ปัญหาของสถาบันการเงิน ที่ดอกเบี้ยไม่เพียงจะต่ำ (ดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยทุกแบบอยู่ที่ร้อยละ 5.3) แต่การจัดสรรเงินกู้ก็ไปกระจุกอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่เติบโตเกินขนาดจนมีอุปทานล้นเกิน (Over Supply) อยู่แล้ว เช่น อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ ซึ่งบ่งชี้ออกมาเป็นภาพการก่อสร้างที่กระจายไปทั่วเมืองใหญ่โดยเฉพาะ ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ และภาพรถติดที่นับวันยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาเงินในระบบล้นเกินและระบบการจัดการเงินกู้ที่ไร้ประสิทธิภาพอย่างรุนแรง ส่งผลให้ตัวเลข หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของ 4 ธนาคารจีนในความควบคุมของรัฐ ที่เรียกว่า "Big Fours" อันประกอบไปด้วย Bank of China, Industrial&Commercial Bank of China, China Construction Bank และ Agricultural Bank of China นั้นสูงถึงร้อยละ 45 ยังไม่นับรวมธนาคารและสถาบันการเงินที่กระจายไปในภูมิภาคต่างๆ ของจีนอีกนับพัน และมีผู้กล่าวว่า หากไปตรวจสอบการบริหารของสถาบันการเงินเล็กๆ เหล่านี้แล้วจะยิ่งตกใจ เพราะ ยิ่งยุ่งเหยิงขึ้นไปอีก

แล้วปัญหาข้างต้นเหล่านี้ รัฐบาลจีนมีมาตรการแก้ไขอย่างไร และจะทันการณ์หรือไม่?
กำลังโหลดความคิดเห็น