ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ช่วงนี้มีข่าวด้านลบในวงการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวีจีน ค่อนข้างมาก ทั้งข่าวจริงข่าวเท็จ การคาดการณ์ต่างๆนานาเกี่ยวกับทิศทางอนาคตของรถยนต์อีวีจีน โดยเฉพาะยิ่งมีการล้มลงอย่างเป็นทางการของบริษัทรถยนต์เนต้า (NETA) ในจีน ยิ่งสร้างความหวาดหวั่นและกังวลต่อลูกค้ารถยนต์อีวีสัญชาติจีนเป็นอย่างมาก ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่าในปี 2025 นี้ตลาดรถยนต์จีนโดยรวมอยู่ในช่วงลดความร้อนแรงของการเติบโต และตลาดโดยรวมกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงจากรถยนต์น้ำมันไปสู่รถยนต์อีวีแบบเต็มสูบ
ในปี 2024 อัตราการใช้รถยนต์อีวีของชาวจีนเข้าใกล้ 50% ของรถยนต์ที่ใช้ในท้องถนนทั้งหมด เกิดการทำสงครามราคาทำให้การแข่งขันระหว่างรถยนต์น้ำมันกับรถยนต์อีวียิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จีนใช้ทั้งนโยบายและนวัตกรรมเป็นตัวนำ ทำให้นอกจากตลาดในประเทศเติบโตแล้วสัดส่วนการส่งออกรถยนต์อีวีของจีนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เนื่องจากการแข่งขันที่สูงผู้เล่นในตลาดมีมาก ทำให้โดยรวมกำไรของบริษัทรถยนต์ลดลง มีผู้เชี่ยวชาญจีนมองว่านี้เป็นสัญญาณเตือนถึงความท้าทายระยะยาว
ย้อนดูเส้นทางการเติบโตของตลาดภายในประเทศของอุตสาหกรรมรถยนต์จีน ตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2010 เคยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 34% และในช่วงปี 2010 ถึง 2020 อัตราการเติบโตชะลอลงเหลือ 10.5% แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่หลังปี 2020 ตลาดเริ่มแสดงสัญญาณของการ “ชะลอตัว” อย่างชัดเจน ในปี 2023 เติบโต 5.58%, ปี 2024 ลดลงเหลือ 4.59% และในปี 2025 คาดว่าอัตราการเติบโตจะอยู่เพียง 2.2% เท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงของตลาดรถยนต์จีนคล้ายคลึงกับแนวโน้มของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ในอดีต เยอรมนีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 6.4% ในช่วง 10 ปีหลังจากที่อัตราการครอบครองรถยนต์ต่อประชากร 1,000 คนแตะ 200 คัน ส่วนญี่ปุ่นอัตราการเติบโตของตลาดรถยนต์อยู่ที่ 3.7% ซึ่งขณะนี้จีนกำลังเข้าสู่ระยะพัฒนาในระดับใกล้เคียงกัน ดังนั้นคาดว่าอัตราการเติบโตตลาดรถยนต์จีนในอนาคตจะคงอยู่ที่ประมาณ 2%-3% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมนี้
ในส่วนของรถยนต์อีวีในจีน แนวโน้มการเติบโตของยอดซื้อก็ถือว่าอยู่ในระดับดี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ายอดขายรถยนต์อีวีในจีนที่เพิ่มขึ้น อาจจะไม่ได้เกิดจากการเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อพื้นฐานเป็นหลัก แต่เกิดจากแรงกระตุ้นของนโยบายภาครัฐบาล อย่าง นโยบายเงินสนับสนุนการโละรถเก่า (รถยนต์พลังงานใหม่ได้รับเงินสนับสนุน 20,000 หยวนหรือประมาณแสนบาทและรถยนต์น้ำมัน 15,000 หยวนหรือประมาณ 75,000 บาท) แถมยังมีการอุดหนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลท้องถิ่นอื่นๆด้วย โดยคาดว่านโยบายเหล่านี้ของรัฐบาลจีนจะช่วยกระตุ้นยอดขายได้มากกว่า 2 ล้านคันตลอดทั้งปีนี้ ทั้งนี้อ้างอิงสถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่าแต่ว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจีน (SMEs) มีคะแนนอยู่ที่ประมาณ 50.4 จาก 100 สะท้อนถึงท่าทีระมัดระวังของผู้ประกอบการในตลาดต่อแนวโน้มอนาคต
บริษัทรถยนต์จีนต่างทำสงครามราคาเพื่อความอยู่รอด ตัวอย่างเช่น BYD รุ่น Qin Plus DM-i ราคาขายเฉลี่ยลดจาก 133,600 หยวนในปี 2022 เหลือเพียง 74,700 หยวนในช่วงต้นปีนี้ ฝั่งของรถยนต์อีวีสัญชาติอเมริกัน Tesla รุ่น Model 3 จากราคาขาย 273,200 หยวน เหลือ 235,400 หยวน และรถยนต์อีวี AITO M7 ราคาจาก 329,300 หยวน เหลือ 274,500 หยวน
ในส่วนของรถยนต์น้ำมันก็ต้องปรับกลยุทธ์เช่นกัน โดยใช้ส่วนลดที่มากขึ้นเพื่อต่อกรกับแรงกดดันจากรถยนต์อีวี เช่น Volkswagen Magotan ราคาลดเพิ่มจาก 12.14% ในปี 2022 เป็น 14.57% ในปี 2025 , Toyota RAV4 ราคาลดเพิ่มจาก 8.9% เพิ่มเป็น 24.6% , Honda CR-V ราคาลดเพิ่มจาก 6.55% เพิ่มเป็น 20.72% เบื้องหลังของสงครามราคาที่รุนแรงนี้ หลักๆเกิดจากคือการปรับโครงสร้างตลาดจากอัตราการเพิ่มขึ้นของรถยนต์อีวีที่มีขึ้นอย่างรวดเร็วนั่นเอง
เพราะแรงผลักจากรถยนต์อีวี ส่งผลให้จีนแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นประเทศที่ส่งออกรถยนต์มากที่สุดในโลก ส่วน BYD ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การเติบโตของรถยนต์อีวีจีน BYD มีบริษัทแม่อยู่ในนครเซินเจิ้น การเติบโตของ BYD และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องยังช่วยผลักดันให้ GDP ของเมืองเซินเจิ้นเติบโตได้กว่า 1% และมีแนวโน้มว่ามูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่จะแซงภาคการเงินที่เคยเป็นเสาหลักของเมืองเซินเจิ้นด้วย
แม้อุตสาหกรรมรถยนต์อีวีจีนจะประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม แต่ก็กำลังเผชิญปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน เนื่องจากการลงทุนมหาศาลของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในปี 2024ไม่ถึง 50% และยังมีโรงงานใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ แบรนด์ที่ระดมทุน พัฒนาเทคโนโลยี และสร้างเครือข่ายซับพลายเชนมาแล้ว ไม่สามารถถอนตัวได้โดยง่ายจึงจำเป็นต้องลงสนามแข่งขันกันอย่างเต็มที่ จุดนี้ก็เป็นอีกสาเหตุทำให้ตลาดเกิดสงครามราคาอย่างรุนแรง ในจีนมีแบรนด์ รถยนต์อีวีกว่า 100 แบรนด์ แต่มีเพียง 20-30 แบรนด์ที่ผู้บริโภคคุ้นเคย แบรนด์ที่ไม่อาจขายได้มากพอกำลังทยอยตกรอบ เช่น HiPhi ซึ่งคนไทยอาจจะไม่เคยได้ยิน ประสบปัญหาขายไม่ออกมานานเกือบสองปีอีกทั้งความต้องการในประเทศโตจีนไม่ทันการผลิต ผู้บริหารของค่ายรถยนต์อีวีจีน NIO เคยพูดถึงความกังวลที่ดีมานด์น้อยกว่าปริมาณการผลิต คล้ายกับที่เคยเกิดในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจระดับประเทศ
จีนมีอัตราการครอบครองรถเพียง 22% เทียบกับ 60% ของประเทศตะวันตก ยังถือว่าจีนมีช่องว่างในการเติบโตอยู่มาก แต่ในทางปฏิบัติการเติบโตนี้ถูกจำกัดด้วยรายได้ที่ชะลอตัวและความไม่มั่นใจทางเศรษฐกิจทำให้ความต้องการแท้จริงไม่เพียงพอที่จะรองรับกำลังการผลิตมหาศาล ดังนั้นการส่งออกคือทางรอดสำคัญของจีน
รถยนต์อีวีจีนมีต้นทุนการผลิตถูกกว่าคู่แข่งและถึงแม้ว่ารถจีนจะขายราคาแพงกว่าราคาในจีน แต่ก็ยังมีความสามารถในการแข่งขันสูงในตลาดยุโรปอยู่ดี คาดว่า ปี 2025 นี้รถยนต์จีนจะครองส่วนแบ่งตลาดในยุโรปถึง 25% ขณะเดียวกัน จีนยังขยายตลาดไปยังออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา แต่เส้นทางการเติบโตของรถยนต์อีวีจีนในต่างประเทศก็ไม่ได้ราบรื่นซะทีเดียว เพราะสงครามการค้าระลอกใหม่และการกีดกันจากชาติตะวันตก กล่าวโดยสรุปคือจีนต้องเผชิญตลาดภายในที่เริ่มอิ่มตัว ความเสี่ยงจากกำลังการผลิตส่วนเกิน มาตรการกีดกันทางการค้าจากตะวันตก และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก ดังนั้นปี 2025 อาจเป็นปีที่โหดที่สุดของอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีจีน ทั้งในแง่ของการแข่งขันในประเทศและแรงต้านจากต่างประเทศ
อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ กระแสการล้มละลายของบริษัทรถยนต์อีวีจีน ข้อมูลล่าสุดมีการรายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2020-2024 เพียง 5 ปี บริษัทรถยนต์อีวีในจีนล้มหายตายจากไปอย่างรวดเร็ว เหลือเพียง 40 กว่าแบรนด์ที่ยังดำเนินการได้ จากจุดสูงสุดที่มีมากกว่า 500 แบรนด์ ปัจจุบันบริษัทรถยนต์อีวีจีนที่มียอดขายต่ำกว่า 1,000 คันต่อเดือนมีแนวโน้มจะถูกตลาดคัดออกในอีกไม่ช้า
ในจีนผู้ใช้รถยนต์อีวีที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 160,000 รายจากแบรนด์รถยนต์อีวีที่ปิดตัว การที่ศูนย์บริการถูกปิด, ชิ้นส่วนขาดแคลนและมีปัญหาการซ่อมแซม โครงสร้างบริการหลังการขายที่ล่มสลายเช่น ปัจจุบันกรณี NETA ชิ้นส่วนหลักอย่างแบตเตอรี่และมอเตอร์ขาดตลาด บริษัทประกันจำนวนมากปฏิเสธที่จะรับประกันรถจากแบรนด์ที่ล้มละลายแล้ว อย่างกรณีของ NETA เบี้ยประกันพุ่งขึ้นถึง 40% และบางรายไม่สามารถซื้อประกันได้อีก มูลค่ารถยนต์มือสองตกลงอย่างแรง โดยเฉพาะรถจากแบรนด์ที่เลิกผลิตถูกประเมินต่ำ รถบางรุ่นถูกตีราคาไม่ต่างจากเศษเหล็ก รถยนต์อีวีเทคโนโลยีอัจฉริยะพึ่งพาแอปฯ ในการควบคุม หากแอปฯ หรือเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทล่ม ผู้ใช้จะไม่สามารถใช้ฟังก์ชันสำคัญได้ เช่น กุญแจบลูทูธ การอัปเดตระบบหรือการเชื่อมต่อระบบนำทาง เป็นต้น
กระแสล้มละลายของบริษัทรถยนต์อีวีในจีนไม่เพียงแต่ทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แต่ยังเผยให้เห็นจุดอ่อนของอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีจีนในยุคเปลี่ยนผ่าน จากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ผู้บริโภคไทยควรระมัดระวังในการเลือกซื้อรถยนต์อีวี โดยเน้นบริษัทที่มีความมั่นคง มีบริการหลังการขายที่แข็งแรง ในส่วนของจีนภาครัฐและอุตสาหกรรมกำลังจะต้องร่วมมือกันเสริมสร้าง “สนามแข่งขันที่ปลอดภัย ยั่งยืนและมีคุณภาพ” เพื่อไม่ให้รถยนต์อีวีกลายเป็น "สินค้าใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง"