ประเด็นไทยถอนร่างกฎหมายรับรองคาสิโนจากการประชุมรัฐสภา กลายเป็นกระแสร้อนแรงในจีน โดยแฮชแท็ก “泰国政府撤回赌场合法化法案” หรือ “รัฐบาลไทยถอนร่างกฎหมายคาสิโนถูกกฎหมาย” ขึ้นติดอันดับหัวข้อยอดนิยมในแพลตฟอร์มโต่วอิน (Douyin) โดยมีผู้ชมมากถึง 4.49 ล้านครั้งภายในเวลาเพียง 16 ชั่วโมง
กระแสนี้ได้จุดประกายความคิดเห็นจำนวนมากจากชาวเน็ตจีน ซึ่งสะท้อนมุมมองต่อประเทศไทยในหลายแง่มุม โดยส่วนใหญ่มีความเห็นเชิงลบ และตั้งข้อสงสัยว่า การผลักดันกฎหมายคาสิโนอาจไม่ใช่แค่เรื่องการพนันเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงกับประเด็นอ่อนไหวอื่น ๆ ได้แก่ ยาเสพติด การค้าประเวณี และความไม่ปลอดภัยในชีวิตของนักท่องเที่ยว
ชาวเน็ตจีนกังวลว่า “คาสิโน” จะดึงดูดอาชญากรรมอื่น ๆ ตามมา หลายคนแสดงความเห็นว่า “การพนันมักมาคู่กับโสเภณีและยาเสพติด” โดยมองว่า “ไทยมีครบทั้งโสเภณี การพนัน ยาเสพติด” และสิ่งเหล่านี้จะบั่นทอนภาพลักษณ์ของประเทศในสายตานักท่องเที่ยวที่ต้องการความปลอดภัย
มีความเห็นจำนวนมากที่ระบุว่า สาเหตุหลักที่ชาวจีนหลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวในไทยช่วงหลัง ไม่ใช่แค่เพราะเรื่องคาสิโนหรือกัญชาเท่านั้น แต่เพราะ “ความไม่ปลอดภัย” โดยเฉพาะเหตุการณ์ลักพาตัว ขู่กรรโชก หรือการถูกนำตัวไปยัง “เครือข่ายอาชญากรรมในเมียนมา” ซึ่งบางคนถึงกับกล่าวว่า “ไทยคือจุดพักก่อนถูกส่งไปเมียนมา”
บางความเห็นใช้คำว่า “ท่อระบายน้ำของเอเชีย” โดยมองว่าการรับรองคาสิโนและการเปิดเสรีกัญชาจะทำให้ประเทศไทยดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไม่พึงประสงค์ และไม่สามารถฟื้นภาพลักษณ์ในสายตานักท่องเที่ยวคุณภาพ เช่น ครอบครัวหรือชนชั้นกลางได้
มีชาวเน็ตตั้งคำถามว่า “ทำไมมาเก๊ามีคาสิโนแต่ไม่อันตราย” หรือ “ทำไมประเทศอื่นๆ เปิดคาสิโนได้โดยไม่เสื่อมเสียภาพลักษณ์เหมือนไทย” บ้างก็ว่า “ถ้าอยากเล่นพนันก็ไปมาเก๊า ทำไมต้องไปไทย”
บางความเห็นพาดพิงถึง “ผู้นำหญิงของไทย” ว่ายังขาดประสบการณ์ และมองว่าการผลักดันร่างกฎหมายลักษณะนี้เป็นการมองระยะสั้น เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยไม่สนใจผลกระทบระยะยาวด้านสังคมและความปลอดภัย
บางความเห็นมองว่า การทำให้คาสิโนถูกกฎหมายจะช่วยควบคุมอาชญากรรมและสร้างรายได้เพิ่ม แต่ความคิดเห็นนี้ได้รับการตอบโต้จากชาวเน็ตส่วนใหญ่ที่มองว่า “สภาพแวดล้อมทางกฎหมายและการบังคับใช้ในไทยไม่เข้มแข็งพอ”
โดยรวมแล้ว ชาวเน็ตจีนแสดงความไม่มั่นใจต่อทิศทางนโยบายของไทย และจำนวนมากแสดงความรู้สึกว่า “ประเทศไทยไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยอีกต่อไป” สำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน
ที่มา โต่วอิน (Douyin)