หากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ทำข้อตกลงภาษีศุลกากรหรือภาษีนำเข้ากับชาติคู่ค้าได้สำเร็จ ความสามารถของสี จิ้นผิง ผู้นำจีนในการใช้ตลาดเอเชียพยุงเศรษฐกิจแดนมังกร ซึ่งทุกวันนี้ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกและกำลังตึงเครียดก็จะถูกควบคุมกักขังอยู่ภายในกรงเหล็ก ที่สร้างขึ้นมาด้วยข้อตกลงเหล่านั้น
ทรัมป์กำลังจุดชนวนความตึงเครียดกับจีนขึ้นมาอีกครั้ง !
กรอบการทำงานเพื่อปูทางไปสู่การทำข้อตกลงการค้าในอนาคต ซึ่งบรรลุร่วมกันที่กรุงลอนดอนเมื่อเดือนมิถุนายนเป็นเพียงภาพลวงตา
นีล เชียริง นักเศรษฐศาสตร์ของ Capital Economics สะกิดว่า สิ่งที่พวกเรากำลังเห็นอยู่นี้ไม่ใช่สงครามการค้าที่กำลังผ่านไป แต่เป็นการปรากฏตัวของการแข่งขันของมหาอำนาจ ที่ก้าวลึกและทนทานยิ่งกว่าเดิมระหว่างชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกทั้งสอง
อังกฤษและเวียดนามทำข้อตกลงในการเจรจาต่อรองภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อัตราใหม่ที่สูงลิ่วได้สำเร็จเป็นชาติแรก ๆ มีผลบังคับใช้ไปแล้วและกลายเป็นแม่แบบสำหรับแผนการทุบอำนาจการค้าของจีนให้อ่อนแอลง
ตอนนี้ทรัมป์กำลังนำเอเชียทั้งหมดมาวุ่นวายยุ่งเหยิงอยู่กับการเจรจาต่อรอง โดยนอกจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ถูกประกาศจัดเก็บในอัตราใหม่ ทรัมป์ยังขู่รีดภาษีชาติแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเลเซีย 25 % อินโดนีเซีย 32 % ไทยและกัมพูชา 36 % ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป หากไม่รีบทำข้อตกลงตามข้อเรียกร้องของตนภายในสามสัปดาห์ข้างหน้า
ข้อตกลงกับอังกฤษเผยให้เห็นเครื่องมือที่ทำเนียบขาวจะใช้เพื่อ “ยับยั้ง” การลงทุนของจีนบนแดนผู้ดี
ส่วนข้อตกลงกับแดนแหนมเนือง ซึ่งทรัมป์มุ่งสกัดสินค้าจากจีนเข้ามาสวมสิทธิ์ส่งไปสหรัฐฯผ่านทางเวียดนามเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ก็ถือเป็นความสำเร็จของแผนการ
เวียดนามมีการนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ต้องสงสัยว่าเหตุใดจึงมีโอกาสเจรจาทำข้อตกลงกับทรัมป์เป็นอันดับต้น ๆ
ทรัมป์มีวิธีกำราบด้วยการเก็บภาษีสินค้า “เมด อินเวียดนาม” 20 % แต่ถ้า “เมด อิน ไชน่า”ก็จะถูกรีด 40 % ซึ่งเพิ่มขึ้น 2 เท่า
แน่นอนว่าข้อเรียกร้องของทรัมป์กับชาติที่ยังตกลงกันไม่ได้จะมีมาตรการแบบเดียวกับเวียดนามรวมอยู่ด้วยเพื่อกดดันจีนหนัก ๆ
เศรษฐกิจจีนต้องกระตุ้นให้เติบโตด้วยการอัดฉีดเงินอุดหนุน และการลงทุนในภาคการผลิต เพราะภาคครัวเรือนไม่ใช้จ่ายมากพอที่จะให้การบริโภคเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงพยายามรักษาจีดีพีให้โตอย่างน้อย 5 % ต่อปี การส่งออกไปเอเชียจึงสำคัญ
บริษัทจีนไม่สามารถขายสินค้าในประเทศได้ก็ต้องส่งไปขายในต่างประเทศ เดวิด ลูบิน นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันคลังสมอง Chatham House ระบุ มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาอุปทานล้นตลาด
แม้ว่าการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ลดลงกว่า 40 % จากปีที่แล้ว แต่การส่งออกโดยรวมทั้งหมดในทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 5 % โดยในส่วนการส่งออกไปยัง 10 ชาติอาเซียนเพิ่มขึ้น 15 %
จีนถูกกลยุทธ์ทรัมป์บีบหนักขึ้นทุกที เห็นได้จากการที่ปักกิ่งออกมาวิจารณ์ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-เวียดนามอย่างแข็งกร้าว
แต่ดูเหมือนว่าเกมนี้พญามังกรก็พร้อมแล้วที่จะเล่นไม้แข็งกับพี่กัน
หนึ่งในตัวอย่างการออกหมัดมวยจีน
ตามรายงานข่าวเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเรียกวิศวกรและช่างเทคนิคชาวจีนหลายร้อยคนกลับแดนมังกร คนเหล่านี้ทำงานในส่วนภารกิจหลักของโรงงานผลิตไอโฟนบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ของไต้หวันที่อินเดีย
ก็แดนภารตะรอเสียบตำแหน่งซัปพลายเออร์หลักในการผลิตไอโฟนให้บริษัทแอปเปิลของอเมริกาแทนจีนมิใช่หรือ?
ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ปักกิ่งยังได้แจ้งอย่างไม่เป็นทางการให้บริษัทต่างๆ รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลหยุดการส่งออกอุปกรณ์ บุคลากร และองค์ความรู้สำคัญไปยังอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งดูเหมือนว่าเพื่อหยุดยั้งไม่ให้บริษัทข้ามชาติ เช่น แอปเปิล สามารถย้ายฐานการผลิตออกไปจากจีนได้อย่างรวดเร็ว
การใช้กลเม็ดกับฟ็อกซ์คอนน์อาจไม่สะท้านเท่าภาษีทรัมป์ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าสีจิ้นผิงกำลังเล่นเกมนี้อยู่
ในความเห็นของลูบินแห่งChatham House ข้อได้เปรียบของสีจิ้นผิงก็คือการที่เขาเริ่มลงมือทำอะไรมากมายอย่างมโหฬารล่วงหน้าก่อนคนอื่น จีนจึงอยู่ในตำแหน่งที่เกือบไม่มีใครเทียบชั้นได้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และที่สำคัญสุดก็คือ แร่ธาตุหายากและแม่เหล็ก
ทรัมป์ยอมถอยกรูดกับคำขู่ภาษีสุดหฤโหดก็เพราะตัวช่วยในการเจรจานี้ ซึ่งยังอาจช่วยบรรเทาผลกระทบจากกรงเหล็กของทรัมป์ได้อีกด้วย
ลูบินอธิบายยุทธศาสตร์ของสีจิ้นผิงว่า เป็นการแยกห่วงโซ่อุปทานจากสหรัฐฯ อย่างไม่สมดุล ( asymmetric decoupling)” ด้วยการสร้างให้จีนกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งทำให้โลกต้องพึ่งพาจีนมากขึ้น
“และนั่นทำให้จีนมีอำนาจต่อรอง” ลูบินกล่าว
คำถามตอนนี้ก็คืออำนาจต่อรองของสีจิ้นผิง ซึ่งได้แก่การผูกขาดในภาคส่วนสำคัญบวกกับเงินที่โปรยปรายให้ชาติพันธมิตรในเอเชียจะเพียงพอหรือไม่ในการรับมือกับภัยคุกคามด้านภาษีอันยากจะต่อกรของทรัมป์
นั่นคือสิ่งที่ชาติในเอเชียจะต้องตัดสินใจตอบในตอนนี้
ข้อมูลจาก “Trump has found a way to cut out China” ในเดอะ เทเลกราฟ