xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยสายธารความสัมพันธ์ไทยและจีน ตอนที่ 1 “ไทย-จีน พี่น้องกัน” หยั่งรากเมื่อไหร่ ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วันที่ 1  กรกฏาคม 2518 นายกรัฐมนตรีจีน นาย โจว เอินไหล และ นายกรัฐมนตรีไทย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับราชอาณาจักรไทย
“ความสัมพันธ์ไทย-จีน”... หากมองในมุมของประวัติศาสตร์ ก็ได้ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านสุขผ่านทุกข์ ผ่านยุคชื่นมื่นฝ่ายุคร้าวราน มานับพันๆปี จนเกิดคำกล่าวขานว่า “จีนไทยมิใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” (中泰一家亲)...และกาลเวลาย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์

การ “สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต” ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน และราชอาณาจักรไทยแห่งยุคปัจจุบัน ได้มีการลงนามกันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 (ค.ศ.1975) โดยผู้นำรัฐบาลสองประเทศในขณะนั้นคือ นายกรัฐมนตรีจีน นาย โจว เอินไหล กับนายกรัฐมนตรีไทย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช การลงนามฯครั้งนี้คืออีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่เปิดประตูกว้างจัดเต็มในการพัฒนาความสัมพันธ์กันในทุกๆ ทั้งเศรษฐกิจการค้า วัฒนธรรม การศึกษา การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน เป็นต้น

สำหรับวาระที่การสถาปนาความสัมพันธ์การทูตไทยจีนดำเนินมาถึงกึ่งศตวรรษในเดือนก.ค.นี้ “มุมจีน” ขอนำเสนอไทมไลน์ความสัมพันธ์ไทยจีนที่ฝังรากลึกซึ้งมาในประวัติศาสตร์ มาให้ได้ย้อนมองกัน... ทั้งมิตรไมตรี ความปรองดอง ความร้าวราน คละเคล้าแปรผันไปตามยุคสมัย เพื่อได้ทบทวนกันทั้งความปรองดอง และความขัดแย้ง นำมาเป็นบทเรียนในการคลี่คลายปัญหาความท้าทายต่างๆที่มีและเผชิญกันอยู่ไม่มากก็น้อย

แผนที่เส้นทางการเดินเรือจากหมู่เกาะไห่หนันมายังแถบเอเชียอาคเนย์และไปถึงอินเดียและศรีลังกา ในสมัยราชวงศ์ฮั่น(ก่อนค.ศ. 202 – ค.ศ. 220)
“ไทย-จีน พี่น้องกัน” หยั่งรากตั้งแต่เมื่อไหร่ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ?

1. แลเห็นสุวรรณภูมิ...ช่วงคริสตศวรรษที่ 1-3 หรือราว พ.ศ.500-800 จีนเริ่มแลเห็นสุวรรณภูมิ ระหว่างการเดินเรือผ่านอ่าวไทยไปยังอินเดียในยุคซีฮั่น หรือฮั่นตะวันตก ในยุคสามก๊กก็มีการส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากนั้น ก็มีบันทึกชิ้นหนึ่ง ที่กล่าวถึงแคว้น “จินหลิงกั๋ว” หรือสุวรรณภูมิ (ตอนกลางของประเทศไทยปัจจุบัน) เล่าว่า ประชาชนทำเหมืองเงินและชอบจับช้างกัน

อาณาจักรทวาราวดี ส่งทูตไปนครฉางอัน เมืองหลวงจีนสมัยราชวงศ์ถัง พร้อมถวายของขวัญ อาทิ งาช้าง นกแก้วเผือก โดยราชวงศ์ถังได้มอบม้าพันธุ์ดีและระฆังทองแดงเป็นการตอบแทน

ความสัมพันธ์ไทยจีนแน่นแฟ้นขึ้นในยุคอาณาจักรละโว้ (ลพบุรี) มีการเดินเรือสินค้าระหว่างละโว้และเมืองเฉวียนโจว มณฑลฝูเจี้ยน คาดว่าชาวจีนเข้ามาตั้งรกรากในไทย ทำการค้าขายกันแล้ว

2. บรรณาการสานสัมพันธ์...ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตรงกับปลายศตวรรษที่ 13-14 หรือราวพ.ศ. 1800-1900 สยามกับจีนมีความสัมพันธ์กันผ่าน “ระบบบรรณาการ” หรือ “จิ้มก้อง” อันเป็นประเพณีสัมพันธไมตรีของจีนกับประเทศอื่นๆ ในสมัยโบราณ เพราะจีนเชื่อมาช้านานว่าตนเป็น “อาณาจักรกลาง” (中国 - Middle Kingdom) เป็นศูนย์กลางของอำนาจและอารยธรรมโลก มองดินแดนอื่นๆ โดยรอบว่าด้อยกว่า และจะต้องมาสวามิภักดิ์ โดยการส่งเครื่องราชบรรณาการแก่จักรพรรดิจีนตามกำหนด เพื่อแลกกับความคุ้มครองรวมทั้งประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองจากจีน

ส่วนฝ่ายสยามมิได้ยอมรับตามคตินิยมของจีน การส่งคณะทูตและพระราชสาส์นไปก็เพื่อเป็น “การแสดงสันถวไมตรี”มิได้แสดงว่า “อ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้น” ส่วนของกำนัลหรือเครื่องราชบรรณาการที่ส่งไปด้วยนั้นเป็นการแสดงไมตรีจิต และเป็นไปตามธรรมเนียมจีน เพื่อแลกกับความสะดวกในการค้าขาย

การติดต่อระหว่างราชสำนักหยวน และอาณาจักรสุโขทัย มีการแลกเปลี่ยนที่สำคัญได้แก่ คณะทูตสุโขทัยได้นำช่างจีนมาถ่ายทอดวิธีการทำเครื่องสังคโลกแก่ช่างไทย จนสุโขทัยได้ผลิตและส่งเครื่องสังคโลกเป็นสินค้าส่งออกสำคัญไปยังกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภาพเรือไห่ฮู่ ซึ่งเป็นเรือโบราณจีนในยุคราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618–907) สามารถแล่นทำการรบได้ในทุกสภาพภูมิอากาศ ถือเป็น 1 ในเรือประจัญบานที่มีชื่อเสียงของทหารเรือ
3. สายธารสัมพันธ์แน่นแฟ้น... ในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จวบจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งตรงกับช่วงปลายคริสตวรรษที่ 17 –ต้นคริสตศวรรษที่ 20 หรือ ราวพ.ศ.2200-2400 ไทยติดต่อไปมาหาสู่กับราชวงศ์ของจีนอย่างแน่นแฟ้น ราชสำนักหมิงถือกรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดชาติหนึ่ง อีกทั้งจักรพรรดิจีนได้พระราชทาน “ตราแห่งกษัตริย์เสียนหลัว” (เสียนหลัว คือคำที่จีนใช้เรียกประเทศไทย) ให้แก่กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรก

ในรัชสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อส่งขันทีเจิ้งเหอเดินเรือรอบโลก และในการเดินเรือครั้งที่สอง ได้ล่องมาตามลำน้ำเจ้าพระยาถึงกรุงศรีอยุธยา พร้อมนำสินค้าทองคำ ผ้าไหม และเครื่องเคลือบดินเผาแลกเปลี่ยนกับสินค้าไทย ทั้งมีการสำรวจสังคมชาวจีนในไทย

สมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ส่งสินค้าไปขายยังจีนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงราว 86 เปอร์เซนต์ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทยในช่วงนั้น และเรือสินค้าจีนมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาเรือสินค้าต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาค้าขายในแดนสยาม พ่อค้าในไทยส่วนใหญ่ก็คือ ชาวจีน

จนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยมีจำนวนเกือบ 1 ล้านคน ชาวจีนยังคงอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยามต่อเนื่องปีละนับหมื่นคน อีกทั้งมีความรักใคร่ปรองดองกับชาวไทย อันส่งผลดีแก่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างมาก

4. แลกเปลี่ยนผสานภูมิปัญญา...ในช่วงนี้ ศิลปะวรรณคดีจีนแพร่หลายในประเทศไทย โดยช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา มีคณะอุปรากรจีนเข้ามาจากมณฑลกว่างตง (หรือที่ชาวไทยนิยมเรียกว่ามณฑลกวางตุ้ง) เข้ามาแสดงในงานเลี้ยงของขุนนาง รัชกาลที่ 1 ก็ทรงมีรับสั่งให้แปลวรรณคดีจีน เรื่องสามก๊ก จากสมัยรัชกาลที่1 ถึงรัชกาลที่ 6 วรรณกรรมที่มีชื่อเสียงของจีนได้รับการแปลเป็นฉบับพากย์ไทย รวม 35 เล่ม ได้แก่ ไซฮั่น สามก๊ก เลียดก๊ก ห้องสิน ซ้องกั๋ง ไคเภ็ก ไซอิ๋ว บูเช็กเทียน เป็นต้น ในรัชกาลที่ 3 ยังมีการสร้างวัดด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนอย่างแพร่หลาย และสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้สร้างพระที่นั่งรูปแบบจีนที่พระราชวังบางปะอิน

ภาพวาดราชทูตไทยถวายงาช้างต่อพระเจ้ากรุงปักกิ่งเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตามธรรมเนียมจิ้มก้อง
5. จัดระยะความสัมพันธ์... ต่อมาระบบบรรณาการเพื่อการค้านี้ได้เสื่อมลงๆ เพราะไทยทำการค้ากับเหล่าชาติตะวันตกมากขึ้น ขณะที่ผลกำไรจากการค้าสำเภากับจีนลดลงตามลำดับ ในรัชสมัยจักรพรรดิถงจื้อแห่งราชวงศ์ชิง กรุงรัตนโกสินทร์ส่งทูตไปยื่นหนังสือขอยกเลิกธรรมเนียมการส่งเครื่องบรรณาการ โดยไทยส่งทูตไปยังจีนเป็นครั้งสุดท้ายในปีพ.ศ.2396 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ด้วยเพราะทรงไม่ประสงค์ให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประเทศที่ติดต่อกับไทย

6. กำแพงลัทธิชาตินิยม...เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบสาธารณรัฐในพ.ศ.2454 (ค.ศ.1911) ตรงกับรัชกาลที่ 6-8 ของไทย ลัทธิชาตินิยมจีนได้แพร่กระจายไปทั่ว รวมทั้งแพร่เข้าสู่หมู่ชาวจีนในไทย ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยกับชาวจีนตึงเครียดขึ้น เกิดความรู้สึกไม่พอใจและต่อต้านชาวจีน ที่ไม่เพียงขยายการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ยังกุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยไว้มากขึ้น นำไปสู่การปลุกกระแสชาตินิยมในไทย และการดำเนินนโยบายที่ค่อนข้างเข้มงวดต่อชาวจีน ในสมัยรัชกาลที่ 6

7. สัญญาสถาปนาความสัมพันธ์ฉบับแรก...อาจกล่าวได้ว่าการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน เกิดขึ้นก่อนกาสถาปนาสัมพันธ์การทูตไทย-จีนปี 2518 ตามความเข้าใจทั่วไปร่วม 30 ปี โดยหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงใน พ.ศ.2488 ไทยต้องการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงหันไปผูกมิตรกับสาธารณรัฐจีนซึ่งเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง นำไปสู่การลงนาม “สนธิสัญญาแห่งพระราชไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐจีน” ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2489

8. แลกเปลี่ยนคณะทูตชุดแรก...หลังจากไทย-จีนให้สัตยาบันต่อกันแล้ว สาธารณรัฐจีนได้แต่งตั้งให้นายหลีเถี่ยเจิง (李铁铮) เป็นอัครราชทูตคนแรกประจำประเทศไทย ขณะที่รัฐบาลไทยได้ส่ง นายสงวน ตุลารักษ์ ไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยคนแรกประจำสาธารณรัฐจีนที่นครหนันจิง (หรือ นานกิง) ต่อมาเมื่อพรรคจีนคณะชาติ หรือกั๋วหมินตั๋ง ที่ชาวไทยมักเรียก “ก๊กมินตั๋ง” ซึ่งเป็นรัฐบาลสาธารณรัฐจีนพ่ายแพ้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและถอยร่นไปจัดตั้งรัฐบาลบนเกาะไต้หวันในปี 2492 รัฐบาลไทยก็ยังคงรับรองจีนสาธารณรัฐจีน (ซึ่งหมายถึงไต้หวัน) เรื่อยมา จนกระทั่งตัดสัมพันธ์ทางการทูตกันหลังพ.ศ.2518

เดือนเมษายน  2498  นาย โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน พบปะกับ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไทย ในระหว่างการเข้าร่วมประชุมประเทศเอเชีย-แปซิฟิกที่บันดง ประเทศอินโดนีเซีย (แฟ้มภาพ ซินหัว)
9. กำแพงลัทธิรานสัมพันธ์...กำแพงแห่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อรัฐบาลไทยดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกาและฝักใฝ่ค่ายโลกเสรี จุดกระแสหวาดระแวงภัยคุกคามจากระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์จีน หรือจีนแดง โดยไทยได้เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เรียกย่อๆว่า ซีโต้ (SEATO) ในพ.ศ.2497 ซึ่งเป็นองค์การความมั่นคงร่วมกันระดับภูมิภาคที่สหรัฐอเมริกาตั้งขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสกัดกั้นและขัดขวางการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์

10. การแลกเปลี่ยนใต้เงากำแพง...แม้ระหว่างความสัมพันธ์สองประเทศหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง แต่ก็ยังมีการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างประชาชน ทั้งด้านการค้าขายระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรม การศึกษา กีฬา ซึ่งขยายวงมากกว่าในอดีต ตลอดจนมีผลงานวรรณกรรมร่วมสมัยชิ้นสำคัญๆของจีน แปลออกเป็นฉบับพากย์ไทย ได้แก่ “เรื่องจริงของอาคิว” ของหลู่ซวิ่น “เรื่องสั้นของหลู่ซวิ่น” “เที่ยงคืน” ของเหมาตุ้น “บ้าน” “ฤดูใบไม้ร่วง” “ฤดูใบไม้ผลิ” ของปาจิน บทละคร “เหลยอี่ว์” ของเฉาอี่ว์ เป็นต้น ต่อมา วรรณกรรมไทยที่มีการแปลเป็นจีน ได้แก่ “สี่แผ่นดิน” ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ “เรื่องสั้นของคึกฤทธิ์ ปราโมช ฉบับคัดสรร”, “ข้างหลังภาพ” และ “แลไปข้างหน้า” ของศรีบูรพา, “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงษ์, “เขาชื่อกาน” ของสุวรรณี สุคนธา, “ตะวันตกดิน” ของกฤษณา อโศกสิน, “เรื่องธรรมดา” และ “คำพิพากษา” ของชาติ กอบจิตติ ฯลฯ

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2499  เหมา เจ๋อตง ประธานประเทศของจีน พบกับนายเทพ โชตินุชิต หัวหน้าคณะผู้แทนส่งเสริมมิตรภาพไทย-จีน
11. จุดเปลี่ยน...จุดเปลี่ยนที่ทำให้ไทยกับจีนเริ่มกลับมาสานความสัมพันธ์ต่อกัน คือการมีโอกาสพบปะกันระหว่างหัวหน้าคณะผู้แทนไทย คือพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยขณะนั้น กับนายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล ในการประชุมกลุ่มประเทศเอเชีย-แอฟริกา ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนเมษายน 2498 (ค.ศ.1955)

การได้พบปะพูดคุยกันในเวทีดังกล่าว ทำให้ไทยรู้ว่าจีนแดงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และรัฐบาลกรุงปักกิ่งก็มีนโยบาย "อยู่ร่วมกันโดยสันติ" หรือ “หลักปัญจศีล” หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนก็เริ่มเดินหน้าอีกครั้งอย่างลับๆ

วันที่ 11 กันยายน  1958 (2501) นายกสมาคมวัฒนธรรมระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉูถู่หนัน (ขวา) ในงานเลี้ยงต้อนรับ “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) หัวหน้าคณะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากประเทศไทย  เนื่องจากการรัฐประหารในไทย ศรีบูรพามาเยือนจีนครั้งนี้และไม่ได้กลับไทยอีกเลย
12. ปฏิบัติการหวนสู่สัมพันธภาพ...นายกรัฐมนตรีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เริ่มส่งคณะทูตใต้ดินเข้าไปตามคำแนะนำของนายสังข์ พัธโนทัย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เริ่มจากคณะทูตใต้ดินชุดแรกที่เยือนจีนในปี 2498 นำโดยนายอารี ภิรมย์ พร้อมนายกรุณา กุศลาสัย ซึ่งคณะทูตใต้ดินนี้ก็มีโอกาสเข้าพบกับประธานเหมาเจ๋อตงด้วย

13. เดินหน้า...หลังจากนั้น ก็มีคณะส่งเสริมสัมพันธไมตรีไทย-จีน นำโดยนายเทพ โชตินุชิต คณะบาสเกตบอลแดงเหลือง นำโดยนายอดุลย์ ภุมรานนท์ คณะผู้แทนกรรมกรไทย โดยนายทองย้อย ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา โดยเฉพาะคณะผู้แทนศิลปินไทย นำโดยนายสุวัฒน์ วรดิลก ที่ไปในฐานะทูตเผยแพร่วัฒนธรรมไทยคณะใหญ่ที่สุด กลายเป็นข่าวเกรียวกราวและได้รับการต้อนรับทั่วประเทศจีน

14. ยุค “ล่าผีคอมมิวนิสต์”...จนถึงการเดินทางไปเยือนจีนในปี 2501 ของคณะผู้แทนราษฎรไทย นำโดยนายสอิ้ง มารังกูล และคณะผู้แทนนักประพันธ์ไทย นำโดยนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ระหว่างนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. พร้อมออกหมายจับทุกคนที่ร่วมอยู่ในคณะฯ ข้อหาฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ นายกุหลาบ นายสอิ้ง นายสุชาติ ภูมิบริรักษ์ จึงตัดสินใจลี้ภัยอยู่ในจีน ซึ่งได้รับการดูแลอย่างดีจากรัฐบาลจีน

พิธีไว้อาลัย กุหลาบ สายประดิษฐ์ ผู้ใช้นามปากกา ศรีบูรพา ผู้บุกเบิกสานสัมพันธ์ไทยและจีน ในยุคสัมพันธ์สองประเทศร้าวราน โดยพิธีศพฯจัดที่ปักกิ่ง ปี 2517
15. สัมพันธ์ขาดสะบั้น...สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง เพราะจอมพลสฤษดิ์ ผูกสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นแฟ้น ดำเนินนโยบายต่อต้านและปราบปรามลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ถึงขนาดออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 53 ลงวันที่ 17 มกราคม 2502 ห้ามการติดต่อค้าขายกับสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยเด็ดขาด ความสัมพันธ์ไทย-จีนสะดุดหยุดลงอีกครั้ง

16. จีนแสวงหามิตร...ทว่า หลังจากที่จีนปะทะกับสหภาพโซเวียตตามแนวพรมแดน บริเวณพื้นที่ขัดแย้งแถบแม่น้ำ Ussiri ในปี พ.ศ.2512 เป็นผลให้จีนเร่งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับหลายประเทศในทุกทวีปรวมทั้งไทย เพื่อป้องกันมิให้สหภาพโซเวียตตีกรอบล้อม โดดเดี่ยวจีน

เดือนกรกฎาคม 2518  ผู้นำเหมาเจ๋อตง พบปะกับ นายกรัฐมนตรีไทย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
17. โลกเริ่มอ้าแขนรับจีนแดง...จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN) แทนที่ไต้หวัน ในเดือนตุลาคม 2514 (ค.ศ.1971)

18. มองการณ์ไกลสู่สานสัมพันธ์...ผู้ที่มองการณ์ไกลในขณะนั้นว่าต้องปรับความสัมพันธ์กับจีนแล้วคือ พันเอก ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยที่ไปร่วมประชุมยูเอ็น จึงมอบหมายภารกิจลับให้กับทูตไทยประจำยูเอ็นในตอนนั้น คือ นายอานันท์ ปันยารชุน ให้เริ่มติดต่อกับทูตจีนที่ยูเอ็นก่อน

19. มหาอำนาจจับมือจีน...ส่วนสหรัฐอเมริกาที่พ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม เริ่มลดบทบาทในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และหันมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนได้เป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ.2515

ในวันที่ 30 มิ.ย.1975 (2518)  นายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล พบ นายกรัฐมนตรีไทย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช  ก่อนลงนามสถาปนาความสัมพันธ์การทูตไทยและจีน (แฟ้มภาพ ซินหัว)
20. บุกเบิกสัมพันธ์ใหม่ด้วยลูกปิงปอง...เมื่อแนวทางของไทยกับจีนสอดคล้องต้องกัน ที่จะสกัดกันอิทธิพลของโซเวียตและเวียดนามในภูมิภาคนี้ จึงนำไปสู่ “การทูตปิงปอง” เช่นเดียวกับที่สานสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ สำเร็จมาแล้ว โดยไทยได้ส่งคณะนักปิงปองไปร่วมแข่งที่จีนตามคำเชิญของสหภาพปิงปองแห่งเอเชีย ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึง 7 กันยายน 2515

21. ‘คิสซิงเจอร์เมืองไทยเปิดประตูเมืองจีน’ นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ได้ร่วมเดินทางไปจีนกับคณะนักกีฬาปิงปองไทยด้วยในฐานะ ''ที่ปรึกษาทีม'' แต่เบื้องหลังเขาคือผู้แทนรัฐบาลไทยที่ไปเจรจาปรับความสัมพันธ์กับโจวเอินไหล วีรกรรมของนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ในการทูตปิงปองเปรียบได้กับปฏิบัติการลับของ เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้ปูทางให้แก่การปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน จนเขาได้รับการยกย่องให้เป็น ‘คิสซิงเจอร์ แห่งประเทศไทย ผู้เปิดประตูเมืองจีน’

คณะผู้นำไทยและจีน ถ่ายภาพร่วมที่มหาศาลาประชาคมจีน กรุงปักกิ่ง 2518
22. สัมพันธ์การค้าหวนคืน...เมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันขึ้น ในเดือนธันวาคม 2517 รัฐบาลไทยประกาศยกเลิกกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าจากจีน และส่งพล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายเตช บุนนาค หัวหน้ากองเอเชียตะวันออกขณะนั้น ไปยังจีนเพื่อเจรจาขอซื้อน้ำมันดิบจำนวน 30,000 ตัน

23. “คึกฤทธิ์” ไปจีนแดง...ภายหลังคณะของนายอานันท์ ปันยารชุนกลับจากไปติดต่อเจรจาขอปรับความสัมพันธ์กับทางการจีนแล้ว คณะผู้นำของไทยนำโดยนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เดินทางจากท่าอากาศยานกรุงเทพ โดยสารการบินไทย ชื่อ ‘สุดาวดี’ ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2518 แวะพักที่ท่าอากาศยานฮ่องกงหนึ่งคืน แล้วจึงเข้าสู่เขตประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในเช้าวันรุ่งขึ้น

คณะผู้นำไทยและจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ปี 2518  โดยมีฉากหลังเป็นป้ายผ้าเขียนเป็นภาษาไทยว่า “มิตรภาพระหว่างประชาชนจีนกับประชาชนไทยจงเจริญ” !
24. จรดหมึกสถาปนาสัมพันธ์...วันที่ 1 กรกฎาคม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้เข้าพบกับประธานเหมาเจ๋อตงในช่วงเช้า ก่อนที่พิธีลงนามแถลงการณ์ร่วมการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนจะจัดขึ้นในช่วงบ่ายที่โรงพยาบาล อันเป็นที่รักษาตัวของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ซึ่งเวลานั้นป่วยหนักด้วยโรคมะเร็ง

25. การทูตลุล่วง...นายไฉเจ๋อหมิน (柴泽民) เป็นเอกอัครราชทูตจีนคนแรกประจำประเทศไทย ขณะที่ ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี เป็นเอกอัครราชทูตไทยคนแรกประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ กรุงปักกิ่ง




กำลังโหลดความคิดเห็น