วันที่ 3 กรกฎาคม ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในจีนรายหนึ่งเผยประสบการณ์สมัครงานที่กลายเป็นไวรัลในชั่วข้ามคืน เมื่อบริษัทแห่งหนึ่งในมณฑลกุ้ยโจว บังคับให้ผู้สมัครทำแบบทดสอบบุคคลิกภาพ MBTI ถึง 550 ข้อ และใช้ผลทดสอบเป็นเงื่อนไข "ตัดสินใจรับเข้าทำงาน" โดยเฉพาะระบุไม่รับผู้ที่มีบุคลิก “E” (Extrovert) เพราะมองว่า “มีแนวโน้มลาออกง่าย”
เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัท ยืนยันว่าแบบทดสอบ 550 ข้อนั้น “จำเป็น” และบริษัทเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการประเมิน (ราว 99 หยวนต่อคน หรือประมาณ 500 บาท) โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อไม่ให้จ้างคนผิด” พร้อมกล่าวชัดว่า “เราไม่รับคนบุคลิก E เพราะคนกลุ่มนี้เปลี่ยนงานบ่อย”
MBTI (Myers-Briggs Type Indicator) เป็นเครื่องมือวิเคราะห์บุคลิกภาพโดยแบ่งคนเป็น 16 ประเภท ตาม 4 มิติ ได้แก่
คนชอบเข้าสังคม (Extrovert) / คนเก็บตัว (Introvert)
มองเห็นข้อเท็จจริง (Sensing) / มองภาพรวม (Intuition)
คิดตามเหตุผล (Thinking) / ตัดสินใจตามความรู้สึก (Feeling)
มีแบบแผน (Judging) / ยืดหยุ่น (Perceiving)
ตัวอย่างบุคลิกที่บริษัทต้องการคือ “ISTJ” ซึ่งแปลว่ามีลักษณะเก็บตัว เน้นข้อเท็จจริง ตัดสินใจด้วยเหตุผล และมีวินัยสูง
นักจิตวิทยาจาก University College London ให้สัมภาษณ์ว่าการใช้ MBTI เป็นเงื่อนไขรับเข้าทำงานเป็นแนวทางที่ “ไม่สมเหตุสมผลและอาจส่งผลเสีย” โดยระบุว่า MBTI เป็นเครื่องมือแบบ “ประเภท” (type-based) ซึ่งขัดกับแนวทาง “ลักษณะ” (trait-based) ที่ใช้ในวิจัยทางจิตวิทยาสมัยใหม่
“MBTI อ่อนไหวต่ออารมณ์ขณะตอบคำถาม และอาจถูกบิดเบือนโดยผู้สมัครที่ ‘รู้สูตร’ และปรับคำตอบให้ตรงใจบริษัท” เขากล่าว พร้อมระบุว่า “ไม่สามารถทำนายผลงานในงานจริงได้อย่างมีนัยสำคัญ”
ขณะเดียวกัน นักวิจัยจาก East China University of Political Science and Law ให้ความเห็นว่า แม้การใช้ MBTI ไม่ผิดกฎหมายแรงงาน แต่หากนำมาเป็นเกณฑ์ “ตัดสิทธิ์” โดยตรง อาจถือเป็นการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานบุคลิกภาพ
จากการค้นหาในโลกออนไลน์พบว่า มีชาวเน็ตจำนวนไม่น้อยเริ่มแชร์ “คู่มือตอบ MBTI ให้ผ่าน” เช่น “ถ้าบริษัทต้องการ I ให้ตอบว่าไม่ชอบพบปะคนเยอะ” หรือ “อยากเป็น F ให้เลือกคำตอบที่เน้นความรู้สึก” จนเกิดการตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของผลทดสอบ
ผู้เชี่ยวชาญด้าน HR จาก ZOEY Career Consulting ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันมีหลายบริษัทใช้ MBTI ประกอบการคัดกรองพนักงานในขั้นต้น ซึ่งอาจช่วยลดเวลาและต้นทุน แต่ “การบังคับทำแบบทดสอบ 550 ข้อ ถือว่าเกินขอบเขต และไม่เคารพความหลากหลายของผู้สมัคร”
“ผลลัพธ์ของ MBTI ควรใช้เพียงเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจ ไม่ใช่เกณฑ์ตายตัว” เธอกล่าว
ที่มา: 上游新闻 (Shangyou News)