วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กล่าวโจมตีพลังงานลมระหว่างการปราศรัย โดยระบุว่ากังหันลม “ทำลายทุ่งหญ้าและหุบเขาในอเมริกา ฆ่านก และไร้ประโยชน์” พร้อมพาดพิงถึงจีนว่า “ตนไม่เคยเห็นฟาร์มกังหันลมในประเทศจีนเลยสักแห่ง”
คำพูดดังกล่าวสร้างเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศ โดยชาวเน็ตจีนจำนวนมากพากันโพสต์ภาพฟาร์มพลังงานลมของจีนจากทั่วประเทศลงในโซเชียลมีเดียเพื่อโต้กลับคำพูดของทรัมป์ พร้อมย้ำว่าจีนไม่เพียงมีฟาร์มพลังงานลม แต่ยังเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการพัฒนาและใช้พลังงานสะอาด
หลังจากคำปราศรัยของทรัมป์ สำนักข่าว HuffPost ของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่บทความตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมย้ำว่าจีนคือหนึ่งในประเทศที่มีการใช้พลังงานลมมากที่สุดในโลก โดยมีการลงทุนติดตั้งฟาร์มพลังงานลมทั้งบนบกและนอกชายฝั่งทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ New York Times เผยแพร่บทความวิเคราะห์โดยโทมัส ฟรีดแมน นักเขียนชื่อดัง ซึ่งวิจารณ์ว่าร่างกฎหมายด้านพลังงานล่าสุดของทรัมป์ที่ชื่อว่า “Big and Beautiful Act” นั้น “เป็นการทำลายอนาคตของอเมริกาโดยตรง” เพราะตัดงบสนับสนุนพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมตั้งเงื่อนไขที่ยุ่งยากจนแทบไม่มีโครงการใดจะได้รับการสนับสนุนเลย
ฟรีดแมนระบุว่า ในขณะที่จีนกำลังเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดอย่างเต็มที่ สหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์กลับเลือกเดินถอยหลัง
ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานพลังงานแห่งชาติจีนระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 จีนได้เพิ่มกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 196 กิกะวัตต์ (GW) เพิ่มขึ้น 57% เมื่อเทียบกับปีก่อน รวมแล้ว จีนมีแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากถึง 1,080 ล้านกิโลวัตต์ หรือเทียบเท่าเขื่อนสามผารวมกันถึง 48 แห่ง
ด้านพลังงานลม ภายในเดือนเมษายนที่ผ่านมา จีนมีกำลังการผลิตรวมถึง 15.5% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี จีนผลิตไฟฟ้าจากลมได้กว่า 381.4 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง คิดเป็น 12.78% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ
องค์กรวิจัยจากอังกฤษอย่าง Carbon Brief ยังเผยว่า เพียงแค่ 5 เดือนแรกของปีนี้ จีนได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มอีก 198 กิกะวัตต์ และกังหันลมอีก 46 กิกะวัตต์ ซึ่งมากกว่ากำลังผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศของอินโดนีเซียหรือตุรกี
นักวิจัยจากองค์กร Asian Society และ Carbon Brief แสดงความคิดเห็นตรงกันว่า อัตราการเติบโตของพลังงานสะอาดในจีน “เร็วเกินคาด” และเป็นผลโดยตรงจากนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและลดการพึ่งพาการค้าจากสหรัฐฯ
ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยในอังกฤษยังชี้ว่า พลังงานสะอาดคือกุญแจสู่การพัฒนาเทคโนโลยี AI ซึ่งต้องการพลังงานมหาศาล ประเทศใดควบคุมแหล่งพลังงานสะอาดได้มากกว่า ประเทศนั้นก็จะควบคุมเศรษฐกิจยุคใหม่ได้
ที่มา: 环球时报, The New York Times, HuffPost, 国家能源局, Carbon Brief