MGR Online: เที่ยวไทยซบเซา! เหตุคนจีนเที่ยวในบ้านตัวเอง ผู้เชี่ยวชาญแนะเชื่อมโยงวัฒนธรรม เล่าเรื่องราว สร้างประสบการณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับมา
การท่องเที่ยว หนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย อาการน่าเป็นห่วงอย่างชัดเจน ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยเพียง 15 ล้านคน นักท่องเที่ยวจีนที่เคยครองแชมป์มาเที่ยวเมืองไทยมากที่สุดลดจำนวนลงอย่างมาก ผู้คนในแวดวงการท่องเที่ยวยอมรับว่า ไม่มีทางจะกลับไปรุ่งเรืองเหมือนช่วงก่อนปี 2019 อีกแล้ว
สาเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวเมืองไทยน้อยลง เพราะเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง จากสงครามการค้า, วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ และอีกหลายๆ เรื่อง ทำให้คนจีนต้องประหยัดค่าใช้จ่าย จึงเลือกที่จะท่องเที่ยวในประเทศตัวเองมากกว่า
นอกจากนี้ เที่ยวบินตรงระหว่างจีนกับต่างประเทศลดลงอย่างมาก ในบางเส้นทางที่เคยมีเที่ยวบินตรงใช้เวลาเพียงแค่ 5 ชั่วโมง แต่พอไม่มีเที่ยวบินตรง ต้องแวะต่อเครื่องใช้เวลานานเกือบ 10 ชั่วโมง ซึ่งถ้ามีวันหยุดยาว 4-5 วัน แต่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไป-กลับมากถึง 2 วันแล้ว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็คงเลือกที่จะเที่ยวในประเทศมากกว่า
ที่สำคัญคือ ทางการจีนยังสนับสนุนนโยบาย “จีนเที่ยวจีน” เต็มตัว ทั้งให้สื่อมวลชนช่วยกันโปรโมท และการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้คนจีนรู้สึกว่าเที่ยวในบ้านตัวเองสะดวกสบายกว่า คุ้มกว่า ปลอดภัยกว่า
ในเมื่อ “จีนเที่ยวจีน” กันอย่างนี้ ประเทศไทยเราจะทำอย่างไ รถึงจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาได้ ?
งานสัมมนาเรื่อง “ภูมิปัญญาในการพัฒนาผ่านการอนุรักษ์โบราณสถาน” (Unlock Development Wisdom Through Heritage Protection) จัดโดย ศูนย์การสื่อสารนานาชาติของทางการจีน (China Center for International Communication Development) ที่เมืองเทียนสุ่ย มณฑลกานซู่ ทางภาคตะวันตกของจีน ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
คุณสมลักษณ์ เจริญพจน์ อุปนายก สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และอดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร แนะนำว่า จะต้องเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในเรื่องที่มีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกัน
“ยกตัวอย่างเช่น เราก็เรียนรู้เรื่องการทำเครื่องปั้นดินเผาจากจีนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เราน่าจะสนับสนุนส่งเสริมให้มีการสืบหาต้นตอว่า เมืองไหนแคว้นไหนของจีนที่เป็นต้นแบบที่ส่งมาให้เรา ซึ่งมันค้นได้อยู่แล้วว่าราชวงศ์ไหน เมืองไหน แล้วก็ไปดูว่าเขายังมีร่องรอยของเตาเผาเหมือนบ้านเราไหม แล้วเหมือนตรงไหน ต่างกันอย่างไร”
คุณสมลักษณ์ ซึ่งเคยดูแลพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศไทย บอกว่า อารยธรรมที่เชื่อมโยงกันไม่ใช่แค่ไทยกับจีน แต่เชื่อมโยงได้ทั้งภูมิภาคอาเซียน และคนรุ่นใหม่ก็สนใจเรื่องราวในอดีต มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์กันมากขึ้น
“สมมุติไปดูหุ่นทหารจิ๋นซี เราก็มีอะไรคล้าย ๆ อย่างนั้น ถึงแม้จะไม่ยิ่งใหญ่เท่าเขา แต่มันก็มี พี่ย้อนนึกไปว่า เครื่องสังคโลก ก็เป็นความเชื่อมโยงที่พี่พยายามอยากจะว่า ไปกันทั้งภูมิภาค และถ้าไปกันทั้งภูมิภาคได้ ความเป็นหนึ่งอันเดียวในภูมิภาคก็จะดีขึ้น คือ เจริญก็เจริญไปด้วยกัน แล้วก็จะรู้สึกว่า ฉันยังต้องรักษาสิ่งที่ฉันต่างจากเธอ”
คุณศิรดา พิชญไพบูลย์ ผู้ก่อตั้ง The Roots Routes สตูดิโอออกแบบประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม บอกว่า การเชื่อมโยงจะทำให้นักท่องเที่ยวมีประสบการณ์ร่วม และขยายพื้นที่การท่องเที่ยวได้ด้วย อย่างเช่น ถ้ำหินในเมืองจีนทั้งหมดจะแกะสลักพระพุทธรูป ซึ่งเชื่อมโยงกับศรัทธาในพุทธศาสนา และถ้ำหินเหล่านี้ก็มีกระจายอยู่ในหลายมณฑล
“จีนปูพื้นเรื่องของศาสนา และเรื่องของเส้นทางที่ว่ามีการผสมผสานกันของวัฒนธรรมจากพุทธศาสนาจากอินเดียเข้ามาที่จีน ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว ถ้ำนี้มันไม่ได้มีแค่จุดเดียว แต่มีที่ตุนหวงหรือว่าที่อื่นด้วย เป็นเส้นทางที่มันร้อยเรียงเข้าด้วยกัน ทำให้นักท่องเที่ยวอยากไปดูเพิ่มเติม”
คุณศิรดา ที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวในเมืองไทย บอกว่า การเล่าเรื่อง หรือ story telling เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณค่าของสถานที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้เข้าใจภูมิหลังทางวัฒนธรรมประวัติศาสตร์มากนัก จึงต้องสร้างเรื่องราว ที่ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
เธอยกตัวอย่างเมืองเทียนสุ่ย มณฑลกันซู่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ “ฝูซี” เทพที่ชาวจีนนับถือกันว่า เป็นผู้ก่อกำเนิดมนุษยชาติ และสร้างอารยธรรมจีน ทุก ๆ ปีจะมีพิธีสักการะฝูซีจัดอย่างใหญ่โต และทั่วทั้งเมือง ก็จะเอาตำนานนี้มายึดโยงกับสถานที่ท่องเที่ยว, งานเทศกาล ไปจนถึงอาหาร และของที่ระลึกต่าง ๆ ก็จะเกี่ยวข้องกับเทพฝูซี
“จีนผูกตำนานว่า นี่คือบ้านเกิดของเทพ ซึ่งเชื่อมโยงเข้ากับความเชื่อของคนทั่วไปได้ง่าย ทำให้คนเข้าถึงและเข้าใจได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการแสดงที่ใช้ตำนานและประวัติศาสตร์มาเล่าเรื่องในแบบแสงสีเสียงแบบใหม่ ทำให้คนเข้าใจได้มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่รู้ภาษาจีน ก็ยังพอเดา ๆ ได้ว่าเรื่องเป็นประมาณนี้ เข้าใจเรื่องราว สถานที่มากขึ้น”
บรรดาผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า การท่องเที่ยวและการอนุรักษ์สามารถไปด้วยกันได้ แต่ต้องมีการบริหารจัดการ เพื่อรับมือกับปัญหา “การท่องเที่ยวล้นเกิน” หรือ Overtourism ที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่
คุณ อันดา ยางแสนไซ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแหล่งมรดกโลกหลวงพระบาง สปป.ลาว ให้ความเห็นว่า “ปัจจุบันนี้ลาวมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ว่าทางหลวงพระบางก็มีแผนจัดการ ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในตัวเมืองอนุรักษ์ แต่จะจัดหาที่พักแรมให้อยู่นอกเขตอนุรักษ์ นักท่องเที่ยวจะเข้ามาเที่ยวโบราณสถาน แต่ที่พัก รวมถึงบ้านพักของเจ้าหน้าที่ จะอยู่ห่างออกไป เพราะในตัวเมืองแออัดอยู่แล้ว”
ภูมิทัศน์ด้านการท่องเที่ยวในทุกวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ประเทศไทยไม่อาจจะใช้แนวทางเดิมๆ ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกต่อไป ไม่เช่นนั้น เราจะจมอยู่กับการ “ขายอดีต” และ “บุญเก่า” ที่เคยเก็บกินจะร่อยหลอลงทุกเมื่อเชื่อวัน.