MGR Online: การประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 17 ที่กำลังจะมีขึ้นที่ริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล จะเป็นครั้งแรกที่สมาชิก 10 ประเทศ และพันธมิตร 10 ประเทศเข้าร่วมประชุม เป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์ของการรวมกลุ่ม “ประเทศโลกใต้” หรือ Global South
เรื่องจาก :From BRICS to BRICS+: Implications for the Global South
กลุ่ม BRICS ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ได้ขยายตัวเป็น BRICS Plus โดยมีสมาชิกเพิ่มเติม คือ เอธิโอเปีย อียิปต์ อิหร่าน อินโดนีเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลังจากนั้น การประชุมที่เมืองคาซานในรัสเซียในปี 2567 ได้รับ “ประเทศพันธมิตร” อีก 10 ประเทศ ได้แก่ โบลิเวีย เบลารุส คิวบา คาซัคสถาน มาเลเซีย ไนจีเรีย ไทย ยูกันดา อุซเบกิสถาน และเวียดนาม
ปัจจุบัน ประเทศสมาชิก BRICS มีประชากรมากกว่าร้อยละ 40 ของโลก, มีการผลิตและการส่งออกน้ำมันของโลกร้อยละ 40 , และมีสัดส่วนการค้าร้อยละ 40 ของโลก การขยายตัวของ BRICS หมายถึงตลาดที่กว้างใหญ่ขึ้น ทรัพยากรเพิ่มเติม รวมทั้งพลังงาน และศักยภาพมหาศาลสำหรับการลงทุน ที่สำคัญคือ BRICS เป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา หรือที่เรียกว่า “ประเทศโลกใต้” หรือ Global South ซึ่งสนับสนุนภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกที่เท่าเทียมกันมากขึ้น แตกต่างจากอดีตที่โลกถูกบงการโดยประเทศร่ำรวยไม่กี่ชาติ
แม้จะไม่มีข้อตกลงการค้าอย่างเป็นทางการ แต่ BRICS ก็ได้ขยายการค้าภายในกลุ่ม และลดการพึ่งพาตลาดแบบดั้งเดิม ทำให้ประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ของกันและกันได้ ข้อมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าของประเทศ BRICS เติบโตขึ้นมากกว่า 7 เท่า มีมูลค่ามากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การค้าภายในกลุ่ม BRICS เติบโตเร็วกว่าการค้าระหว่างประเทศนอกกลุ่ม BRICS อย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นว่ากลุ่ม BRICS มีส่วนสำคัญในการสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานที่เสริมซึ่งกันและกัน และสร้างความหลากหลายในความสัมพันธ์ทางการค้า
การค้าภายในกลุ่ม BRICS ที่เพิ่มขึ้นได้ดึงดูดให้ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ต่างหวังที่จะเข้าร่วมกับ BRICS เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากชาติตะวันตก และกระแส “ตัดขาด-แยกตัว” (Decoupling)
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การค้าระหว่างประเทศกลุ่ม Global South ได้เดินตามแนวทางของกลุ่ม BRICS ข้อมูลจากที่ประชุมการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNCTAD) แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2566 การค้าระหว่างกลุ่ม Global South เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจาก 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ เป็น 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาคู่ค้าแบบดั้งเดิมที่ลดลง ในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประเทศกำลังพัฒนา
กลุ่ม BRICS ได้ขยายตัวเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าโลกที่สำคัญ การเข้าร่วมของอินโดนีเซีย, เวียดนาม,ไทย, มาเลเซีย จะสร้างศักยภาพทางการค้าเพิ่มเติมสำหรับกลุ่ม BRICS และกลุ่ม Global South
นอกเหนือจากการค้าแล้ว BRICS ยังดึงดูดการลงทุนได้มาก ในปี 2566 จีนเป็นประเทศที่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สูงสุดในโลก ขณะที่บราซิลและอินเดียต่างก็มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อยู่ที่ประมาณ 130,000 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบร้อยละ 20 ของการลงทุนทั่วโลก ทำให้กลุ่ม BRICS เป็นแรงผลักดันหลักของการเติบโตของ FDI โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่
สมาชิกใหม่ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นเป้าหมายการลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่ จะช่วยเปิดโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ในตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อมูลของ UNCTAD แสดงให้เห็นว่า BRICS ดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน 20 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า จาก 84,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2544 เป็น 355,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 นอกจากนี้ ส่วนแบ่งเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั่วโลกของ BRICS ก็เพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 11% เป็น 22%
BRICS ได้บยายบทบาททางเศรษฐกิจ และกลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทั่วโลก ตามข้อมูลของมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2543 ส่วนแบ่ง GDP ของโลกของกลุ่มประเทศผู้ก่อตั้ง BRICS 5 ประเทศ เมื่อวัดตามอำนาจซื้อ (PPP) ได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 35
ตั้งแต่ปี 2561 กลุ่ม BRICS มีส่วนแบ่ง GDP ของโลกร้อยละ 35 แซงหน้ากลุ่ม G7 ที่มีสัดส่วนในเศรษฐกิจโลกลดลงเหลือร้อยละ 30
ในการประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ที่กำลังจะมีขึ้นมีเรื่องที่ต้องจับตาคือ การขยายตัวของกลุ่ม ซึ่งอาจมีรูปแบบการรับสมาชิกที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และจะนำเสนอทางเลือกในการสนับสนุนการค้า การลงทุน และการเงินทั้งภายในระหว่างกลุ่ม BRICS และจะขยายไปสู่กลุ่ม “ประเทศโลกใต้” ซึ่งจะสร้างภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนโฉมไปจากเดิม.