xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์จีนชี้ แพทองธารดิ้นอยู่บนปากเหว วิกฤตการเมืองไทยอาจส่ง "ผลกระทบล้น"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา ตรวจสอบพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร พร้อมกับสั่งหยุดการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จากกรณีคลิปเสียงสนทนาระหว่างนายกฯแพทองธารกับสมเด็จฯ ฮุนเซน เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา

ซึ่งนายกฯแพทองธารได้โทรพูดคุยเป็นการส่วนตัวโดยหวังใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับฮุนเซนแก้ไขปัญหาระหว่างสองประเทศจากเหตุพิพาทพรมแดนและมีการปะทะกันของทหารสองฝ่ายเมื่อปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา จนมีการสั่งปิดด่านพรมแดน

ในคลิปเสียงสนทนาดังกล่าว แพทองธาร ใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า “หลาน” และเรียกคู่สนทนาว่า “อา” เรียกร้องให้ฝ่ายกัมพูชาเห็นใจ “อยากได้อะไร หลานจะจัดให้” อีกทั้งกล่าวพาดพิงไปถึงแม่ทัพภาคที่สอง เป็นฝ่ายตรงข้าม

หลังจากคลิปเสียงฯนี้หลุดออกมาก็กระตุกกระแสโกรธแค้นโจมตีการกระทำของนายกฯอย่างหนัก และพรรคร่วมรัฐบาลภูมิใจไทยถอนตัวออกไป...

แม้แพทองธารแถลงขอโทษ กลับยิ่งโหมกระพือกระแสประณาม “นายกฯขายชาติ” เหมือนราดน้ำมันเพิ่มบนกองเพลิง

สื่อจีนยังรายงานอีกว่าในไม่กี่วันต่อมาหลังข่าวเผยแพร่คลิปหลุด อดีตนายกฯกัมพูชา ฮุนเซน ได้เปิดการแถลงข่าวนานเกือบ 4 ชั่วโมง (27 มิ.ย.) กล่าวหาอย่างรุนแรงว่า แพทองธารและบิดาคือทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งตระกูลชินวัตรเป็นพวก “ทรยศขายชาติ หักหลังเพื่อน” อีกทั้งทำนายด้วยว่าไทยจะต้องเปลี่ยนตัวนายกฯภายในสามเดือน ต่อมา ในวันที่ 28 มิ.ย.มีการประท้วงใหญ่ในกรุงเทพฯ ผู้ประท้วงนับหมื่นๆคนออกมาขับไล่นายกฯ


ในด้านจีนซึ่งยึดถือนโยบายไม่แทรกแซงกิจการประเทศอื่น ก็สงวนท่าทีเงียบกริบต่อสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างไทยและกัมพูชาที่มีมูลเหตุมาจากข้อพิพาทพรมแดน ทว่า จีนก็ต้องเกาะติดจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลักดันความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน

ในด้านค่ายสื่อชั้นนำของจีน มีการนำเสนอรายงานวิเคราะห์สถานการณ์พิพาทพรมแดนไทย-กัมพูชา และการเมืองไทย โดยระบุว่าขณะนี้นายกฯแพทองธารกำลังดิ้นรนอย่างหนักอยู่ตรงปากเหว...

หลังจากที่แพทองธารถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ การเมืองไทยจะดำเนินไปในทิศทางไหน?

จากความพยายามอย่างสุดฤทธิ์เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า กลับกลายเป็นต่างฝ่ายเผชิญหน้ากันอย่างแข็งกร้าว ทัศนคติต่อกันระหว่างไทยและกัมพูชาเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ด้วยไทยกับกัมพูชามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากมีความเกี่ยวพันแนบชิดในแทบทุกด้าน ดังนั้นการโต้ตอบกันด้วยมาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจทำให้เจ็บตัวด้วยกันทั้งคู่ (ดั่งสำนวนไทยที่ว่า หยิกเล็บเจ็บเนื้อ) หากการเผชิญหน้ากันในครั้งนี้ไม่อาจคลี่คลายปัญหากันอย่างสันติ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจทั้งสองประเทศเสียหาย และหากวิกฤตการณ์บานปลายจนเกิดผลกระทบจากการล้น (Spillover effects) ก็จะยิ่งอันตราย  ในด้านหนึ่ง...การผลักดันการเชื่อมโยงภายในกลุ่มประเทศอินโดจีนซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการบรรลุความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หากการปิดด่านพรมแดนไทยและกัมพูชายังไม่ยุติจนทำให้เกิดการปะทะกัน ก็จะกระทบต่อการพัฒนาและเสถียรภาพรอบอาณาบริเวณอย่างเลวร้าย


ในอีกด้านหนึ่ง การเผชิญหน้าระหว่างไทยและกัมพูชาอาจจะเปิดโอกาสให้กับพวกอำนาจใหญ่จากภายนอกเข้ามาแทรกแซง นอกจากประเทศฝรั่งเศสจ้องที่จะใช้สถานภาพรัฐอำนาจที่เคยควบคุมท้องที่นี้เข้าไกล่เกลี่ยหย่าศึกแล้ว ชาติอื่นยังกระสันที่จะใช้ข้ออ้าง “ไกล่เกลี่ยศึก” เข้ามามีบทบาทในกิจการย่านอินโดจีน

แม้มีการปรับคณะรัฐมนตรีไทย และแพทองธารได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม แต่สาเหตุที่ศาลฯสั่งหยุดการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯแพทองธารนั้นคือ “ความเสี่ยงทางจริยธรรม” ซึ่งเป็นปัญหาที่เป็นสาระสำคัญ ตามรัฐธรรมนูญไทย ผู้ก่อ“ความเสี่ยงทางจริยธรรม” ไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งหมายความว่า แพทองธารจะสามารถอยู่ในคณะรัฐมนตรีต่อไปได้หรือไม่ ยังต้องมีการตีความกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญอีก ในครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งหยุดการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯของแพทองธาร แต่ยังไม่ได้ตัดสินการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจเป็นผู้ริเริ่มการตัดสินในกรณีนี้ และตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมจะเป็นญัตติถกเถียงกันได้หลังวันที่ 3 ก.ค. ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจดำเนินการตัดสินล่วงหน้า

สถานการณ์การเมืองไทยจะพัฒนาไปทางไหน/อย่างไร เป็นเรื่องไม่แน่นอน รัฐบาลแพทองธารยืนอยู่ตรงขอบหน้าผา ทิศทางที่จะไปต่อมีสามทาง ได้แก่ หนึ่ง.แพทองธารลาออกจากตำแหน่งนายกฯ รัฐสภาเลือกตั้งนายกฯคนใหม่ สอง.แพทองธารยุบสภา จัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด และสาม.หากการเมืองตกอยู่ในภาวะชะงักงัน การชุมนุมประท้วงอาจระเบิดเป็นความรุนแรง และทหารก็จะเข้ามาทำรัฐประหารอีก

วิกฤตการเมืองไทยครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของชะตากรรมทางการเมืองของแพทองธารคนเดียวเท่านั้น ยังเป็นวิกฤตของการเมืองไทย ความสัมพันธ์ไทยและกัมพูชายังส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างกว้างไกลและลึกซึ้ง ขณะนี้ประชาคมโลกให้ความสนใจและติดตามสถานการณ์ในไทยจะไปต่ออย่างไรโดยไม่ละสายตา.

หมายเหตุ แปลเก็บความจากรายงานข่าวสื่อจีน อ้างการวิเคราะ์ของ อี๋ว์ไห่ชิว หัวหน้าการวิจัยประเทศไทยของสถาบันวิจัยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในนครคุนหมิง (佩通坦如何走到悬崖边缘:泰国政局未来最有可能出现三种走向)


กำลังโหลดความคิดเห็น