จีนส่งสัญญาณชัดเจน ดำเนินมาตรการตอบโต้แน่ หากชาติคู่ค้ายินยอมทำตามเงื่อนไขของสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ได้รับการลดหย่อนภาษีศุลกากร ทั้งที่เงื่อนไขนั้นขัดต่อกฎระเบียบการค้าโลกและทำให้จีนต้องสูญเสียสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรม
ในแถลงการณ์ของโฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนเมื่อวันเสาร์ ( 28 มิ.ย. ) ระบุว่า จีนจะไม่ยอมรับการบรรลุข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวและจะโต้ตอบอย่างเด็ดขาด โดยจีนขอเชิญชวนทุกฝ่ายให้ร่วมกันแก้ไขข้อขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการค้ากับสหรัฐฯ ผ่านการปรึกษาหารืออย่างเท่าเทียม โดยยึดมั่นกฎระเบียบด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศและระบบการค้าพหุภาคีอย่างมั่นคง
การประกาศจุดยืนของจีนมีขึ้น เมื่อการระงับใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ 90 วันของสหรัฐฯ ใกล้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 9 กรกฏาคมและหลายสิบชาติกำลังพยายามเจรจาเพื่อหวังบรรลุข้อตกลง ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปตามเงื่อนไขที่สหรัฐฯต้องการให้ทันก่อนถึงเส้นตาย มิฉะนั้น ก็จะถูกเรียกเก็บภาษีดังกล่าวในอัตราที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์จะยอมขยายเส้นตายหรือไม่
ทั้งนี้ ทรัมป์ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้กับชาติคู่ค้าที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ในการประชุมสุดยอด G7 ที่แคนาดาช่วงกลางเดือนมิถุนายน อูร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคะยั้นคะยอให้ทรัมป์ร่วมมือกับชาติพันธมิตรในการแก้ไขปัญหาจีนเกินดุลการค้าแทนการเรียกเก็บภาษีเอากับชาติพันธมิตรของสหรัฐฯเอง ตามรายงานของ Politico
นายเหอ เหว่ยเหวิน นักวิจัยอาวุโสแห่งศูนย์จีนและโลกาภิวัตน์ชี้ว่า ข้อเรียกร้องของประธานคณะกรรมาธิการยุโรปละเมิดกฎว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติขององค์การการค้าโลก ( WTO)
ขณะที่ในรายงานข่าวชื่อว่า "Japan to propose 'China countermeasure package' at next US tariff talks." ( "ญี่ปุ่นเตรียมเสนอ 'ชุดมาตรการตอบโต้จีน' ในการเจรจาภาษีศุลกากรสหรัฐฯครั้งต่อไป" ) ของNikkei Asia เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ระบุว่า ญี่ปุ่นจะนำเสนอแพ็กเกจความร่วมมือกับสหรัฐฯ โดยมุ่งเน้นไปที่ห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุหายากของจีนและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้า
การดำเนินการอย่างแข็งกร้าวของทรัมป์กับชาติคู่ค้าผ่านทางมาตรการภาษีมีพิษส่งแค่ไหนนั้น เห็นได้จากกรณีแคนาดา ซึ่งเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ แคนาดาต้องยอมยกเลิกนโยบายภาษีบริการดิจิทัลในที่สุดเพื่อหวังรื้อฟื้นการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯอีกครั้ง หลังจากทรัมป์ล้มโต๊ะเจรจาเมื่อวันศุกร์ ( 27 มิ.ย.) เพราะไม่พอใจนโยบายที่มุ่งเป้าหมายบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯดังกล่าว และทรัมป์ยังขู่กำหนดภาษีศุลกากรในอัตราใหม่กับสินค้าจากแคนาดาอีกด้วย
ข้อมูล : โกลบอลไทมส์/ ซีเอ็นเอ็น