xs
xsm
sm
md
lg

ชายเซี่ยงไฮ้ฟ้องธนาคารโทรขายบัตรเครดิต จนชนะคดีได้เงินชดเชย 5,000 หยวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชายชาวเซี่ยงไฮ้วัย 29 ปีนามว่า "คุณหู" (นามสมมติ) ตัดสินใจยื่นฟ้องธนาคารที่โทรและส่งข้อความโฆษณาอย่างไม่หยุดหย่อน จนสามารถเรียกค่าชดเชยได้ถึง 5,000 หยวน (ประมาณ 25,000 บาท) สร้างเสียงชื่นชมในหมู่ชาวเน็ตจำนวนมาก

คุณหูเคยเป็นลูกค้าของบัตรเครดิตธนาคารเจ้าใหญ่แห่งหนึ่งในจีน และเริ่มได้รับสายโทรศัพท์จากศูนย์บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม 2568 โดยเป็นสายจากหมายเลขทางการของธนาคาร ซึ่งโทรมาเพื่อเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แม้ในช่วงแรกเขาพยายามร้องเรียนผ่านช่องทาง “แพลตฟอร์มคุ้มครองผู้บริโภคด้านการเงิน” และเรียกร้องให้ธนาคารหยุดโทร พร้อมขอให้ผู้บริหารฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาขอโทษและจ่ายค่าชดเชย 200 หยวน (ประมาณ 1,000 บาท) แต่ธนาคารยอมเพียงหยุดการโทร ไม่รับข้อเสนออื่นใด

ในช่วงวันที่ 6–10 มีนาคม คุณหูกลับได้รับข้อความโฆษณาจากธนาคารอีกถึง 3 ข้อความ เขาจึงตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลประชาชนเขตผู่ตงในเซี่ยงไฮ้ โดยเรียกค่าเสียหาย 500 หยวน ต่อมาจึงปรับเป็น 3,000 หยวนหลังศึกษาคำพิพากษาคล้ายคลึงกัน

ธนาคารตอบรับข้อเสนอด้วยการเพิ่มเงินชดเชยเป็น 5,000 หยวน แลกกับการไม่ต้องเขียนคำขอโทษเป็นลายลักษณ์อักษร และเลือกที่จะขอโทษปากเปล่าต่อหน้าศาลแทน


ศาลมีคำวินิจฉัยให้ธนาคารต้องจ่ายค่าชดเชย 5,000 หยวน พร้อมคำขอโทษต่อหน้าศาล โดยคุณหูได้รับเงินโอนเข้าบัญชีในวันที่ 23 มิถุนายน ข้อความระบุว่าเป็น “ค่าชดเชยแก่ลูกค้า”

“ผมไม่ได้มีพื้นฐานทางกฎหมายลึกซึ้ง แต่ผมอยากทำให้ต้นทุนของการโทรก่อกวนสูงขึ้น” คุณหูให้สัมภาษณ์ว่า เขาหวังว่าเหตุการณ์นี้จะทำให้ผู้บริโภคกล้าใช้สิทธิ์มากขึ้น เพราะในหลายกรณี ผู้คนมักทนต่อความรำคาญ หรือระบายใส่พนักงานคอลเซ็นเตอร์แทน

ด้านผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจีนต่างแสดงความยินดีและชื่นชมในการกระทำของเขา โดยหลายคนบอกว่าเคยเจอเหตุการณ์แบบเดียวกันแต่ไม่กล้าดำเนินการ บางคนถึงขั้นขอ “คู่มือการฟ้องร้อง”

ทนายความฝู เจี้ยน จากสำนักงานกฎหมายเหอหนานเจ๋อจิ่น กล่าวว่าสิทธิในความสงบของชีวิตส่วนตัวได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแพ่งมาตรา 1033 ซึ่งห้ามการรบกวนโดยปราศจากความยินยอมไม่ว่าจะทางโทรศัพท์หรือช่องทางอื่นๆ

เขาเสริมว่าการฟ้องร้องของคุณหูถือเป็นคดีตัวอย่างที่ช่วยกระตุ้นให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงผลกระทบ และช่วยส่งเสริมให้สังคมจีนเคารพสิทธิผู้บริโภคมากขึ้น

ทั้งนี้ ทนายความแนะนำให้ผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเดียวกันเก็บหลักฐานให้ครบถ้วน เช่น บันทึกการโทร ข้อความ และไฟล์เสียงสนทนา หากรบกวนจิตใจอย่างรุนแรง ก็สามารถยื่นฟ้องศาลเรียกค่าชดเชยทางจิตใจได้เช่นกัน

ที่มา: 新民晚报, 上游新闻, 话匣子, 微博网友评论


กำลังโหลดความคิดเห็น