นาย อาซิส นาซีร์ซาเดห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอิหร่านเดินทางไปร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ( เอสซีโอ ) นับเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก หลังจากเกิดการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านนาน 12 วัน
เอสซีโอเป็นกลุ่มความมั่นคงระดับภูมิภาค ประกอบด้วย 10 ชาติสมาชิกได้แก่อินเดีย อิหร่าน ปากีสถาน คาซักสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน เบลารุส โดยมีจีนและรัสเซียเป็นหัวหอก เพื่อคานอำนาจกับกลุ่มความมั่นคงที่นำโดยชาติตะวันตก โดยเอสซีโอเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า วิทยาศาสตร์และการทหาร
การประชุมซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นตามวาระการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งประธานเอสซีโอที่เมืองท่าชิงเต่าทางภาคตะวันออกเมื่อ 26 มิ.ย.ครั้งนี้ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของจีนบนเวทีโลก และความสัมพันธ์กับจีนที่อิหร่านให้ความสำคัญ โดยการประชุมเริ่มขึ้น หลังจากอิสราเอลและอิหร่านตกลงหยุดยิงกันได้หนึ่งวัน และยังจัดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการประชุมสุดยอดขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต้ ) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เพิ่งปิดฉาก
นาย ตง จวิ้น รัฐมนตรีกลาโหมของจีนมิได้เอ่ยถึงปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล-อิหร่านในพิธีเปิดการประชุม แต่กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการถ่วงดุลกับโลกที่กำลังอยู่ใน "ความวุ่นวายและไร้เสถียรภาพ " พร้อมกับเตือนชาติสมาชิกให้ดำเนินการอย่างเข้มแข็งมากขึ้นเพื่อร่วมมือกันปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างสันติท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในศตวรรษนี้ รวมถึงการผงาดของลัทธิการใช้อำนาจบาตรใหญ่ฝ่ายเดียวและการกีดกันทางการค้า
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นระบุว่า ถ้อยคำของนายตงเป็นภาษาที่รัฐบาลจีนมักใช้ในการวิพาษ์วิจารณ์สหรัฐฯ
ขณะที่ชาติสมาชิกที่เข้าร่วม "แสดงความสมัครใจแข็งขันในการเสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือทางทหาร" ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว
ด้านนายนาซีร์ซาเดห์แห่งอิหร่าน “แสดงความซาบซึ้งใจที่จีนเข้าใจและสนับสนุนจุดยืนที่ชอบด้วยกฎหมายของอิหร่าน”
นอกจากนั้น เขา “หวังว่าจีนจะยังรักษาความยุติธรรมและเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเพื่อให้การหยุดยิงคงอยู่ต่อไป รวมถึงการคลี่คลายความตึงเครียดในภูมิภาค” ซินหัวระบุ
ทั้งนี้ ถึงแม้จีนยังคงยืนอยู่ข้างสนามความขัดแย้งอิสราเอล-อิหร่าน แต่เจ้าหน้าที่ของจีนก็ออกมาประณามอิสราเอลที่เป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตีอิหร่านก่อนเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ปลิดชีพผู้นำทางทหารของอิหร่านไปหลายคน จนนำไปสู่การยิงขีปนาวุธตอบโต้กัน รวมทั้งประณามสหรัฐฯอย่างรุนแรงที่ทิ้งระเบิดถล่มโรงงานพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยจีนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิงทันที
จีนหนุนหลังอิหร่านด้านเศรษฐกิจและการทูต โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้กระชับความร่วมมือแน่นแฟ้นกับอิหร่าน มีการฝึกซ้อมรบทางทะเลร่วมกัน คัดค้านการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ เป็นเวลานาน และวิพากษ์วิจารณ์การถอนตัวของสหรัฐฯ จากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านฉบับปี 2558
นอกจากนั้นจีนยังเป็นผู้ซื้อพลังงานรายใหญ่สุดของอิหร่าน
ตามรายงานของซีเอ็นเอ็นระบุว่า จีนมีการส่งสารเคมีที่จำเป็นต่อการผลิตเชื้อเพลิงขีปนาวุธ ซึ่งผลิตในจีนให้แก่อิหร่านในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาอีกด้วย
ที่มา : ซีเอ็นเอ็น / เอพี