xs
xsm
sm
md
lg

คลิกคลิป : เรือวิจัยและฝึกอบรมอัจฉริยะลำแรกของโลก ทดสอบระบบนำร่องอัตโนมัติในน่านน้ำแคบสำเร็จตามเป้าหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เรือวิจัยและฝึกอบรมอัจฉริยะลำแรกของโลก “ซินหงจ้วน” ประสบความสำเร็จในการทดสอบศักยภาพการเดินเรืออัตโนมัติในน่านน้ำแคบ และการควบคุมระยะไกล

เรือลำนี้สร้างโดยบริษัทไชน่า คอสโก ชิปปิง คอร์เปอเรชัน ลิมิเต็ด (China COSCO Shipping Corp.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยการเดินเรือต้าเหลียน ที่เมืองต้าหลียน มณฑลเหลียวหนิง มีความยาวประมาณ 70 เมตร ระวางขับน้ำ 1,480 ตัน ภายในเรือติดตั้งห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะและห้องเรียนมัลติมีเดียสำหรับฝึกอบรมนักศึกษาภาคปฏิบัติอย่างครบวงจร

ซินหงจ้วนเป็นเรือที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั้งลำ ใช้ระบบใบจักรหมุนรอบตัว พร้อมระบบนำทางแบบผสาน และระบบอัตโนมัติ ทั้งบนผิวน้ำและใต้น้ำ เพื่อรับรู้สภาพแวดล้อมของการเดินเรืออย่างแม่นยำ

Sun Feng ตัวแทนจากบริษัทผู้ผลิตเรืออธิบายว่า เมื่อป้อนข้อมูลจุดหมายปลายทางลงในแผงควบคุม เรือสามารถเดินทางได้เองโดยอัตโนมัติ

การทดสอบความสามารถของเรืออัจฉริยะมักให้ความสำคัญกับการนำทางในน่านน้ำแคบ ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายทั้งด้านความลึก ความกว้าง และกระแสน้ำ Lyu Hongguang ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยการเดินเรือต้าเหลียน กล่าวว่า การเดินเรือในช่องแคบมีข้อจำกัดมาก ทั้งความลึกไม่สม่ำเสมอและเส้นทางคดเคี้ยว แม้แต่นายท้ายเรือที่มีประสบการณ์ยังต้องระมัดระวังอย่างมาก แต่ด้วยระบบอัจฉริยะรุ่นล่าสุดที่ประมวลผลด้วยอัลกอริธึม AI และกระบวนการตัดสินใจใกล้เคียงมนุษย์ ทำให้เรือนำทางเองได้ตลอดเส้นทางอย่างปลอดภัย

นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงานเมื่อ 1 ปีก่อน เรือซินหงจ้วนผ่านการทดสอบสำคัญหลายรายการ ทั้งการเทียบท่าและออกจากท่าอัตโนมัติ การเดินเรือในทะเลเปิดโดยไม่ใช้คนควบคุม การหลีกเลี่ยงการปะทะกับเรือหลายลำ และการควบคุมจากศูนย์บังคับการบนฝั่ง

เมื่อเปรียบเทียบกับเรือวิจัยประเภทเดียวกันทั่วโลก เรือของจีนลำนี้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทั้งด้านการขยายขีดความสามารถของระบบอัจฉริยะ และการประยุกต์ใช้ AI ในการควบคุมเส้นทางเดินเรืออย่างแม่นยำ Dong Shengli จากสถาบันวิจัยการเดินเรือและการต่อเรือเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ตลอดการทดสอบ ทีมงานปรับปรุงระบบอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง เรือลำนี้สามารถตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมในทะเลและลำน้ำได้อย่างแม่นยำ

ขณะนี้ เรือซินหงจ้วนออกเดินทางจากเมืองต้าหลียน เพื่อร่วมภารกิจจัดแสดงทางวัฒนธรรมตามเส้นทางสายไหมทางทะเล สะท้อนบทบาทใหม่ของการเดินเรืออัจฉริยะในมิติทั้งการศึกษา วิจัย และการเชื่อมโยงวัฒนธรรมระหว่างประเทศ



ที่มา : China Media Group


กำลังโหลดความคิดเห็น