กระแสเศรษฐีจากทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และยุโรป กำลังหลั่งไหลเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์หรูในไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด และกลายเป็นศูนย์รวมการลงทุนและที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีทรัพย์สินสุทธิระดับสูงอย่างรวดเร็ว
จากข้อมูลของ Henley & Partners บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนสำหรับเศรษฐีระดับโลก เปิดเผยว่า ในปี 2567 มีเศรษฐีที่ถือสินทรัพย์สภาพคล่องมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 36.5 ล้านบาท) ย้ายเข้ามาพำนักในประเทศไทยจำนวนประมาณ 300 คน เพิ่มขึ้น 100% จากปี 2566 ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลก แม้จำนวนจะยังน้อยเมื่อเทียบกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (6,700 คน) และสหรัฐอเมริกา (3,800 คน) แต่แนวโน้มการไหลเข้าของกลุ่มมหาเศรษฐีชัดเจนและมีทิศทางขาขึ้นต่อเนื่อง
หนึ่งในนักลงทุนดังกล่าวคือ Kazuyoku ชาวญี่ปุ่นวัย 42 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยพำนักในดูไบมา 3 ปี เขาและครอบครัวย้ายมาอยู่บนชั้นที่ 66 ของโครงการ “King Power Mahanakhon” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ตึกมหานคร” อาคารสูง 314 เมตรซึ่งเป็นหนึ่งในตึกระฟ้าที่โดดเด่นที่สุดในกรุงเทพฯ โดยให้เหตุผลว่า “ค่าครองชีพ อาหาร และระบบการศึกษาที่ดี ทำให้ไทยเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมที่สุด” เขายังระบุว่า ได้ลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในโครงการใหม่มูลค่าประมาณ 427.5 ล้านบาท โดยคาดว่าการเติบโตของตลาดอสังหาฯหรูในกรุงเทพฯ ยังมีโอกาสอีกมาก
ข้อมูลจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ระบุว่า ตั้งแต่มกราคมถึงกันยายน 2567 ชาวต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยรวม 11,036 รายการ โดย 40% เป็นของชาวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ข้อมูลจาก Henley & Partners ยังชี้ว่าจำนวนเศรษฐีจีนที่ย้ายถิ่นฐานออกนอกประเทศพุ่งสูงถึง 15,200 คนในปีนี้ ทำสถิติสูงสุดตลอดกาล ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มการย้ายถิ่นฐานเพื่อหาสภาพแวดล้อมที่มั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
กรุงเทพฯ กลายเป็นสนามแข่งขันอสังหาฯหรูระดับโลก ในย่านสุขุมวิท หนึ่งในทำเลทองของกรุงเทพฯ บริษัท Porsche Lifestyle Group จากเยอรมนี กำลังพัฒนาโครงการคอนโดหรูที่ใช้ชื่อแบรนด์ “Porsche” ซึ่งประกอบด้วยยูนิตพักอาศัยเพียง 22 ยูนิต คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2571 โดยราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 547 ล้านบาท และราคาสูงสุดถึงประมาณ 1,460 ล้านบาท ซึ่งจะกลายเป็นอสังหาริมทรัพย์พักอาศัยที่มีราคาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย
Stefan Buescher ซีอีโอของ Porsche Lifestyle Group กล่าวว่า การเลือกกรุงเทพฯ เป็นฐานแห่งแรกในเอเชียต่อจากเยอรมนีและไมอามี เป็นเพราะศักยภาพของเมืองในการรองรับความต้องการที่พักหรูของกลุ่มผู้มีฐานะสูง และการเข้าถึงที่ดินในทำเลใจกลางเมืองยังทำได้ง่ายกว่าที่เมืองใหญ่แห่งอื่น เช่น โตเกียวหรือเซี่ยงไฮ้
นอกจากนี้ แบรนด์ Baccarat จากฝรั่งเศสก็จับมือกับผู้พัฒนาอสังหาฯรายใหญ่ในไทย พัฒนาโครงการคอนโดระดับซูเปอร์ลักชัวรี ที่มีเพียง 4 ยูนิต ราคาเริ่มต้นประมาณ 234 ล้านบาท ต่อห้อง ส่วนโรงแรมหรู Aman ก็เข้ามาพัฒนาโครงการใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ ต่อเนื่องจากความสำเร็จของโครงการ Azabudai Hills ในโตเกียว
ประเทศต่าง ๆ เริ่มเปิดตัวโครงการวีซ่าเพื่อดึงดูดเศรษฐี โดยสหรัฐฯ ประกาศ “Trump Gold Card” ซึ่งให้ผู้ลงทุน 5 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 182.5 ล้านบาท) ได้สิทธิพำนักถาวร ขณะที่ไทยมีโครงการวีซ่าระยะยาวสำหรับเศรษฐีต่างชาติที่มีทรัพย์สินสุทธิเกิน 1 ล้านดอลลาร์ และมีรายได้ไม่น้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์ต่อปี ส่วนประเทศอื่นอย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซียก็มีโครงการลักษณะคล้ายกัน
อย่างไรก็ตาม บางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และล่าสุดสเปน กลับยกเลิกระบบนี้เพราะกังวลเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ และการฟอกเงิน
ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือดเพื่อดึงดูดกลุ่มเศรษฐีทั่วโลก กรุงเทพฯ กำลังกลายเป็น "เมืองแห่งเศรษฐี" แห่งใหม่ของโลก ต่อจากดูไบและสิงคโปร์
ที่มา: Nikkei Asia