xs
xsm
sm
md
lg

หนุนเศรษฐกิจท่ามกลางสงครามการค้ากับสหรัฐฯ แบงก์ชาติจีนหั่นดอกเบี้ย LPR แบงก์รัฐลดดอกเบี้ยเงินฝาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำนักงานใหญ่ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (PBOC) หรือธนาคารกลางในกรุงปักกิ่ง - ภาพ : รอยเตอร์
ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2567 หวังกระตุ้นให้มีการกู้ยืมเงินจากธนาคารเพิ่มมากขึ้น
 
เมื่อวันอังคาร ( 20 พ.ค.) ธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดี (LPR) ลง 10 bp โดย LPR ประเภท 1 ปีเหลือ 3.0 % เพื่อเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาด และ LPR ประเภทเกิน 5 ปี ซึ่งเป็นอัตราที่ผู้ให้กู้เงินหลายรายใช้เป็นฐานในการคิดอัตราดอกเบี้ยจำนองที่อยู่อาศัย ลดลงเหลือ 3.5 %


เยี่ยน เย่ว์จิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาอี-เฮาส์แห่งประเทศจีน (E-house China R&D Institute) ระบุว่า นโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจะช่วยลดต้นทุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อบ้าน
 
ขณะที่สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การปรับลดดังกล่าวยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นของตลาด และสนับสนุนการเติบโตที่มั่นคงของเศรษฐกิจที่แท้จริง


พนักงานเดินผ่านโลโก้ของธนาคารก่อสร้างแห่งประเทศจีน ( China Construction Bank)  ที่สำนักงานสาขาของธนาคารในเมืองตงกวนในมณฑลกวางตุ้ง - ภาพ : รอยเตอร์
ในวันเดียวกันทางด้านธนาคารซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารอุตสาหกรรมและพาณิชย์แห่งประเทศจีน (Industrial and Commercial Bank of China), ธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งประเทศจีน (Agricultural Bank of China), ธนาคารก่อสร้างแห่งประเทศจีน (China Construction Bank) และธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) และธนาคารเพื่อการสื่อสาร (Bank of Communications) ก็ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา จีนได้มีมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การประกาศแพ็กเกจการผ่อนคลายด้านนโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นความคาดหวังของตลาดและหนุนเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม โดยในส่วนของธนาคารกลาง ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายรายการ รวมถึงการปรับลดอัตราส่วนเงินสำรองขั้นต่ำ (RRR) ของสถาบันการเงินลงร้อยละ 0.5 เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องระยะยาวในตลาด


ที่มา : โกลบอลไทมส์/รอยเตอร์



กำลังโหลดความคิดเห็น