แม้จีนจะสร้างชื่อเสียงในฐานะประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตึกสูงระฟ้าในเมืองใหญ่ ทว่าอีกด้านหนึ่งของความรุ่งเรืองคือเงาของตึกที่สร้างไม่เสร็จ (烂尾楼) ที่เรียกขานกันว่า “ตึกผี” ที่กลายเป็นแผลเป็นกลางเมือง
โครงการเหล่านี้จำนวนมากเริ่มต้นอย่างยิ่งใหญ่ ใช้งบประมาณมหาศาล แต่สุดท้ายกลับหยุดชะงัก ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ สะท้อนปัญหาทางการเงินและการวางแผนพัฒนาเมืองอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
ต่อไปนี้เป็น 10 โครงการระดับชาติที่ล้มเหลว ซึ่งบางแห่งลงทุนไปแล้วถึงกว่า 6 แสนล้านหยวน (ประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท) แต่ยังไม่เสร็จและไม่มีการใช้งาน
1. ตึกตงเหมิน (东门大厦) – เซินเจิ้น
ตั้งอยู่ใจกลางย่านการค้าในเขตหลัวหู เมืองเซินเจิ้น เมืองเศรษฐกิจชั้นนำของจีน ตึกนี้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2540 แต่ต้องหยุดชะงักเพราะปัญหากรรมสิทธิ์ ท่ามกลางทำเลทองที่รายล้อมด้วยรถไฟฟ้า ร้านค้า และโรงเรียน กลับถูกทิ้งร้างมานานกว่า 23 ปี โดยไม่มีหน่วยงานใดสามารถฟื้นฟูให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้
2. โครงการเซียงหยุนกั๋วจี๋ (祥云国际) – สือเจียจวง
โครงการบันเทิงขนาดใหญ่ที่วางแผนเป็นแลนด์มาร์กของเมือง ด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์รัสเซีย หวังดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ต้องยุติกลางคันในปี 2557 หลังผู้พัฒนาโครงการถูกสอบสวนเรื่องการละเมิดกฎหมาย โครงสร้างอาคารครึ่งเดียวถูกทิ้งร้าง เหลือเพียงเปลือกตึกที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลว
3. ตึกจงหง (中弘大厦) – ปักกิ่ง
ตั้งอยู่ในเขตเฉาหยางของปักกิ่ง เป็นโครงการสำนักงานระดับไฮเอนด์ ผู้พัฒนาหวังให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่ แต่หลังจากเริ่มก่อสร้างได้ไม่นาน เงินทุนของโครงการก็ขาดแคลน สุดท้ายต้องยุติการก่อสร้าง แม้ในภายหลังจะมีบริษัทใหม่เข้ามารับช่วง แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการฟื้นฟูอย่างเป็นรูปธรรม
4. ตึกจงสุ่ย (中水大厦) – กว่างโจว
อาคารสูง 43 ชั้นในเขตใจกลางธุรกิจของเมืองกว่างโจว เริ่มสร้างในปี 2537 และแล้วเสร็จโครงสร้างในปี 2542 แต่กลับไม่สามารถเปิดใช้งานได้ เพราะไม่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายและถูกร้องเรียนว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างผิดกฎหมาย ไม่มีนักลงทุนรายใดกล้าเข้ามาแบกรับภาระ
5. ตึก 117 (117大厦) – เทียนจิน
เป็นหนึ่งในตึกที่สูงที่สุดของจีน สูงถึง 117 ชั้น เริ่มก่อสร้างในปี 2551 ด้วยความหวังว่าจะเป็นแลนด์มาร์กระดับประเทศ แต่กลับกลายเป็นโครงการดูดเงินซ้ำซ้อนหลายรอบจนทุนจมเกินรับไหว แม้จะเสร็จในบางส่วน แต่ยอดขายกลับไม่เป็นไปตามคาด เพราะราคาสูงจนเกินกำลังซื้อ
6. โครงการเฟิ่งหวงเต่า (凤凰岛) – ซานย่า
เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์บนเกาะที่มีจุดขายคือ “เมืองแห่งอนาคต” ที่ตั้งโครงการอยู่บริเวณชายหาดในเมืองท่องเที่ยวซานย่า มณฑลไห่หนาน ครบครันด้วยสำนักงาน โรงแรม และสถานบันเทิง แต่ต้องหยุดกลางคันเพราะปัญหาเงินทุนและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้โครงการกลายเป็นเกาะลอยแพกลางเมือง
7. อาคารสุ่ยซือโหลว (水司楼) – กุ้ยโจว
สถาปัตยกรรมไม้แบบชนเผ่าในเมืองเล็ก ๆ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว แต่แม้จะเปิดบริการในปี 2560 ได้เพียงปีเดียวก็ต้องปิดตัวลง เพราะไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างได้ตามเป้า ความหวังที่จะสร้างแลนด์มาร์กส่งเสริมเศรษฐกิจและความภาคภูมิใจของมณฑล
กลับกลายเป็นภาระหนักอึ้งของท้องถิ่น
8. โครงการจงต้าเทียนฮุ่ยเจียหยวน (中达天汇家园) – หนานหยาง
เมื่อ 7 ปีก่อน โครงการนี้เปิดตัวด้วยความหวังจะเป็นหมู่บ้านจัดสรรแห่งใหม่ในเมืองหนานหยาง แต่เพราะรัฐบาลเปิดทางให้พัฒนาเกินพอดี และความต้องการซื้อไม่เพียงพอ ทำให้บ้านขายไม่ออกและกลายเป็นตึกผีในที่สุด
9. โครงการเปี๋ยยังซิ่งฝูเฉิง (别样幸福城) – คุนหมิง
โครงการจัดสรรขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในทำเลทองของเมืองคุนหมิง เริ่มก่อสร้างในปี 2558 และเปิดขายเพียงไม่นานก่อนที่ทุนจะหมด ทำให้โครงการหยุดชะงัก แต่โชคดีที่รัฐบาลท้องถิ่นเข้ามาช่วยฟื้นฟูและส่งมอบบ้านแก่ประชาชนได้ในที่สุด
10. หนานซานกงกวน (南山公馆) – ฉงชิ่ง
โครงการหมู่บ้านวิลล่าระดับหรู เปิดตัวในปี 2551 หวังเจาะตลาดผู้มีอันจะกินของฉงชิ่ง แต่เกิดความผิดพลาดในการบริหารทุน ทำให้โครงการไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ และกลายเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สูญเงินนับพันล้านหยวน
ที่มา: 泌尿外科李冠儒医生