โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ในช่วงเกือบสองเดือนที่ผ่านมานี้คงไม่มีประเด็นร้อนไหนเป็นที่น่าจับตาเท่าประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆพุ่งสูง ขณะที่สินทรัพย์ลงทุนทั่วโลกเกิดการผันผวนหนัก ในช่วงเกือบสิบปีสหรัฐฯและจีนสู้ศึกการค้ากันมาหลายยก ในรอบนี้จีนมีท่าทีที่แข็งกร้าวไม่ยอมให้พญาอินทรีจิกฝ่ายเดียว... “ต่อยมาต่อยกลับไม่โกง” สหรัฐฯและจีนประกาศขึ้นภาษีตอบโต้กันจนทะลุ 100 กว่าเปอร์เซ็นต์! ทำให้สถานการณ์ของทั้งสองประเทศและประเทศอื่นๆที่ได้รับผลกระทบ ตึงเครียดและพยายามหาทางออกในรูปแบบที่ต่างๆกันไป
สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯดูเหมือนจะมีสัญญาณที่คลี่คลายลง เนื่องจากเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จีนและสหรัฐฯ มีการเจรจาระดับสูงด้านเศรษฐกิจและการค้า การเจรจาครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในการหารือที่ได้รับความสนใจมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองประเทศจากปี 2018 เพราะสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในรอบนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังถูกมองว่าเป็น “ตัวชี้วัด” สำคัญของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกด้วย (ไทยก็จับตามองอย่างใกล้ชิด)
นับตั้งแต่เดือนก.พ. 2025 ที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนถึง 145% และจีนตอบโต้กลับด้วยการขึ้นภาษีเช่นกัน ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศลดลงทันที 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และซ้ำเติมความปั่นป่วนในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก การเจรจาครั้งนี้จึงถือเป็นการพบกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยฝั่งสหรัฐฯ ส่งสัญญาณยอมผ่อนปรน ขณะที่จีนยังย้ำจุดยืนว่าจะรักษาระเบียบการค้าโลกและต้องการให้การเจรจาเป็นไปอย่างเท่าเทียมและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
นักวิเคราะห์จีนบางคนมองว่าท่าที “ยืดหยุ่น” ของสหรัฐฯ ดูคล้ายกับเป็นเกมการเมืองมากกว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริง เพราะตอนนี้ต้องรีบลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อในประเทศ ขณะที่จุดยืนที่แข็งกร้าวของจีน แท้จริงแล้วเป็นการตอบโต้ต่อการกดขี่ แสดงให้เห็นว่าจากสถานะของจีนในปัจจุบันไม่ยอมทนต่อการกดขี่อีกต่อไปแล้ว
ค่ายสื่อจีนนำเสนอการวิเคราะห์เบื้องหลังประเด็นต่อรองระหว่างจีนและสหรัฐฯว่า เป็นไปได้อย่างสูงที่จะมุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม เทคโนโลยี และการเปิดตลาด ได้แก่ ด้านความร่วมมือภาคการเกษตรจีนอาจขยายการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดดุลการค้า ด้านกำแพงทางเทคโนโลยี สหรัฐฯ กดดันให้จีนเปิดตลาดเทคโนโลยีขั้นสูง ด้านบริการทางการเงิน การลงทุนของภาคธุรกิจระหว่างกันอาจจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะบริษัทรายใหญ่ เช่น Tesla และ Apple ที่อาจได้รับโอกาสใหม่ในตลาดจีน ขณะที่ธุรกิจจีนในสหรัฐฯได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม
ในสงครามการค้าระหว่างสองประเทศนี้ การต่อสู้ในภาคเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญจีนมองว่าสหรัฐฯ อาจใช้คำว่าความร่วมมือ เพื่อปิดบังจุดประสงค์ที่แท้จริง (ต้องการจำกัดอิทธิพลของจีน) จีนเองต้องตั้งการ์ดและพยายามปกป้องเทคโนโลยีหลักเอาไว้ แต่ก็ต้องเปิดกว้างในระดับหนึ่งไปด้วย
ความมั่นใจของจีนในการเจรจากับสหรัฐฯครั้งนี้ มาจากปัจจัยต่างๆ...หนึ่งคือ เศรษฐกิจในประเทศที่ยังพอต้านและแข็งแกร่งพอ โดยไตรมาสแรกของปีนี้ GDP จีนเติบโต 5.4% มูลค่าการค้าระหว่างประเทศรวม 43 ล้านล้านหยวน มูลค่าการเจรจาซื้อขายในงานแสดงสินค้ากวางเจา (Canton Fair) ที่ผ่านมาทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สองคือ หนี้สุทธิของสหรัฐฯ ที่สูงถึง 24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นระเบิดเวลาของเศรษฐกิจโลก ปริมาณขนส่งสินค้าทางท่าเรือของสหรัฐฯร่วงหนัก อัตราเงินเฟ้อสูงต่อเนื่อง ประชาชนและเอกชนสหรัฐได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากสงครามการค้า ทำให้ในใจสหรัฐฯคงอยากรีบที่จะเจรจาแก้ปัญหา จีนยังคงถือมั่นในแนวทาง “เสถียรภาพ” ขณะที่สหรัฐฯ มีสไตล์แนวคิดและการบริการจัดการที่ต่างกัน ผู้เขียนมองว่าช่วงนี้ทั้งสองประเทศกำลังอยู่ในช่วงการหยั่งเชิงกันอยู่
ผลการเจรจาเบื้องต้นของทั้งสองประเทศ ณ กรุงเจนีวา คือทั้งสองฝ่ายระงับมาตรการภาษีตอบโต้ชั่วคราว 90 วัน โดยจีนลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯเหลือ 10% จากเดิมที่ 125% สำหรับสหรัฐฯลดภาษีนำเข้าจากจีนลงเหลือ 30% จากเดิมที่ 145% จากแนวโน้มสถานการณ์ที่เหมือนจะผ่อนคลายดังกล่าวทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดีดตัวขึ้นทันที ราคาทองร่วง จากการร่วมมือของทั้งสองประเทศไปที่เป็นไปในเชิงบวก
ผู้เขียนมองว่าในสงครามการค้ารอบนี้ จีนมีความมั่นใจและกล้าจะเผชิญหน้ามากกว่าช่วงปี 2018 อยู่มาก จากการติดตามข่าวและเพจต่างๆของจีนที่ออกมาวิเคราะห์ ก็มองว่าจีนมี “ภูมิต้านทาน” ที่จีนเรียกว่า “底气” อ่านว่า ตี่ชี่ ที่สูงมากพอ ดังต่อไปนี้
ประการแรก ระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพสูงของจีน สร้าง “ความมั่นคงเชิงยุทธศาสตร์” การนำแบบรวมศูนย์และเป็นเอกภาพของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แตกต่างจากประเทศตะวันตกที่การเปลี่ยนพรรคการเมืองจะนำไปสู่ความไม่แน่นอนและความผันผวนของนโยบาย จีนยังคงยึดเป้าหมาย “สองร้อยปี” (สองเป้าหมายระยะยาวของประเทศ) เป็นแกนหลักในการวางยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สหรัฐฯ ส่ายไปมาในแนวทางที่แตกต่างกันระหว่างทรัมป์กับไบเดน จีนได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ไปสู่มีบทบาทเชิงรุกได้เพราะความต่อเนื่องทางการเมือง ที่ทำให้จีนสามารถรับมือกับการต่อสู้เชิงยุทธศาสตร์ที่กินเวลานานนับสิบปีได้เช่นกัน เช่น สงครามการค้ากับสหรัฐฯในรอบแรกเมื่อปี 2018 ได้สร้างความระแวดระวังและเตรียมตัวรับมือกับสงครามการค้าในอนาคต
ประการที่สอง โครงสร้างเศรษฐกิจจีนที่ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรม กลายเป็นแนวป้องกันให้จีนได้อย่างดี จีนมีระบบอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์แบบครอบคลุม 41 ประเภทในอุตสาหกรรมหลัก, 207 ประเภทในอุตสาหกรรมระดับกลาง และ 600 ประเภทในอุตสาหกรรมระดับย่อย โครงสร้างเศรษฐกิจขนาดใหญ่เช่นนี้ทำให้จีนกลายเป็นเศรษฐกิจที่มีภูมิคุ้มกันในตัวสูง จากผลิตภัณฑ์หลายประเภทที่สหรัฐฯพยายามกดดันไม่ส่งออกให้จีน ทำให้จีนดำเนินกลยุทธ์การทดแทนด้วยผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ เช่น จีนพัฒนาในด้านเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) และเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลในปี 2023 แสดงถึงมูลค่าเพิ่มจากการผลิตของจีน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ของทั้งโลก ซึ่งเท่ากับสัดส่วนฯของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเยอรมนีรวมเข้าด้วยกัน ความแตกต่างในระดับนี้ ทำให้แนวคิดการแยกตัวทางเศรษฐกิจหรือการตัดขาดห่วงโซ่อุปทาน ของสหรัฐฯ จะส่งผลเสียต่อสหรัฐฯมากกว่าผลดี
ประการต่อมา การผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลที่จีนพยายามมาตลอดเริ่มเห็นผล ระบบชำระเงินข้ามพรมแดนของจีน ขณะนี้ครอบคลุมแล้วกว่า 180 ประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกัน เงินหยวนดิจิทัล ก็อยู่ในขั้นทดลองที่นำหน้าทุกประเทศในโลก กระแสความเคลื่อนไหวของประเทศผู้ส่งออกในการ “ลดการพึ่งพาดอลลาร์” (de-dollarization) ก็กำลังหันเหไปในทิศทางที่สอดรับกับแนวทางของจีนผ่านการซื้อขายน้ำมันด้วยเงินหยวน ขณะเดียวกันจีนได้ทยอยลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จากระดับสูงสุดในปี 2013 ที่ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ลงเหลือต่ำกว่า 800,000 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน อีกทั้งธนาคารกลางจีนยังเพิ่มปริมาณทองคำสำรองต่อเนื่องติดต่อกันมาเป็นปีแล้ว กลยุทธ์เชิงลดการพึ่งพิงของจีนนี้ ได้ทำให้ สหรัฐฯ สูญเสียเครื่องมือทางการเงินที่ทรงอิทธิพลที่สุดไปอย่างเงียบๆ
ศักยภาพทางการทหารและเทคโนโลยีของจีนก็เป็นที่ประจักษ์ กองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) มีกองกำลังขีปนาวุธที่มีความก้าวหน้าด้วยขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกตงฟง-17 (DF-17) สายการผลิตเครื่องบินขับไล่ล่องหน (สเตลท์) เจี้ยน-20 (J-20) ที่มีศักยภาพสูง แสดงให้เห็นว่าจีนได้สร้างระบบอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้แบบเกือบ 100% ด้วยตนเอง จีนจึงได้เปรียบเชิงโครงสร้างในด้านอธิปไตยและอุตสาหกรรมทหาร
ด้านเทคโนโลยีที่โดดเด่น เช่น ระบบดาวเทียมเป่ยโต่ว ซึ่งครอบคลุมทั่วโลก การกำหนดมาตรฐานการส่งไฟฟ้าระดับแรงดันสูง (UHV) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล บริษัทหัวเว่ย (Huawei) ของจีนลงทุนในการวิจัยและพัฒนามากกว่า 238,000 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี และ DJI บริษัทผลิตโดรนชั้นนำของจีน ครองส่วนแบ่งตลาดโดรนทั่วโลกแล้วถึง 70% ปัจจุบัน 5G และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของจีนก็มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก การพัฒนาภายในของจีนเป็นอิสระจากการถูกควบคุมโดยสหรัฐ
ประการสุดท้ายคือ แร่ธาตุหายาก (Rare Earth) ถูกขนานนามว่าเป็นอาวุธต่อรองทางเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งในด้านครอบครองแหล่งแร่และเทคโนโลยีการแปรรูปในห่วงโซ่อุปทานมากกว่า 80-90% ของโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ต่างพึ่งพาการนำเข้าแร่หายากจากจีนอย่างมาก เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น พลังงานสะอาด (กังหันลม รถยนต์ไฟฟ้า) , อาวุธยุทโธปกรณ์ (ระบบนำวิถี เรดาร์) และเทคโนโลยีขั้นสูง (สมาร์ตโฟน ชิปคอมพิวเตอร์) จีนควบคุมห่วงโซ่อุปสงค์อยู่ แม้บางประเทศมีแร่หายากในปริมาณมาก แต่ยังไม่มีความสามารถในการสกัดหรือแปรรูป จีนจึงถือไพ่เหนือกว่าทางเทคโนโลยี ดังนั้นหากเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จีนสามารถใช้แร่หายากเป็นเครื่องมือกดดัน ทำให้ประเทศที่พึ่งพาต้องกลับมานั่งโต๊ะเจรจา แม้ประเทศพัฒนาแล้วกำลังเร่งผุดแหล่งแร่หายาก เช่น สหรัฐฯ ลงทุนในเหมืองแร่หายากภายในประเทศและพัฒนาการแปรรูป แต่ในระยะสั้น จีนยังถือไพ่เหนือกว่า ในฐานะผู้เล่นหลักของโลก
ปัจจุบันอาวุธต่อรองทางเศรษฐกิจของจีนมีหลายรูปแบบ ครอบคลุมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยี ตลาดบริโภค และห่วงโซ่อุปทานระดับโลก จีนสามารถใช้สิ่งเหล่านี้เป็น “เครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์” เพื่อเจรจาต่อรองหรือกดดันประเทศอื่นในยามจำเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในมุมของสงครามการค้าจีนกับสหรัฐฯ ผู้เขียนมองว่าทั้งสองประเทศอยู่ในช่วงของการพักยกการต่อสู้แต่ความเสี่ยงต่างๆในอนาคตก็ยังคงมีอยู่……ต้องจับตากันต่อไป