xs
xsm
sm
md
lg

คาดจีนปล่อย “แร่หายาก” ให้ลูกค้ามะกันไปผลิตชิปเร็วๆ นี้ แต่เรื่องคงไม่ง่ายไปเสียทั้งหมด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รถบรรทุกกำลังขนตู้สินค้าที่ท่าเรือเยี่ยนเถียนในเมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568 – ภาพ : รอยเตอร์
ข้อตกลงพักรบสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีนเมื่อวันจันทร์ ( 12 พ.ค.) ทำให้ใบอนุญาตส่งออกแร่หายาก (Rare earth) สำหรับลูกค้าอเมริกัน น่าจะได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์จีนง่ายขึ้น แต่การยกเลิกข้อจำกัดในการส่งออกทั้งหมดเลยนั้นคงเป็นไปไม่ได้ แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมจีน 2 คนเปิดเผยกับรอยเตอร์

รัฐบาลจีนได้ขึ้นบัญชีควบคุมแร่ธาตุหายากเพิ่มอีก 7 ชนิดเมื่อเดือนเมษายน 2568 เพื่อตอบโต้การขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯโดยผู้ส่งออกจะต้องยื่นขอใบอนุญาต เป็นข้อกำหนดที่ใช้กับทุกประเทศ แต่ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนนั้น โอกาสที่ลูกค้าอเมริกันจะได้รับใบอนุญาตส่งออกย่อมไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ขนาดระดับอีลอน มัสก์เองยังกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า บริษัทเทสล่ากำลังเจรจากับทางการจีนเพื่อขอใบอนุญาตส่งออกแร่ธาตุหายากสำหรับกระบวนการผลิตหุ่นยนต์ออปติมัส ( Optimus ) ของเทสล่า

 
แหล่งข่าวทั้งสองคาดว่า ข้อตกลงพักรบอาจทำให้กระทรวงพาณิชย์จีนเร่งดำเนินการอนุมัติ ซึ่งตามทฤษฎีแล้วจะใช้เวลาราว 45 วัน โดยผู้ส่งออกซึ่งมีลูกค้าอยู่ในสหรัฐฯอาจได้รับใบอนุญาต ในเร็วๆ นี้

 
ส่วนการยกเลิกข้อจำกัดในการส่งออกทั้งหมดซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้นั้น แหล่งข่าวมองว่าเป็นเพราะการควบคุมแร่หายากเพิ่ม 7 ชนิดเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการชุดใหญ่ที่ครอบคลุมกว่า ซึ่งรัฐบาลจีนออกแบบมาเพื่อให้สามารถควบคุมแร่ธาตุสำคัญต่างๆ ได้มากขึ้น

 
ด้านไชน่าเดลีรายงานว่า จีนประกาศเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการส่งออกแร่ธาตุเชิงยุทธศาสตร์ "ทุกขั้นตอน" โดยเน้นเป็นพิเศษที่การปราบปรามการลักลอบขนทรัพยากรสำคัญเหล่านี้และเพิ่มการตรวจสอบศุลกากรที่ท่าเรือ

 
ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้มีขึ้นในการประชุมระหว่างหน่วยงานระดับสูง ซึ่งนำโดยสำนักงานประสานงานควบคุมการส่งออกแห่งชาติเมื่อวันจันทร์ ( 12 พ.ค. ) วันเดียวกับการประกาศพักรบ การเข้มงวดกฎระเบียบเกี่ยวกับการส่งออกแร่เชิงยุทธศาสตร์ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทรัพยากรเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติและผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของจีน


ทั้งนี้ จีนเป็นซัปพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับแร่ธาตุเชิงยุทธศาสตร์จำนวนหลายสิบชนิด โดยต่อมาในปี 2566 จีนได้เริ่มกำหนดข้อจำกัดในการส่งออกแร่ธาตุบางชนิด ซึ่งจำเป็นสำหรับภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่การผลิตชิป การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ไปจนถึงการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศ


ในขณะที่สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่อาจถูกตัดหนทางในการได้แร่ธาตุสำคัญเหล่านั้น เนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้าแร่ธาตุหายากส่วนใหญ่จากจีน



กำลังโหลดความคิดเห็น