เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคมตามเวลาในประเทศจีน (ตรงกับเวลา 03.00 น. ของสหรัฐฯ) กลุ่มผู้นำเข้าและผู้ค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาได้รับข่าวดีที่รอคอยมาหลายสัปดาห์ เมื่อมีรายงานว่ารัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์เตรียมปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากก่อนหน้านี้ประกาศเก็บภาษีสินค้าจากจีนบางรายการในอัตราสูงถึง 145% ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนมากระงับการนำเข้าสินค้าจากจีนชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงต้นทุนมหาศาล
เจย์ โฟร์แมน (Jay Foreman) ซีอีโอบริษัทของเล่น Basic Fun ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐฟลอริดา เผยว่าเขาต้องระงับการนำเข้าตุ๊กตาหมีและรถของเล่น Tonka จากจีนจำนวนมากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะไม่สามารถแบกรับภาษีระดับ 145% ได้
แต่ทันทีที่เขาได้รับการแจ้งทางโทรศัพท์ในช่วงเช้ามืดว่า ทรัมป์จะลดภาษีนำเข้าอย่างมาก โฟร์แมนก็รีบลุกกระโดดลงจากเตียงและโทรหาผู้ผลิตในจีนทันที เพื่อเร่งให้ออกของและจัดส่งสินค้า “เราต้องลงมือทันที โทรหาบริษัทขนส่งจีนให้ไปรับสินค้าที่โรงงาน และรีบจองตู้คอนเทนเนอร์ก่อนที่คนอื่นจะแย่งไป” โฟร์แมนกล่าว
ไม่เพียงแต่โฟร์แมน ผู้บริหารหลายรายในสหรัฐฯ ต่างมีปฏิกิริยาแบบเดียวกัน มาร์ก บาโรคัส (Mark Barrocas) ซีอีโอของ SharkNinja เฝ้าติดตามข่าวผลการเจรจาเศรษฐกิจ-การค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนตลอดคืนวันอาทิตย์ จนกระทั่งในเช้ามืดวันจันทร์ก็ได้รับข่าวดี เขาจึงรีบแจ้งโรงงานในจีนให้ปล่อยสินค้า เช่น เครื่องชงกาแฟและเครื่องทำเครื่องดื่มแช่แข็งที่ถูกกักไว้ก่อนหน้านี้หลายร้อยตู้คอนเทนเนอร์
แม้ว่าภาษีที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ 30% จะยังเป็นภาระต่อธุรกิจ แต่ผู้ประกอบการหลายรายมองว่าเป็นข่าวใหญ่ที่น่ายินดียิ่งในภาวะสงครามการค้าที่สหรัฐและจีนขึ้นภาษีโต้ตอบกันเอาเป็นเอาตายหยุดโลกการค้าเลยเช่นนี้
สตีฟ กรีนสปอน (Steve Greenspon) ซีอีโอ Honey-Can-Do International ซึ่งเป็นบริษัทของใช้ในบ้าน กล่าวว่า “หากในสถานการณ์ปกติ ภาษี 30% ถือว่าหนักหนา แต่เมื่อเทียบกับ 145% ที่เคยประกาศก่อนหน้า ถือว่าเป็นข่าวดีมาก”
มอนตี ชาร์มา (Monty Sharma) ซีอีโอ Therabody ผู้ผลิตอุปกรณ์สุขภาพ บอกว่า “ในอาชีพ 40 ปี ผมไม่เคยดีใจกับต้นทุนเพิ่มขึ้นขนาดนี้มาก่อนเลย”
บริษัทเสื้อผ้า CMCBrands มีสินค้าค้างในจีนอยู่ถึงสองตู้คอนเทนเนอร์ เป็นเสื้อแจ็กเก็ตและชุดกีฬา ซีอีโอ เอลเลน บริน (Ellen Brin) วางแผนจัดส่งสินค้าทันที พร้อมประสานลูกค้าเรื่องการแบ่งรับต้นทุนภาษี โดยกล่าวว่า “แม้ตอนนี้จัดส่งทันที ก็ยังอาจถึงช้ากว่าปีก่อน แต่หากเราช้าไปกว่านี้ สินค้าฤดูใบไม้ร่วงจะไม่ทันขาย และลูกค้าอาจเปลี่ยนใจไปซื้อเจ้าอื่น”
โฟร์แมนจาก Basic Fun เสริมว่า แม้ภาษี 30% ยังคงเป็นภาระสำหรับบริษัทขนาดกลาง แต่ก็ยังสามารถรับมือได้ โดยอาจต้องขึ้นราคาสินค้าในระดับผู้บริโภคอีกประมาณ 15% และหารือกับผู้ค้าปลีกเรื่องการแบกรับภาระร่วมกัน
การแถลงลดภาษีศุลกากรของสองชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจ ไม่เพียงฟื้นชีพการขนส่งสินค้าทางเรือไปยังสหรัฐฯที่ถูกแช่แข็งในช่วงสงครามภาษีเดือดพล่าน ยังเกิด “ศึกใหญ่แย่งระวางเรือบรรทุกสินค้าในภาคโลจิสติกส์ข้ามประเทศ”
ผู้ช่วย ผู้จัดการ “ซินไห่เป้ากวน” บริษัทตัวแทนออกของ(Customs Broker) แห่งใหญ่สุดในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าบริษัทส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้าระงับการส่งออกไว้ เริ่มวางแผนกลับมาฟื้นการส่งออกแล้ว แต่ปัญหาในตอนนี้คือการแย่งชิงระวางเรือบรรทุกสินค้า จึงจะสามารถดำเนินการขนส่งสินค้าได้ตามปกติ และเนื่องจากตอนนี้การตุนสินค้าของผู้ประกอบการสหรัฐฯมีแนวโน้มสูงมาก ทำให้การส่งออกในเวลาสั้นๆเพิ่มกระฉูดอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การแย่งจองระวางเรือบรรทุกสินค้าจะเดือดมาก ”
ตลาดทุนสหรัฐฯ ตอบสนองทันทีต่อข่าวดีเรื่องภาษี โดยดัชนีหุ้นปรับตัวสูงขึ้น เงินดอลลาร์แข็งค่า และนักลงทุนเริ่มลดความคาดหวังว่าเฟดจะต้องรีบลดดอกเบี้ย เพราะแรงกดดันด้านต้นทุนลดลง
แม้ข่าวลดภาษีจะสร้างความคึกคัก แต่ความท้าทายยังคงอยู่ ผู้ประกอบการต้องเร่งจัดส่งสินค้าให้ทันช่วงผ่อนปรน 90 วันก่อนที่จะมีการทบทวนอัตราภาษีอีกครั้ง โดยปกติการขนส่งจากท่าเรือจีนไปยังชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ใช้เวลาประมาณ 2–3 สัปดาห์ ทำให้เวลาเหลือไม่มากนัก
ยีน เซโรกา (Gene Seroka) ผู้อำนวยการท่าเรือลอสแอนเจลิส คาดว่าในระยะ 2–3 สัปดาห์นี้จะยังไม่เห็นปริมาณการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นมาก เพราะผู้ค้าปลีกจำนวนมากได้สต็อกสินค้าล่วงหน้าไปแล้วก่อนการขึ้นภาษีในเดือนเมษายน
ข้อมูลจากบริษัท Vizion และ Dun & Bradstreet เผยว่า ในช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา คำสั่งซื้อขนส่งทางเรือจากจีนไปยังสหรัฐฯ ลดลง 45% จากปีที่แล้ว ขณะที่ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือลอสแอนเจลิสลดลง 31% และจำนวนเรือที่เทียบท่าลดลง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567
อย่างไรก็ตาม หากคำสั่งซื้อมากขึ้นในเวลาอันสั้น อาจส่งผลให้บริษัทเดินเรือต้องปรับตารางการขนส่ง และอาจเกิดปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ค่าขนส่งพุ่งขึ้นถึง 20% ตามการประเมินของปีเตอร์ แซนด์ (Peter Sand) นักวิเคราะห์จากบริษัท Xeneta
ที่มาข่าว: 财联社