สหรัฐอเมริกาและจีนตกลงระงับการขึ้นภาษีศุลกากรสูงลิ่วตอบโต้กันเป็นเวลา 90 วัน จากการเปิดเผยของทั้งสองฝ่ายเมื่อวันจันทร์ ( 12 พ.ค.) ภายหลังเสร็จสิ้นการเจรจาเพื่อหวังคลี่คลายความขัดแย้งทางการค้าระหว่างกันที่นครเจนีวาช่วงสุดสัปดาห์
ตามข้อตกลงชั่วคราวนี้ระบุว่า ภายในวันที่ 14 พฤษภาคม สหรัฐฯ จะลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนลงชั่วคราวจาก 145% เหลือ 30% ในขณะที่จีนจะลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ลงจาก 125% เหลือ 10%
ทั้งนี้ การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กันของชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทั้งสองส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ โดยในส่วนของสินค้าประเภทของเล่นที่ผลิตในจีนนั้น 80 % ส่งไปขายยังสหรัฐอเมริกา ตามข้อมูลสมาคมของเล่น (Toy Association)
นาย เจสัน เฉิง พลเมืองอเมริกันเชื้อสายจีน วัย 45 ปี เจ้าของและซีอีโอของบริษัทฮันตาร์อิงก์ ( Huntar Company Inc.) สัญชาติอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตของเล่นเพื่อการศึกษาเปิดเผยว่า เขามีโรงงานผลิตอยู่ในเมืองเสากวน มณฑลกวางตุ้ง โดย ในวันที่มาตรการภาษีมีผลบังคับใช้คือ 9 เมษายน 2568 นั้น ลูกค้าส่งอีเมลยกเลิกคำสั่งซื้อของเล่นเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
แต่เขาได้หยุดการผลิตที่โรงงานขนาด 600,000 ตารางฟุตไปก่อนหน้าแล้ว เพราะมองเห็นภัยคุกคามของมาตรการภาษีต่อการอยู่รอดของบริษัท โดย ในช่วงสี่สัปดาห์นับจากการประกาศมาตรการภาษี เขาได้ลดการผลิตลง 60% ถึง 70% เลิกจ้างคนงานชาวจีน 1 ใน 3 จากทั้งหมด 400 คนในโรงงาน และลดชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างให้กับผู้ที่ยังทำงานอยู่ เพื่อพยายามออมเงินโดยเร็วที่สุด และขณะนี้กำลังมองหาลู่ทางย้ายการผลิตไปยังเวียดนาม ก่อนที่เงินจะหมด ซึ่งน่าจะมีเวลาอีกประมาณหนึ่งเดือน
ฮันตาร์เป็นธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐฯ ก่อตั้งเมื่อ 42 ปีก่อน โดยบิดาของเฉิงซึ่งเป็นผู้อพยพชาวจีน ปัจจุบันมีพนักงานในสหรัฐฯ 15 คน โดยโรงงานที่กวางตุ้งผลิตของเล่นให้กับผู้ขายในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป วิกฤตของฮันตาร์เป็นสภาพการณ์เดียวกับที่โรงงานนับไม่ถ้วนบนแดนมังกรกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
แนวโน้มที่โรงงานในจีนจะต้องปิดตัวลงคือเหตุผลที่ผลักดันให้รัฐบาลจีนยอมเจรจากับสหรัฐฯ ที่นครเจนีวาเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนั้น จีนไม่สามารถหาตลาดอื่นมาทดแทนสหรัฐฯได้สำหรับสินค้าประเภทของเล่น เฟอร์นิเจอร์และสิ่งทอ ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าว ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่คุ้นเคยกับแนวทางของรัฐบาลจีน 3 คนระบุ
ที่มา : ซีเอ็นเอ็น/รอยเตอร์