xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : แดนมังกรพัฒนารวดเร็ว...ทำไมคนจีนจำนวนมากยังอยากออกนอกประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ไทยอิลิทการ์ด” ที่ออกให้กับนักท่องเที่ยวระยะยาวเป็นที่สนใจและขายดีในหมู่ชาวจีนอย่างมาก บัตรเดียวมีสิทธิหลายอย่าง --ภาพจาก เวยปั๋ว
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

ในช่วงนี้กระแสข่าวคนจีนใช้ช่องโหว่ฟรีวีซ่าลักลอบเข้ามาทำงานในไทยค่อนข้างมาก จนกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในช่องสื่อต่างๆ ทำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า “ในเมื่อประเทศจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก จนปัจจุบันสามารถจะพอต่อกรกับสหรัฐฯได้ แล้วทำไมคนจีนจำนวนมากยังอยากจะหาหนทางออกไปทำงานหาเงินในต่างประเทศ ?” รายงานข่าวในกลุ่มค่ายสื่อของจีนมีการเผยกระแสคนจีนออกไปเรียนและทำงานต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นในแต่ละปี โดยมีข่าวหนึ่งพาดหัวไว้น่าสนใจว่า “คลื่นคนมหาศาลเหมือนทะเลมนุษย์ ต่อแถวออกนอกประเทศ” (排队出国人山人海)

รายงานสถิติการโยกย้ายถิ่นฐานทั่วโลก ปี 2024 ซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานด้านประชากรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า จีนได้กลายเป็นประเทศที่มีผู้อพยพไปต่างประเทศมากเป็นอันดับสามของโลก เป็นรองเพียงอินเดียและเม็กซิโก ณ สิ้นปี 2024 จำนวนชาวจีนโพ้นทะเลเพิ่มขึ้นทะลุ 12.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 18% เมื่อเทียบกับปี 2020 และรายงานแนวโน้มการโยกย้ายและการอพยพของประชากรจีน ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยประชากรและเศรษฐกิจแรงงานแห่งชาติจีนเมื่อปลายปี 2024 ระบุว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการอพยพออกนอกประเทศของชาวจีนมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างชัดเจน แตกต่างจากคลื่นการอพยพในอดีตที่เน้นแรงงานไร้ฝีมือ ปัจจุบันกลุ่มผู้อพยพส่วนใหญ่กลับเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาสูงและมีรายได้ดี จากข้อมูลในรายงานพบว่า ในกลุ่มผู้อพยพใหม่หลังปี 2020 ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีสัดส่วนสูงถึง 68.3% ครอบครัวที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 500,000 หยวน (ประมาณ 2.5 ล้านบาท) คิดเป็น 43.7%

จากการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากผู้เชี่ยวชาญจีนได้สรุปว่ามีสองสาเหตุหลักที่ทำให้คนจีนยุคใหม่ตัดสินใจย้ายถิ่นคือ ความต้องการด้านการศึกษา และ การแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจัยเหล่านี้กำลังเป็นแรงจูงใจใหม่ของการอพยพของชาวจีนอย่างมีนัยสำคัญ

“การศึกษา” ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการตัดสินใจอพยพในจีนยุคปัจจุบัน
จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการจีนระบุว่า ในปี 2023 จีนมีนักเรียนไปศึกษาต่อต่างประเทศถึง 703,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ สัดส่วนนักเรียนอายุต่ำกว่า 18 เพิ่มขึ้นจาก 12% ในปี 2015 เป็น 23% ในปี 2023 ทีมวิจัยจากคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยประชาชนแห่งประเทศจีน ได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกครอบครัวผู้อพยพจำนวน 500 ครอบครัว พบว่าความกังวลหลักต่อระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานในจีน มีอยู่ 3 ประเด็น คือ ความเครียดทางวิชาการสูงเกินไป, รูปแบบการเรียนรู้ที่มีความเป็นมาตรฐานสูง (ขาดความยืดหยุ่น), ขาดการส่งเสริมมุมมองแบบสากล (เพราะเหตุผลของการเมืองการปกครองจีนยังปิดกั้นในหลายเรื่อง)

อินฟลูฯจีนแนะแนววิธีการหางานทำที่ไทย --ภาพจาก Bilibili
ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจีนท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า “แม้ระบบการศึกษาจีนในปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพมากในการถ่ายทอดความรู้ แต่กลับมีจุดอ่อนในด้านการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ และความสามารถข้ามวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ครอบครัวรายได้สูงจำนวนมากให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง”

เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนครอบครัวในจีนส่วนใหญ่เน้นส่งลูกไปเรียนต่างประเทศเพื่อโอกาสด้านการทำงาน แต่ปัจจุบันครอบครัวเหล่านั้นหันมาให้ความสำคัญกับประสบการณ์ทางการศึกษาโดยรวมมากขึ้น โดย 83.7% ของผู้ปกครองหวังว่าบุตรหลานจะได้รับการพัฒนารอบด้านผ่านการเรียนในต่างประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อความได้เปรียบในการหางานเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดด้านการศึกษานี้กอปรกับการที่ครอบครัวจีนมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น จึงทำให้ “การย้ายถิ่นเพื่อการศึกษา” กลายเป็นทางเลือกใหม่ของครอบครัวชนชั้นกลาง

การศึกษาไม่ใช่เพียงเครื่องมือเพื่อหางานที่ดีขึ้น แต่กลายเป็นเส้นทางในการสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับโลก และทักษะการใช้ชีวิต การอพยพจึงไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่กลายเป็นกลยุทธ์ด้านรูปแบบชีวิตของครอบครัว จากการสำรวจครอบครัวชาวจีนจำนวน 3,000 ครอบครัวที่มีแนวโน้มที่จะส่งบุตรหลานไปต่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยศูนย์สำรวจทางสังคมของ China Youth Daily ในปี 2024 พบว่า 83.2% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าระบบการศึกษาต่างประเทศเน้นการปลูกฝังความสามารถในการคิดอย่างเป็นอิสระให้กับเด็กมากกว่า, 71.8% เห็นว่าการศึกษาต่างประเทศมีความเครียดน้อยกว่าและช่วยพัฒนาเด็กอย่างรอบด้าน, และ 69.3% ให้ความสำคัญกับบรรยากาศทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของการศึกษาต่างประเทศ

นอกเหนือจากเหตุผลด้านการศึกษาแล้ว “การแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ก็กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการอพยพของชาวจีนจำนวนมากเช่นกัน จากการวิจัยร่วมกันระหว่าง ภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยชิงหัว และ มหาวิทยาลัยโตรอนโตประเทศแคนาดา พบว่า เกือบ 60% ของผู้อพยพจีนที่มีฐานะระดับมั่งคั่งระบุว่า “ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า” เป็นเหตุผลหลักในการย้ายถิ่น ซึ่งครอบคลุมหลายด้าน เช่น คุณภาพของสิ่งแวดล้อม บริการด้านสุขภาพ ความสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตส่วนตัว ฯลฯ

หากมองในสถานการณ์ปัจจุบันถึงแม้ว่าจีนจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดด จำนวนชนชั้นกลางในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาของจีนคือความเหลื่อมล้ำที่ยังมีมาก คุณภาพของสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของอาหารการกินในจีนยังมีปัญหาอยู่มาก โรงพยาบาลไม่ว่าจะในเมืองใหญ่หรือในเมืองรองไม่เพียงพอต่อความต้องการประชาชน ทุกแห่งหนเบียดเสียดคนมหาศาล สมดุลการทำงานและชีวิตส่วนตัวก็เป็นปัญหาในจีน เพราะชีวิตคนส่วนใหญ่ยังต้องทำงานอย่างหนัก ปากกัดตีนถีบจากการแข่งขันที่สูงมาก

ข้อมูลจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนปี 2024 ระบุว่า ทรัพยากรของโรงพยาบาลระดับ 3 ทั่วประเทศจีน (โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญสูง) กระจุกตัวอยู่ในเมืองชั้นหนึ่งและมีปัญหาผู้ป่วยที่มากเกินกว่าการให้บริการที่ครอบคลุมได้ แม้แต่ผู้มีรายได้สูงในจีน ก็ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงทรัพยากรทางการแพทย์คุณภาพสูง โดยเฉพาะภายใต้บริบทของสังคมผู้สูงอายุที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว กลุ่มครอบครัวชนชั้นกลางและสูงที่มีแนวโน้มอยากอพยพ กว่า 65% แสดงความกังวลเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของครอบครัว เพราะแม้ว่าระบบบริการผู้สูงอายุของจีนจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่การให้บริการที่มีคุณภาพสูงยังคงมีจำกัด และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ดังนั้นครอบครัวที่มีฐานะการเงินดีหลายครอบครัว จึงเริ่มวางแผนการอพยพ เพื่อจัดการเรื่องการศึกษาของลูกหลานและการดูแลผู้สูงอายุในแบบที่ดีกว่า

ข้อแนะนำคนจีน “ไม่ได้ภาษาไทยแต่หางานทำในไทยได้”  --ภาพจาก หอการค้าไทยในจีน
ปัจจุบันประเทศที่ชาวจีนเลือกอพยพไปอาศัยอยู่นั้นมีความหลากหลายมากขึ้น  ข้อมูลระบุว่าในปี 2023 สัดส่วนผู้อพยพชาวจีนไปอเมริกาเหนือลดลงจาก 67.2% ในช่วงสิบปีเหลือเพียง 43.8% ในขณะที่ยุโรปและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (โดยเฉพาะสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2023 ผู้ที่ได้รับสถานะผู้อพยพและเลือกไปยัง สิงคโปร์มีสัดส่วนถึง 17.3% เพิ่มขึ้นจากห้าปีก่อนถึง 8.5% เนื่องจากสิงคโปร์มีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับชาวจีน มีคุณภาพการศึกษาสูงทำเลดีและปลอดภัย จึงกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายยอดนิยมของครอบครัวชนชั้นกลางชาวจีน แต่จากข่าวของสิงคโปร์เราอาจจะพอทราบว่าช่วงหลังมาสิงคโปร์เข้มงวดกับการย้ายถิ่นเข้ามาของจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น ทั้งแก้กฎหมายให้รัดกุมและตั้งมาตรฐานที่สูงกว่าเดิม เนื่องจากคนจีนจำนวนมากย้ายถิ่นมาที่สิงคโปร์ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาไม่น้อย รวมทั้งชาวสิงคโปร์ก็เริ่มเกิดการต่อต้าน เช่น การที่ชาวจีนเข้ามามากเกินไปทำให้ราคาอสังหาฯของสิงคโปร์ที่สูงอยู่แล้วสูงขึ้นไปอีก เป็นต้น

ประเด็นอายุเฉลี่ยของคนจีนผู้อพยพในยุคนี้ก็ลดลง จากการศึกษาของสมาคมประชากรแห่งประเทศจีน พบว่าอายุเฉลี่ยของผู้อพยพชาวจีนลดลงจาก 43.7 ปี ในปี 2015 เหลือเพียง 36.5 ปี ในปี 2024 แสดงให้เห็นว่า ครอบครัววัยหนุ่มสาวจำนวนมากเริ่มวางแผนการอพยพตั้งแต่ช่วงต้นๆ การอพยพในปัจจุบันไม่ใช่การตัดขาดแต่เป็นการขยายพื้นที่ชีวิต 65% ของชาวจีนในต่างประเทศกลับจีนอย่างน้อยปีละครั้ง 83.7% ยังคงมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน แสดงให้เห็นว่า การอพยพสมัยใหม่คือความเคลื่อนไหวมากกว่าการย้ายถิ่นถาวร


สำหรับไทย ผู้เขียนมองว่าแรงงานจีนยุคใหม่เข้ามากเพราะโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ไทยและจีนมีการร่วมมือรอบด้านกันมากขึ้น เริ่มต้นในปี 2013 จีนมีการลงทุนในไทยมากขึ้น อย่าง รถไฟความเร็วสูง นิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ การเข้ามาทำงานระยะสั้นของคนจีนก็มากขึ้น โดยแรงงานจีนที่เข้ามาไทยมีทั้งแรงงานฝีมือและไร้ฝีมือ แรงงานฝีมือในโครงการร่วมมือไทยจีนอย่าง วิศวกร ช่างเทคนิค เข้ามาแบบมีวีซ่าทำงานก็มาก มาไม่มีวีซ่าก็มี ส่วนแรงงานไร้ฝีมือโดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างของบริษัท มีบางส่วนเดินทางมาแบบนักท่องเที่ยวเพราะฟรีวีซ่าไม่มีต้นทุนอะไร และไปทำงานตามไซด์ก่อสร้างของบริษัทจีน อันนี้ผู้เขียนยืนยันว่ามีจริงเพราะเคยเห็นมากับตา ผู้จัดการบริษัทจีนนำแรงงานจีนเข้ามาผ่านทัวร์ท่องเที่ยว เมื่อเข้ามาถึงไทยได้ก็หายตัวยกรถทัวร์ แยกย้ายเข้าไซด์งานในที่ต่างๆ นิคมอุตสาหกรรมจีนหลายแห่งที่กำลังก่อสร้างในไทยแรงงานจีนเดินกันในว่อน

ณ ปี 2567 ไทยมีแรงงานจีนที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการประมาณ 20,895 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับแรงงานต่างด้าวชาติอื่นทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 3.2 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับแรงงานจีน แม้จะมีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจและการลงทุนของไทย เราเห็นคนจีนมาทำงานในไทยจำนวนมากแต่จำนวนแรงงานจีนที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการยังคงมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ประเด็นนี้ก็น่าสนใจว่าคนจีนมากมายเข้ามาในไทยทำงานด้วยวีซ่าที่ถูกกฎหมายหรือไม่

สุดท้ายแล้วกระแสจีนอพยพไปทั่วโลกยังคงมี ไทยเราเป็นหนึ่งในอาเซียนที่มีชาวจีนแผ่นดินใหญ่ เข้ามาอยู่อาศัย ทำธุรกิจกันเป็นจำนวนมากในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา ในมุมของการอพยพย้ายมาเมืองไทยผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับคนจีนอยู่หลายคน ส่วนใหญ่ที่มาอยู่ไทยทำงานหรือทำธุรกิจแล้วไม่ค่อยมีใครอยากกลับไปจีน บางคนทำธุรกิจตั้งตัวได้ในก็พยายามหาช่องทางที่จะให้ญาติพี่น้องมาไทยด้วย เหตุผลเพราะไทยอยู่สบาย ค่าครองชีพยังถูก โอกาสสำหรับคนจีนยังมีมาก แค่มีเงินสามารถจัดการเรื่องยากให้ง่ายได้! สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยก็อย่างที่ท่านผู้อ่านทราบกัน ผู้เขียนคงไม่ขยายความต่อในบทความนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น