xs
xsm
sm
md
lg

แออัดจนสติแตก! ฝูงชนติดอยู่ใน "จางจยาเจี้ย" จนดึกดื่น รอคิวขึ้นลิฟต์นาน 3 ชม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงวันหยุดแรงงานปีนี้ "จางเจียเจี้ย" หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจีน กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ เมื่อผู้คนจำนวนมากโพสต์ประสบการณ์สุดสาหัสจากการรอคิวเข้าและออกจากอุทยานแห่งชาติ ทั้งยืนรอหน้าลิฟต์เป็นชั่วโมง เดินเท้าไกลหลายกิโลเมตร และบางรายต้องติดอยู่บนภูเขาถึงดึกดื่น ชาวเน็ตบางรายถึงกับใช้คำว่า “แออัดจนสติแตก”

วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 มีรายงานจากนักท่องเที่ยวจำนวนมากว่า ภายในอุทยานแห่งชาติจางเจียเจี้ยเกิดภาวะคนล้น โดยเฉพาะบริเวณ "ลิฟต์ไป่หลง" ที่เป็นลิฟต์กลางแจ้งสูงที่สุดในโลก ผู้คนต้องรอคิวนานถึง 3 ชั่วโมงเพื่อขึ้นลิฟต์แค่ 1 นาทีครึ่ง ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวหลายพันคนยังต้องติดอยู่บนภูเขาจนถึงช่วงดึกเพื่อรอลงจากเขาด้วยกระเช้า “เทียนจื่อซาน” ที่มีคิวแน่นไม่แพ้กัน

บางคนใช้เวลารวมกว่า 9 ชั่วโมงในการต่อคิวตลอดทั้งสองวัน และต้องรีบลงจากเขาเพื่อไม่ให้ตกเครื่องบิน ด้วยความล่าช้าและสภาพแออัดที่เหนือความคาดหมาย


ปัญหาแออัดไม่ได้เกิดจาก “จำนวนนักท่องเที่ยวเกินขนาด” แต่เป็นเพราะ “ทางเข้าออกที่มีจำกัด” โดยจางเจียเจี้ยตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูงชัน การเข้าชมต้องพึ่งพาทางเชื่อมต่อหลักเพียงไม่กี่สาย ได้แก่ ลิฟต์ไป่หลง และกระเช้าขึ้นเขาเทียนจื่อซาน โดยลิฟต์ไป่หลง สูง 326 เมตร บรรทุกคนได้รวมประมาณ 7,000 คนต่อชั่วโมง ในขณะที่กระเช้าเทียนจื่อซาน ยาว 2,091 เมตร สร้างตั้งแต่ปี 2540 ปัจจุบันรองรับได้ 2,100 คนต่อชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม เส้นทางเหล่านี้คือทางเดียวที่จะพานักท่องเที่ยวเข้าสู่จุดชมวิวสำคัญ เช่น "หยวนเจียเจี้ย" ซึ่งเป็นสถานที่ต้นแบบของฉากในภาพยนตร์ Avatar เมื่อถึงวันหยุดยาว ปริมาณคนจำนวนมากจึงต้องแย่งกันใช้เส้นทางที่มีจุดคอขวดจำกัด ทำให้เกิดภาวะติดขัดตลอดทั้งวัน

แม้สภาพความแออัดจะหนักหนาสาหัส แต่น่าสังเกตว่าเจ้าหน้าที่รัฐกลับยังไม่สามารถจำกัดจำนวนผู้เข้าชมได้ ทั้งนี้เพราะตามข้อมูลของทางการระบุว่า ความจุรายวันของพื้นที่หลักอย่าง “อุทยานอู่หลิงหยวน” อยู่ที่ 111,380 คน ซึ่งวันที่ 2 พฤษภาคม มีนักท่องเที่ยวเพียง 34,000 คน เท่านั้น


ซึ่งหมายความว่า ในทางเทคนิค จางเจียเจี้ยยังสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อีกมาก และจึงไม่มีเหตุผล (ตามกฎระเบียบ) ในการปิดหรือจำกัดจำนวนคนเข้าสถานที่

สิ่งที่ซับซ้อนกว่าภูมิประเทศ คือ โครงสร้างผลประโยชน์ระหว่างหน่วยงานและเอกชน ที่บริหารโครงสร้างพื้นฐานของสถานที่ท่องเที่ยว โดยลิฟต์ไป่หลง ไม่ได้บริหารโดย “จางเจียเจี้ยกรุ๊ป” ซึ่งเป็นบริษัทท่องเที่ยวหลักของเมือง แต่เป็นของบริษัทเอกชนจากเจ้อเจียง ซึ่งสร้างรายได้มหาศาล โดยสามารถขนส่งนักท่องเที่ยวได้กว่า 60 ล้านคนภายใน 20 ปี และสร้างรายได้ภาษีสะสมเกือบ 10,000 ล้านบาท ในขณะที่กระเช้าเทียนจื่อซาน ดำเนินงานโดยบริษัทเอกชนจากฮ่องกง

การแก้ไขปัญหาคอขวดจำเป็นต้อง “สร้างทางเลือกใหม่” เช่น สร้างทางเดินเท้าหรือทางขึ้น-ลงเพิ่มเติม แต่นั่นหมายถึงต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผลประโยชน์ระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ยากกว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบาย” เพราะทุกฝ่ายมีผลประโยชน์ในระบบเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น