xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอเมริกันโอด! รีดภาษี “พัสดุเล็ก” จากจีน ดันราคาสินค้าออนไลน์พุ่งเท่าตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมื่อสหรัฐฯยุติกฎ De Minimis Rule หรือข้อยกเว้นภาษีพัสดุขนาดเล็ก บีบให้บรรดาอีคอมเมิร์ซ อย่าง Shein และ Temu ต้องขึ้นราคาสินค้าที่ส่งไปสหรัฐฯ หมดยุคที่คนอเมริกันจะได้เพลิดเพลินกันการชอปสินค้าราคาถูกของจีน(แฟ้มภาพ รอยเตอร์ )
ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐได้เริ่มบังคับใช้การยกเลิกกฎ "De Minimis Rule" หรือการยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าต่ำตามที่กำหนด โดยเฉพาะสินค้าที่มีต้นทางจากจีน ซึ่งเดิมทีได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าหากมีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 29,400 บาท)

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภคชาวอเมริกัน และผู้ค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน โดยเฉพาะจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนที่ได้รับความนิยมในสหรัฐ เช่น Shein, Temu และ AliExpress

ราคาสินค้าหลายรายการในตลาดออนไลน์ของสหรัฐบางรายการมีราคาสูงขึ้นถึง 100% หลังถูกบวกภาษีนำเข้า ตัวอย่างเช่น รองเท้ากีฬาที่ผลิตในจีน ซึ่งเคยขายที่ราคา 175 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,300 บาท) หากนำเข้าสหรัฐผ่านคลังสินค้าที่อยู่ในแคนาดา จะต้องเสียภาษีสูงถึง 300 ดอลลาร์ (ประมาณ 10,800 บาท) ทำให้ผู้ประกอบการต้องย้ายคลังสินค้ากลับมาในประเทศเพื่อลดต้นทุน

ผลกระทบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในหมู่สินค้าฟุ่มเฟือย แต่ยังกระทบกับสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก เช่น เสื้อผ้า ของใช้ในบ้าน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นสินค้าที่ผู้มีรายได้น้อยในสหรัฐนิยมซื้อจากจีนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ นักวิจัยจาก Cato Institute ระบุว่า แม้นโยบายนี้ดูเหมือนจะเป็นมาตรการแข็งกร้าวต่อจีน แต่ผลลัพธ์ที่แท้จริงคือการขึ้นภาษีต่อประชาชนสหรัฐโดยตรง ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนพุ่งสูงขึ้น และการสั่งซื้อออนไลน์กลายเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและแพงมากขึ้นกว่าเดิม


รายงานจาก The Wall Street Journal เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2567 มีพัสดุกว่า 1.36 พันล้านชิ้นเข้าสหรัฐผ่านช่องทางพัสดุย่อย โดยสินค้าส่วนใหญ่มาจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน เช่น Shein และ Temu หลังจากที่นโยบายใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้ บริษัทเหล่านี้ต้องเร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างโลจิสติกส์ บางรายต้องยกระดับคลังสินค้าในสหรัฐ หรือย้ายฐานคลังสินค้าจากแคนาดาเข้ามาในประเทศเพื่อเลี่ยงภาษี

ขณะเดียวกัน แบรนด์ต่างชาติบางรายตัดสินใจหยุดจัดส่งสินค้าไปยังตลาดสหรัฐชั่วคราว ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมากเลือกถอนตัวออกจากตลาด เนื่องจากไม่สามารถรับภาระต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้นได้ ส่งผลให้ตลาดเกิดสภาวะขาดแคลนสินค้า และราคาสินค้าโดยรวมในตลาดออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่ตามมาจากการที่ศุลกากรของสหรัฐต้องจัดการกับปริมาณพัสดุที่มากขึ้น โดยไม่มีระบบที่รองรับการตรวจสอบและจัดเก็บภาษีได้แบบอัตโนมัติ รายงานของ Oxford Economics ระบุว่า หากรัฐบาลสหรัฐต้องการเก็บภาษีพัสดุย่อยทั้งหมดแบบละเอียด จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มอีกหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อขยายระบบศุลกากรและจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่ม มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาสะสมพัสดุที่ท่าเรือและสนามบินทั่วประเทศ

เมื่อสหรัฐฯ ยุติ ข้อยกเว้นภาษีพัสดุขนาดเล็ก โรงงานของ Shein ในเมืองกว่างโจวจะทยอยปิดตัวกัน  (แฟ้มภาพ รอยเตอร์)
ภาคธุรกิจในสหรัฐ โดยเฉพาะหอการค้าสหรัฐ (U.S. Chamber of Commerce) ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อมาตรการใหม่นี้ โดยได้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกร้องให้มี "กลไกการยกเว้นภาษี" สำหรับผู้นำเข้าในประเทศ เพื่อป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต่อธุรกิจขนาดเล็ก

ในจดหมายระบุว่า มาตรการภาษีใหม่นี้อาจนำไปสู่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจ และทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่อาจฟื้นคืนได้ต่อธุรกิจขนาดเล็กที่มีทรัพยากรจำกัด หอการค้าเสนอให้ยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าและวัตถุดิบที่ไม่สามารถผลิตได้ในสหรัฐ เช่น กาแฟ กล้วย และแร่ธาตุบางชนิด เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคในประเทศต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

นอกจากนี้ องค์กร “ศูนย์ยุติธรรมเพื่อเสรีภาพ” (Center for Justice and Liberty) ซึ่งเป็นองค์กรกฎหมายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐในนามของผู้ประกอบการรายย่อย 5 ราย โดยให้เหตุผลว่า นโยบายนี้ละเมิดหลักกฎหมายฉุกเฉินทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ และเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตของฝ่ายบริหาร

ที่มา: 央视新闻客户端, 华尔街日报 (The Wall Street Journal), 路透社 (Reuters), 彭博社 (Bloomberg), CNBC


กำลังโหลดความคิดเห็น