โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะมาเล่าถึงประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเรียนการศึกษาต่อต่างประเทศของชาวจีน ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนและสหรัฐอเมริกาที่ซับซ้อนและลุ่มๆดอนๆกันมาหลายปี ทำไมคนจีนที่มีโอกาสยังอยากที่จะไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ? แล้วกลุ่มนักศึกษาจีนไปเรียนต่อที่สหรัฐฯมากน้อยแค่ไหน? ต้องบอกเลยว่านักศึกษาจีนเป็นกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯมาหลายปีติดต่อกันแล้ว แม้ช่วงหลังจะมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยจากปัจจัยโรคระบาดโควิด-19 และความตึงเครียดทางการเมือง แต่ก็ยังถือว่าสูงมากอยู่
จากตัวเลขล่าสุดของสถาบัน IIE (Institute of International Education) ในปี 2023 ระบุว่า กลุ่มนักเรียนนักศึกษาจีนในสหรัฐฯ ปีการศึกษา 2022–2023 มีจำนวนรวม 289,526 คน คิดเป็นประมาณ 27.4% ของนักเรียนต่างชาติทั้งหมดในสหรัฐฯ และเป็นอันดับ 1 ของประเทศที่ส่งนักเรียนไปสหรัฐฯมากที่สุด โดยนักศึกษาจีนที่ศึกษาในสหรัฐฯระดับปริญญาโท-เอกมากที่สุด ประมาณ 132,000 คน รองลงมาคือระดับปริญญาตรีประมาณ 89,000 คน นอกจากนี้นักศึกษาจีนที่ฝึกงานในสหรัฐฯหลังเรียนจบประมาณ 69,000 คน ช่วงก่อนก่อนโควิด-19 จำนวนนักเรียนจีนสูงถึง 370,000 คน แต่หลังโรคระบาดโควิดบวกกับสถานการณ์ตึงเครียดจากความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ ตัวเลขนักศึกษาจีนในสหรัฐฯเริ่มลดลงแต่ก็ยังอยู่ในอันดับหนึ่ง
สหรัฐอเมริกาเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักเรียนจีนมาโดยตลอด ในปีการศึกษา 2023/2024 มีนักเรียนต่างชาติเรียนในมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ ถึง 1.13 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นนักเรียนจีนเกือบ 1 ใน 4 ทำให้นักเรียนจีนเป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับสถาบันการศึกษาสหรัฐฯ จากสถิติพบว่า ในปี 2024 สหรัฐฯ มีรายได้จากภาคการศึกษานานาชาติสูงถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างสองประเทศก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ขณะนี้รัฐสภาสหรัฐฯ กำลังพิจารณาร่างกฎหมายจำกัดมหาวิทยาลัยสหรัฐฯที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจีนบางแห่งไม่ให้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง หากร่างกฎหมายนี้ผ่าน จะส่งผลกระทบต่อความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างจีนกับสหรัฐฯอย่างเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติในการจำกัดนักเรียนจีนบางกลุ่ม ทำให้การไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ ของนักเรียนจีนมีความยากลำบากมากขึ้น
เมื่อก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐยังไม่ตึงเครียดเท่าในปัจจุบัน ในแต่ละปีมีนักศึกษาชาวสหรัฐฯประมาณ 20,000–30,000 คนมาศึกษาในประเทศจีน มหาวิทยาลัยจีนหลายแห่งก็มีเงินทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาจากสหรัฐฯโดยเฉพาะ แม้จำนวนนักเรียนเหล่านี้จะน้อยกว่านักเรียนจีนที่ไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเชิงบวกของความร่วมมือทางการศึกษาที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบของโรคระบาดและปัจจัยอื่นๆ ทำให้จำนวนของนักเรียนอเมริกันที่มาศึกษาในจีนลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นในด้านการศึกษาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการค้าบริการนั้น สหรัฐฯ มีดุลการค้าเกินดุลกับจีนมาโดยตลอด
กลับมาในมุมของการศึกษาของนักเรียนต่างชาติในสหรัฐฯ มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในช่วงปี 2003–2023 สหรัฐอเมริกาได้มอบปริญญาเอกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 3.0% ในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ (S&E: Science and Engineering คือ สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ (Science) และ วิศวกรรม (Engineering) เพื่อแก้ปัญหา ออกแบบ พัฒนา และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์และสังคม) เติบโตพุ่งสูงถึง 70% แนวโน้มนี้สะท้อนให้เห็นถึงการศึกษาระดับสูงของสหรัฐฯ ยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักเรียนจากทั่วโลก ระหว่างปี 2003 ถึง 2023 จำนวนผู้ได้รับปริญญาเอกในสาขา S&E เพิ่มขึ้นถึง 70% ซึ่งถือเป็นภาพสะท้อนของยุคสมัยที่เน้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรในกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้นตาม เพราะมีแนวโน้มการจ้างงานที่ดี จึงดึงดูดผู้คนเข้าสู่สาขา S&E มากยิ่งขึ้น
อีกด้านที่น่าสนใจคือ ระหว่างปี 2013 ถึง 2023 นักเรียนต่างชาติที่ได้รับปริญญาเอกในสหรัฐฯสาขา S&E ส่วนใหญ่มาจากเป็นนักศึกษาที่มาจากจีน (รวมฮ่องกงและไต้หวัน), อินเดีย และเกาหลีใต้ โดยจีนครองสัดส่วนสูงถึง 37% ในปี 2023 จากจำนวนนักเรียนจีน 7,114 คน ที่ได้รับปริญญาเอกในสหรัฐอเมริกา มีถึง 6,401 คน ที่จบในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ (S&E) คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณ 90% และ 76.2% ของนักเรียนต่างชาติคาดหวังจะทำงานต่อในสหรัฐฯ นักเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์มีอัตราคงอยู่ในสหรัฐฯเกิน 80 % สำหรับนักเรียนจีน (รวมฮ่องกง) มีอัตราความคาดหวังในการทำงานต่อในสหรัฐฯอยู่ที่ 77.5% ส่วนนักเรียนจากไต้หวัน มีอัตราสูงกว่านั้นอยู่ที่ 79.7%
ในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ (S&E) นั้น นักเรียนต่างชาติที่เรียบจบมีแนวโน้มจะอยู่ต่อในสหรัฐฯเพื่อทำงานในสัดส่วนที่สูงกว่า 80% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแรงดึงดูดของตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ยังมีมาก ในจีนเองก็มีการเก็บสถิติตัวเลขนักศึกษาจีนที่ไปศึกษาต่อสหรัฐฯเช่นกัน จากข้อมูลทางสถิติบางแหล่ง พบว่า บัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยชิงหวาจำนวนไม่น้อยเลือกไปพัฒนาตัวเองในประเทศสหรัฐฯ และบางส่วนเลือกทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นโดยไม่กลับประเทศ มีข้อมูลระบุว่า จากบัณฑิตจบใหม่จากชิงหวาจำนวนกว่า 2,000 คนของมหาวิทยาลัยชิงหวาในแต่ละปี มีมากกว่า 70% ที่เลือกไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ และส่วนใหญ่หลังเรียนจบก็เลือกทำงานอยู่ที่นั่น
แต่เนื่องจากการพัฒนาไปไกลมากขึ้นของจีน ทำให้ตำแหน่งงานและค่าตอบแทนในจีนน่าดึงดูดมากขึ้น และรัฐบาลจีนก็มีความต้องการให้ชาวจีนระดับหัวกะทิเดินทางกลับมาทำงานในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงการวิจัย นักวิจัยชั้นนำชาวจีนบางส่วนเริ่มกลับมาเติบโตในประเทศตัวเอง จากรายงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา จำนวนของนักวิทยาศาสตร์เชื้อสายจีนที่ออกจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 75% โดยในจำนวนนั้น 67% ได้กลับไปยังประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดระบุว่านักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ได้รับการฝึกฝนจากสหรัฐฯ เป็นเวลาหลายปี ก่อนจะตัดสินใจกลับประเทศในที่สุด
สำหรับข้อมูลในประเทศจีนมีการเปิดเผยออกมาว่าถึงตัวเลขสะสมระบุว่า บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนคือ มหาวิทยาลัยชิงหวาและมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มากกว่า 20,000 คนได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา รัฐบาลจีนทุ่มเทด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลอย่างมาก โดยเฉพาะสองมหาวิทยาลัยนี้ได้รับงบประมาณด้านการศึกษาและวิจัยพัฒนารายปีสูงระดับหมื่นล้านหยวน แต่สุดท้ายแล้ว ทรัพยากรบุคคลที่รัฐบาลจีนได้ทุ่มทุนพัฒนากลับไปสร้างคุณประโยชน์ให้กับสหรัฐฯแทน! เช่น นักศึกษาคณะคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุด 4 คนของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้แก่ นายหยุนจือ ซึ่งได้อยู่ต่อทำงานที่มหาวิทยาลัยเยล, นายจางเหว่ย ที่ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย, นายสวี่เฉินหยาง ที่ได้เป็นศาสตราจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และนายจูซินเหวิน ก็ไปอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (Caltech) และมีการเปิดเผยข้อมูลว่า จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 9,780 คนของบริษัท SpaceX ของอีลอน มัสก์ มีพนักงาน 1,022 คนที่จบมาจากมหาวิทยาลัยชิงหวา
ประชาชนจีนบางกลุ่มมองว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" กับ "ความต้องการส่วนบุคคล" ต้องแยกออกจากกัน แม้คุณภาพการศึกษาภายในประเทศของจีนจะก้าวหน้าไปมาก แต่คุณภาพการศึกษาในสหรัฐฯ ยังคงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก หลายสาขาวิชาโดยเฉพาะ STEM (Science, Technology, Engineering, Math) ถือว่าเป็นผู้นำระดับโลก ด้านของโอกาสทางอาชีพหลังเรียนจบ จะมีตลาดรองรับที่กว้างขวาง โดยเฉพาะในสายเทคโนโลยี การเงิน และนวัตกรรม ชาวจีนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพหลายคนไปเรียนเพื่อเปิดโอกาสได้ทำงานในบริษัทระดับโลก หรือต่อยอดธุรกิจของตนเองในอนาคต
ความสามารถด้านภาษาอังกฤษเครือข่ายระดับนานาชาติสำหรับคนจีนสำคัญมาก เนื่องจากสหรัฐฯเป็นศูนย์กลางของนักเรียนนักศึกษาจากทั่วโลก นักเรียนจีนจึงมีโอกาสสร้างเครือข่ายกับคนหลากหลายประเทศ การใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนและใช้ชีวิต ช่วยเพิ่มศักยภาพในตลาดงานระหว่างประเทศ นักเรียนจีนจำนวนไม่น้อยมาจากครอบครัวที่มีฐานะ การไปเรียนต่างประเทศจึงเป็น "การลงทุนเพื่ออนาคต" ต้องยอมรับว่าหลายครอบครัวคนจีนที่มีฐานะอยากให้ลูกได้สัญชาติหรือกรีนการ์ดในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเลือกไปที่สหรัฐฯ
แม้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐจะตึงเครียด แต่ในระดับปัจเจก มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯหลายแห่งก็ยังยินดีต้อนรับนักเรียนจีนที่มีผลการเรียนโดดเด่นอยู่ “ดังนั้นแม้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะไม่ดี แต่สหรัฐฯ ยังเป็นจุดหมายที่ให้การพัฒนาศักยภาพส่วนบุคคลได้ดีที่สุดประเทศหนึ่ง” ซึ่งสำหรับคนจีนหลายคน “โอกาสในชีวิต” สำคัญกว่าเรื่องของการเมือง และหากว่าเรามองให้ดีๆจะเห็นว่า นักธุรกิจชั้นนำแนวหน้าในจีนไม่น้อยจบการศึกษาจากสหรัฐฯและหรือเคยทำงานในสหรัฐฯมาก่อนที่จะมาเป็นสตาร์ทอัพในจีน
ท่ามกลางสงครามการค้าที่ร้อนระอุในขณะนี้ แน่นอนว่าการร่วมมือในทุกๆด้านระหว่างจีนและสหรัฐฯได้รับผลกระทบอย่างมาก รวมไปถึงด้านการแลกเปลี่ยนของทรัพยากรบุคคลด้วย ต้องดูกันต่อไปว่าเทรนด์ของนักศึกษาจีนในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร