ต่อกรณีรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีตเจอร์นัลเมื่อวันที่ 15 เมษายน ซึ่งอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มีแผนใช้การเจรจาต่อรองภาษีนำเข้า กดดันให้ชาติคู่ค้าจำกัดการติดต่อกับจีน โดยสหรัฐฯจะลดอุปสรรคทางการค้าและอัตราภาษีนำเข้าให้เป็นการแลกเปลี่ยนนั้น
โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนแถลงเมื่อวันจันทร์ ( 21 เม.ย.) ว่า จีนเคารพสิทธิของทุกฝ่ายในการแก้ไขข้อแตกต่างทางเศรษฐกิจและการค้ากับสหรัฐฯ ผ่านการเจรจาปรึกษาหารือบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน โดยจีนเชื่อว่า ทุกฝ่ายควรยืนอยู่ข้างความเป็นธรรมในเรื่อง “ภาษีศุลกากรตอบโต้” (reciprocal tariffs) และปกป้องกฎระเบียบด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนระบบการค้าพหุภาคี
“ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนคัดค้านอย่างหนักแน่น หากฝ่ายใดก็ตามทำข้อตกลงที่ส่งผลเสียต่อจีน หากสถานการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น จีนจะไม่มีวันยอมรับและจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างเด็ดขาดและสมน้ำสมเนื้อกัน จีนมีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่และมีความสามารถในการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนเอง” โฆษกกล่าวเน้นย้ำ
เขาระบุว่า การยอมประนีประนอมเพื่อแลกกับสิ่งที่เรียกว่า “ข้อยกเว้น” ด้วยหวังผลประโยชน์ของตนเองในระยะสั้น แต่ไปทำร้ายผลประโยชน์ของคนอื่นนั้น เปรียบเหมือนกับการทำข้อตกลงกับเสือเพื่อหวังเอาหนังของมัน ซึ่งสุดท้ายแล้วจะเหลือแค่มือเปล่าและทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ กลับมา
พร้อมกับกล่าวเตือนด้วยว่า เมื่อเผชิญกับการโจมตีของลัทธิกีดกันทางการค้าและการกลั่นแกล้งฝ่ายเดียว ไม่มีใครยืนหยัดต่อสู้ได้ตามลำพัง หากการค้าระหว่างประเทศกลับไปสู่ “ กฎแห่งป่า” ทุกประเทศจะกลายเป็นเหยื่อ
จีนยินดีที่จะเสริมสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อต่อต้านการกลั่นแกล้งฝ่ายเดียว ปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนปกป้องความยุติธรรมระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ทรัมป์ได้ระงับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากหลายสิบประเทศที่เคยประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายน ยกเว้นจีนซึ่งถูกขึ้น 145% ส่งผลให้จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ 125%
นาย เจมีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯระบุว่ามี เกือบ 50 ประเทศติดต่อเข้ามาเพื่อขอต่อรอง
ขณะนี้กำลังมีการเจรจาทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯกับชาติคู่ค้า โดยญี่ปุ่นกำลังพิจารณาเพิ่มการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวจากสหรัฐฯ อินโดนีเซียมีแผนเพิ่มการนำเข้าอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์จากสหรัฐฯ โดยลดคำสั่งซื้อจากชาติอื่นๆ
ปั๋ว เจิ้งหยวน ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของบริษัทที่ปรึกษาเชิงนโยบาย Plenum ในจีนมองว่า ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครอยากเลือกข้างโดยประเทศที่มีการพึ่งพาจีนในระดับสูงในด้านการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรม ความรู้ด้านเทคโนโลยี และการบริโภค ไม่น่าจะตกลงทำตามสหรัฐฯ หลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็อยู่ในกลุ่มนี้
ที่มา : โกลบอลไทมส์ / รอยเตอร์