xs
xsm
sm
md
lg

จีนทุ่ม 8 หมื่นหยวน ชุบชีวิต &'ต้นแปะก๊วย&' เก่า 1,400 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพซินหัว : ต้นแปะก๊วยอายุ 1,400 ปีในเมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ถ่ายภาพเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี 2023)
ต้นแปะก๊วยสูงใหญ่ 30 เมตร ที่ยืนตระหง่านฝ่าสายลมและอากาศหนาวเหน็บมานานกว่า 1,400 ปีในหมู่บ้านจินจี เมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิงของจีน กำลังได้รับการฟื้นฟูให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ต้นแปะก๊วยต้นนี้มีเส้นรอบวง 7 เมตร เป็นแลนด์มาร์กสำคัญ อีกทั้งทำหน้าที่เป็นตัวบ่งชี้สภาพอากาศตามธรรมชาติในหมู่บ้านจินจี ทว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป ลำต้นบางส่วนถูกกัดเซาะ กิ่งก้านหลายกิ่งหักหรือเสียหาย

เมื่อเดือนกันยายน 2024 สำนักทรัพยากรธรรมชาติประจำเทศบาลเมืองต้าเหลียนได้เปิดตัวแผนฟื้นฟูโดยมุ่งเป้าไปที่ต้นไม้โบราณหรือต้นไม้ที่มีชื่อเสียงจำนวน 408 ต้นทั่วเมือง ซึ่งรวมถึงต้นแปะก๊วยในหมู่บ้านจินจีด้วย โดยมีการจัดสรรเงินทุนเพื่อการฟื้นฟู 80,000 หยวน (ราว 3.62 แสนบาท) พร้อมด้วยการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญป่าไม้ 4 คน


ช่วงกลางเดือนมีนาคม ทีมผู้เชี่ยวชาญจากสำนักฯ มาเยือนหมู่บ้านแห่งนี้เพื่อตรวจสอบสภาพของต้นไม้ สมาชิกในทีมบอกเล่าว่าการฟื้นฟูต้นไม้เก่าแก่นั้นเหมือนกับการดูแลผู้สูงอายุ และต้องใช้แนวทางที่เป็นระบบและเป็นวิทยาศาสตร์ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือหยุดยั้งการเสื่อมโทรม ตามด้วยการตัดกิ่งที่ตายออกและรักษาส่วนเน่าเปื่อย

ทีมงานยังวางแผนเพิ่มการถ่ายเทอากาศในดินรอบรากของต้นไม้ พร้อมเปลี่ยนวัสดุปูพื้นแข็งแบบเดิมเป็นวัสดุที่ซึมผ่านได้ดีซึ่งจะช่วยให้น้ำและอากาศถ่ายเทได้

การสำรวจระดับชาติที่ดำเนินการระหว่างปี 2015-2021 จีนมีต้นไม้โบราณหรือต้นไม้ที่มีชื่อเสียง 5.08 ล้านต้น ต้นไม้เหล่านี้ได้รับความสนใจมากขึ้นโดยเฉพาะหลังจากที่จีนบังคับใช้กฎระเบียบระดับชาติฉบับแรกในการปกป้องต้นไม้ดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ปี 2568 นี้

หลายพื้นที่ทั่วจีนทุ่มเทความพยายามปกป้องดูแลต้นไม้ ในอำเภอเล่ออันของมณฑลเจียงซีทางตะวันออก ต้นไม้โบราณหรือต้นไม้ที่มีชื่อเสียง 5,141 ต้นในมณฑลต่างมีบัตรประจำตัวพร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่บันทึกไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนในมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ รัฐบาลท้องถิ่นได้ซื้อประกันให้กับต้นไม้โบราณหรือต้นไม้ที่มีชื่อเสียง 137,500 ต้น เพื่อให้ความคุ้มครองและสนับสนุนความพยายามการรักษาและฟื้นฟู

ที่มาข่าว สำนักข่าวซินหัว เผยแพร่ 17 เม.ย. 2568


กำลังโหลดความคิดเห็น