โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ในช่วงนี้คงไม่มีข่าวระดับโลกไหนดังเปรี้ยงปร้างเท่าการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐอเมริกาที่สร้างความแตกตื่นวิตกกังวลให้กับหลายประเทศจนอ้าปากค้าง โดยเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมาประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้จากประเทศต่างๆทั่วโลกที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯมาตลอด โดยให้เหตุผลว่าประเทศเหล่านี้เอาเปรียบสหรัฐฯมาหลายสิบปี ทำให้สหรัฐฯเสียดุลการค้ามหาศาล และในรอบนี้สหรัฐฯต้องการทวงคืนสิ่งที่เสียไป
ในตารางฯที่ทรัมป์โชว์มีรายชื่อกลุ่มประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ประเทศไทยเราก็อยู่ในลิสต์การเพิ่มภาษีตอบโต้นี้ด้วย โดยสหรัฐฯจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มเป็น 36%
แน่นอนว่าในลิสต์ที่ทรัมป์โชว์ต่อสื่อในวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา จีนอยู่ในอันดับหนึ่งของรายชื่อประเทศที่สหรัฐฯจะเก็บภาษีตอบโต้ สหรัฐฯอ้างว่าที่ผ่านมาจีนเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯสูงถึง 67% และในรอบนี้สหรัฐฯจะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 34% หลังจากที่สหรัฐฯประกาศฯจีนก็ออกมาตอบโต้ทันที การประกาศขึ้นภาษีระหว่างสองประเทศกลายเป็นเกมตัวเลขเพราะประกาศตอบโต้กันไปมาหลายครั้ง โดยล่าสุดจีนแถลงขึ้นภาษีต่อสหรัฐ ตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย.เป็นต้นไป โดยจีนจะปรับอัตราภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐ จากเดิม 84% เพิ่มขึ้นเป็น 125%
คำแถลงจากกระทรวงพาณิชย์จีนแสดงถึงท่าทีที่จีนมีต่อสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าจีนไม่มีท่าทีเกรงกลัวต่อมาตรการของสหรัฐฯ แต่อย่างใด โดยประกาศว่า “สหรัฐใช้นโยบายภาษีฝ่ายเดียวอย่างไม่ยั้งคิดซึ่งเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง ผิดหลักเศรษฐศาสตร์ และสร้างความปั่นป่วนต่อระบบเศรษฐกิจโลก ตลาดการค้า และระเบียบพหุภาคีระหว่างประเทศ... สหรัฐควรรับผิดชอบต่อผลกระทบทั้งหมดนี้ และการขึ้นภาษีของสหรัฐต่อจีนนั้นเป็นการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือกดดันและข่มขู่ ซึ่งกลับกลายเป็นเรื่องน่าขันเสียมากกว่า และหากสหรัฐยังเล่นเกมฯนี้ต่อไป จีนจะไม่ให้ความสนใจอีก แต่หากมีการละเมิดสิทธิประโยชน์จีนอย่างจริงจัง จีนจะตอบโต้อย่างเด็ดขาดและจะสู้จนถึงที่สุด”
ในสงครามการค้าสหรัฐและจีนระลอกใหม่นี้ ทำไมเหมือนจีนจะไม่กลัว? ผู้เขียนมองว่าจีนอาจไม่ได้ไม่กลัวแต่จีนมีอาวุธ มีแผน และมีความมั่นใจมากพอที่จะ "ตอบโต้" หรือ "อยู่รอด" ได้ในสงครามการค้าระลอกใหม่ โดยไม่ต้องตกใจกลัวเหมือนสมัยก่อน
หลังสงครามการค้าระลอกแรกในปี 2018-2019 จีนได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญ และเร่งดำเนินนโยบายลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากตะวันตก ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาชิป เซมิคอนดักเตอร์ ขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ผลักดันนโยบาย “สองวงจรเศรษฐกิจ” (Dual Circulation) เพื่อให้เศรษฐกิจภายในประเทศแข็งแรงพอที่จะรองรับแรงกระแทกจากภายนอกได้
ต่อมาคือตลาดในประเทศจีนยังมีขนาดใหญ่และยังพอเติบโตได้ จากจำนวนประชากรที่มากถึง 1,400 ล้านคน และมีกลุ่มชนชั้นกลางที่ขยายใหญ่มากขึ้น มีศักยภาพในการบริโภคมากขึ้น พันธมิตรทางเศรษฐกิจของจีนก็เพิ่มขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จีนผลักดัน “โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มานาน ทำให้มีพันธมิตรการค้ามากขึ้น กระตือรือร้นเข้าร่วมกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจนานาชาติอื่นๆ เช่น ล่าสุด ความร่วมมือฯในกรอบอาร์เซ็ป (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้นจีนยังสามารถหวังพึ่งใช้พันธมิตรเหล่านี้เป็นตลาดทดแทนได้ หากถูกสหรัฐกีดกันทางการค้าอย่างหนักหน่วง
แม้รัฐบาลสหรัฐฯพยายามย้ายฐานการผลิตออกจากจีน แต่สหรัฐฯก็ยังต้องพึ่งพาจีนอยู่มาก บริษัทใหญ่อย่างบริษัท Apple, Tesla, Qualcomm ก็ยังมีฐานการผลิตหรือมีรายได้จำนวนมากมาจากจีน อีกประการคือการเมืองภายในสหรัฐฯตั้งแต่ปี 2024 อ่อนแอลง ในขณะที่จีนมีระบบการเมืองที่เสถียรกว่าในแง่ของการรักษา "ความต่อเนื่องด้านนโยบาย"
การตอบโต้ของจีนต่อสหรัฐฯในช่วงปี 2023 ถึงปัจจุบัน มีสัญญาณและแนวโน้มที่จะเน้นไปที่จำกัดการส่งออกแร่หายาก โดยตั้งแต่ปลายปี 2023 จีนประกาศจำกัดการส่งออกแกลเลียมและเจอร์เมเนียม ซึ่งเป็นแร่หายากที่สำคัญในอุตสาหกรรมผลิตชิป ซึ่งส่งกระทบต่อกลุ่มผู้ผลิตในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรปโดยตรง ต่อมาคือขยายการควบคุมด้านเทคโนโลยี เช่น มาตรการคว่ำบาตรบริษัท Micron ของสหรัฐฯ โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง และเริ่มมีแนวโน้มจำกัดการใช้งาน Windows, Intel, AMD, Cisco ในหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นจีน สนับสนุนการพัฒนาระบบปฏิบัติการของจีนเองแทนซอฟต์แวร์ตะวันตก บางหน่วยงานรัฐของจีนห้ามเจ้าหน้าที่ใช้โทรศัพท์ไอโฟนหรือหอห้ามขับรถยนต์เทสล่าเข้าสถานที่ราชการ เป็นต้น มาตรการเหล่านี้มีมาก่อนแล้วและยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง
มาตรการตอบโต้ของจีนอีกด้านที่น่าสนใจคือ “เร่งการแย่งตลาดโลก”ถือว่าเป็นการตอบโต้เชิงรุก เช่น สนับสนุนการส่งออกรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในราคาที่แข่งขันได้มาก นอกจากนี้จีนใช้นโยบาย "overcapacity" คือการผลิตล้นเกินเพื่อสามารถกำหนดราคาที่ต่ำ และส่งออกไปท่วมตลาดต่างประเทศ
ทั้งหมดมที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่สหรัฐฯและยุโรปมองว่าเป็น “ภัยคุกคามเชิงโครงสร้าง” นอกจากการตอบโต้กับสหรัฐฯทางด้านภาษีแล้ว จีนยังใช้มาตรการ "แบบไม่เป็นทางการ" เช่น เพิ่มการตรวจสอบศุลกากรเข้มงวด, ชะลอใบอนุญาตต่างๆและกดดันบริษัทอเมริกันในจีนหรือมีการเพิ่มแรงกดดันผ่านพันธมิตรการค้า เช่น รัสเซีย, กลุ่มประเทศบริกส์พลัส (BRICS+)ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจีนในยุคนี้มุ่งตอบโต้กลับด้วยการจำกัดการส่งออกแร่หายาก เทคโนโลยี การแข่งขันเชิงรุก มากกว่าขึ้นภาษีแบบเดิมๆ แต่หากสหรัฐฯขยับแรงกว่านี้ จีนก็มีโอกาสจะรื้อชุดภาษีตอบโต้เก่า พร้อมออกมาตรการใหม่ได้
อย่างไรก็ตาม ในบางอุตสาหกรรมจีนและสหรัฐฯมีการพึ่งพากันอย่างมาก เช่น จีนเป็นตลาดบริโภคชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทสหรัฐฯในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์พึ่งพาตลาดจีนเป็นอย่างมาก แล้วจีนก็ยังต้องพึ่งพาสหรัฐฯในด้านเทคโนโลยีการผลิตชิประดับสูง เครื่องจักร และวัสดุสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ สหรัฐฯมีความต้องการสินค้าจีน เช่น แผงโซลาร์เซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า จีนเองก็ยังมีการร่วมมือกับบริษัทสหรัฐฯในชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ชิปและซอฟต์แวร์
ผลกระทบของสงครามการค้าจะสั่นคลอนและปรับโครงสร้างการพึ่งพา ฝั่งของจีน บริษัทจีนส่งออกไปยังสหรัฐฯต้องเจอกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและออเดอร์ที่ลดลง จึงเริ่มกระจายตลาดไปยังประเทศและภูมิภาคอื่นเพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐฯ ฝั่งสหรัฐเองผู้บริโภคเริ่มรู้สึกถึงแรงกดดันจากราคาสินค้านำเข้าจากจีนที่สูงขึ้น แม้จะพยายามหาซัพพลายเออร์ใหม่ แต่ในหลายอุตสาหกรรมยังไม่สามารถ แทนที่จีนได้ในระยะสั้น สำหรับสหรัฐฯในระยะสั้นยังหายใจไม่คล่อง หากไม่มีจีนเป็นฐานผลิตต้นทุนต่ำ
การที่สหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงลิบนี้ หากจะบอกว่าจีนไม่ได้รับผลกระทบเลย อาจจะดูโลกสวยเกินไป เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีนมาโดยตลอด โดยในปี 2024 มูลค่าการค้ารวมระหว่างจีนกับสหรัฐฯสูงถึง 688.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 11.2% ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของจีน ซึ่งมากกว่ามูลค่าการค้าระหว่างจีนกับทั้งสหภาพยุโรป จีนได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ 361 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 36.4% ของดุลการค้ารวมทั้งหมดของจีน หากสหรัฐอเมริกาปิดตลาดต่อสินค้าจากจีนจริงๆ จีนก็คงไม่สามารถหาตลาดอื่นใดในโลกที่มีคุณภาพและขนาดใหญ่พอจะทดแทนได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐต่อจีนอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการค้าต่างประเทศของจีน และยังอาจจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอีกด้วย
ปัจจุบันสินค้าที่สหรัฐอเมริกานำเข้าจากจีนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรกล อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงสินค้าในภาคแรงงานเข้มข้นอย่างสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ และของเล่น อุตสาหกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่อาจเผชิญกับแรงกดดันทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น และการหาตลาดอื่นที่จะมาแทนที่สหรัฐฯก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะกำลังการผลิตส่วนเกิน (Overcapacity) โดยเฉพาะในกรณีของจีนที่ มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในโลกแทบทุกด้าน และตลาดแทบทั้งหมดก็ใกล้จะอิ่มตัวหรือถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ดังนั้น การเข้าไปแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดใหม่จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
นอกจากสหรัฐฯแล้ว ในช่วงที่ผ่านมายังมีอีกหลายประเทศและภูมิภาค เช่น สหภาพยุโรป (EU), อเมริกาใต้และเวียดนาม ที่เริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น หรือเปิดการสอบสวนกรณีการทุ่มตลาด (Anti-dumping) ของสินค้าจีน เพราะฉะนั้น ณ สถานการณ์ปัจจุบัน ตลาดการค้าระหว่างประเทศอาจถือได้ว่าเลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา โดยทั่วโลกกำลังเผชิญกับกระแสกีดกันทางการค้าและการคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศ (Protectionism) อย่างกว้างขวาง ในสภาวะแบบนี้ จีนจึงยิ่งยากที่จะ “ตัดขาด” จากตลาดสหรัฐฯได้อย่างสิ้นเชิง เพราะตลาดสหรัฐฯมีความสำคัญ ทำให้ก่อนหน้าโรงงานจีนและนักลงทุนจีนจำนวนไม่น้อยทยอยออกจากจีนไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศเพื่อจะใช้เป็นฐานผลิตและส่งออกไปสหรัฐฯ
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและกำลังดำเนินอยู่ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ระเบียบโลกและการค้าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว เรากำลังเข้าสู่ยุคที่แทบคาดเดาอะไรไม่ได้เลย ความเสี่ยงด้านการค้าและเศรษฐกิจมีอยู่ตลอดเวลาและรอบด้าน ประเทศเล็กๆอย่างไทย ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้านี้อย่างแน่นอนแบบเลี่ยงไม่ได้ ไทยเราจะอยู่รอดปลอดภัยได้อย่างไร คงต้องอยู่ที่กึ๋น ความเก๋าเกม และความรอบคอบของคณะผู้นำประเทศ ที่จะนำพาไทยพ้นวิกฤตินี้ไปได้