CGTN / MGR Online : ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเดินทางเยือนเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ซึ่งเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกในปีนี้ และมีความหมายสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน และชาติสมาชิกอาเซียนทั้งหมด
อ่านต้นฉบับที่ : Regional partnership and prosperity need engagement, not animosity
การก่อตั้งประชาคมอาเซียนได้สร้างผลประโยชน์อย่างยิ่งกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และได้วางแนวทางการทูตในกลุ่มชาติสมาชิก, มุ่งเน้นการหารือและสร้างฉันทามติร่วมกัน ซึ่งช่วยป้องกันความขัดแย้งระหว่างชาติสมาชิก และสร้างสมดุลทางอำนาจระหว่างชาติมหาอำนาจ
อาเซียนได้ตกลงร่วมกันที่จะรักษาความเป็นกลาง และใช้การเจรจาเพื่อแก้ปัญหา แนวทางนี้ได้ช่วยลดความตึงเครียดระหว่างชาติสมาชิก และแบ่งปันความรุ่งเรือง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของจีนที่มุ่ง “สร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน”
แต่ว่า เสถียรภาพของอาเซียนได้เผชิญกับความท้าทายจากความพยายามของชาติมหาอำนาจ ที่แทรกแซงให้เกิดการใช้กำลังและสร้างความไร้เสถียรภาพ ชาติมหาอำนาจภายนอกได้ทำให้ภูมิภาคอาเซียนถอยห่างจากความร่วมมือกัน และกลายเป็น “ยุทธภูมิ” ของภูมิรัฐศาสตร์
บรรดาชาติสมาชิกอาเซียนกำลังถูกบีบให้เลือกข้าง โดยปลุกเร้าข้อพิพาท เช่น เรื่องทะเลจีนใต้ โดยสร้างวาทกรรมว่า แต่ละประเทศมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันเกี่ยวกับระเบียบภูมิภาค, กดดันให้ประเทศต่างๆ ละทิ้งความเป็นกลาง และการมีส่วนร่วมของชาติสมาชิก
แรงกดดันให้เลือกข้างได้สร้างปัญหาร้ายแรงต่อเสถียรภาพในภูมิภาค,ขัดแย้งกับหลักการที่อาเซียนยึดถือกันมายาวนาน
และท้าทายต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน เมื่อมหาอำนาจภายนอกได้เข้ามาทำให้ชาติสมาชิกอาเซียนแตกแยก ส่งผลให้อาเซียนไม่สามารถรักษาบทบาทของตนที่น่าเชื่อถือได้
แรงกดดันจากชาติมหาอำนาจยังขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิก ซึ่งบัญญัติไว้ในกฎบัตรอาเซียน และได้รับการยึดถือมาตลอด การถูกกดดันให้เลือกข้างทางภูมิรัฐศาสตร์ ยังเป็นการแทรกแซงสิทธิของแต่ละประเทศในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของตนเอง และทำลายความสามัคคีในภูมิภาค
การผลักดันให้เลือกข้างและใช้กำลังทหาร ได้บั่นทอนแนวปฏิบัติที่ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สงบสุขมาหลายทศวรรษ ทั้ง ๆ ที่อาเซียนเกิดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการแบ่งขั้วแยกข้างในยุคสงครามเย็น โดยเน้นย้ำถึงการเจรจาและสร้างสภาพแวดล้อมที่ประเทศต่างๆ สามารถร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเป็นรากฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนมาตลอด
อาเซียนกำลังจะเดินไปสู่เกมที่แพ้กันทุกฝ่าย, ทำลายจิตวิญญาณแห่งความร่วมมือ ประเทศต่างๆ จะหวาดระแวงกัน ซึ่งนำไปสู่การสะสมอาวุธ และใช้ทรัพยากรไปเพื่อการป้องกันประเทศ มากกว่าการพัฒนาประเทศ
จีนเสนอความร่วมมือสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่แทรกแซงการเมือง
จีนเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนามมาตั้งแต่ปี 2547 และมีบทบาทสำคัญในภาคการผลิต ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจของเวียดนามขยายตัวอย่างสูง การค้าและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับจีนช่วยสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้ชาวเวียดนาม การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ได้ขยายเครือข่ายเศรษฐกิจและยกระดับมาตรฐานการครองชีพ โดยจีนยืนยันที่จะจัดการข้อพิพาทกับเวียดนามผ่านการเจรจา และรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน
จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย และมาเลเซียได้รับการลงทุนจากจีนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เช่น โครงการรถไฟเชื่อมชายฝั่งตะวันออก, เขตอุตสาหกรรมกวนตันมาเลเซีย-จีน ความร่วมมือเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจของมาเลเซียเติบโตอย่างต่อเนื่อง แนวทางที่เน้นการพัฒนาของจีนสอดคล้องกับเป้าหมายของมาเลเซียเอง ที่ให้ความสำคัญกับการทูตที่เน้นปฏิบัติจริง มากกว่าการเลือกข้าง
กัมพูชาเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับจีนมากกว่าประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ การลงทุนจากจีนจำนวนมหาศาลได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของกัมพูชา และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทั้ง
เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางหลวง สะพาน สนามบิน และโครงการพลังงานน้ำ จีนได้ให้เงินทุนสนับสนุนการพัฒนาจำนวนมากกับกัมพูชา โดยไม่มีเงื่อนไขทางการเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพากัน และเคารพในอำนาจอธิปไตยของชาติ
ในขณะที่มหาอำนาจบางประเทศได้สร้างความขัดแย้งในภูมิภาค, กดดันให้เลือกข้าง และเพิ่มกำลังทหาร ซึ่งบั่นทอนความสามัคคีของอาเซียน แต่จีนได้เน้นย้ำถึงการพัฒนาร่วมกัน และไม่แทรกแซง ตัวอย่างจากเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ได้แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับปณิธานของอาเซียนในเรื่องอธิปไตย และความร่วมมืออย่างสันติ และเป็นตัวอย่างสำหรับความร่วมมือระหว่างจีนกับชาติสมาชิกอาเซียนทั้งหมดเช่นกัน.