xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights: สินค้า Made in China กับ ข้อกังขาด้านคุณภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การผลักดันนโยบาย Made in China 2025  จีนต้องการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จึงพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองโดยเฉพาะสินค้าเชิงยุทธศาสตร์ อย่างเช่น ชิป  (แฟ้มภาพรอยเตอร์)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

จีนจากยุคการพัฒนาเปิดประเทศใช้เวลาเพียงไม่กี่สิบปีสามารถขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ร่ำรวยที่สุดในโลก การพัฒนาอย่างรวดเร็วเป็นติดจรวดเช่นนี้ของจีนหนีไม่พ้นการไต่เต้าพัฒนาทางอุตสาหกรรมและการผลิตในช่วงเริ่มต้นจนกลายเป็นโรงงานโลก จนถึงปัจจุบันจีนกลายเป็นประเทศที่มีสายการผลิตที่ครบเครื่องมากที่สุดประเทศหนึ่ง ดูได้จากสินค้าและอุปกรณ์แทบทุกชนิดที่เราใช้กันในปัจจุบันมีเครื่องหมาย “เมด อิน ไชน่า” (Made in China) อยู่แทบทั้งสิ้น


หากกล่าวถึงเป้าหมายของจีนในการเป็นผู้นำโลกด้านการผลิตคงต้องพูดถึงเป้าหมาย “เมด อิน ไชน่า 2025” (中国制造2025) เป็นนโยบายระดับชาติที่สำคัญมากของรัฐบาลจีน โดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป้าหมายของนโยบายนี้คือ การเปลี่ยนผ่านจาก "โรงงานของโลก" ที่เน้นผลิตสินค้าราคาถูกไปสู่การเป็น “มหาอำนาจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ยกระดับอุตสาหกรรมจีนให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยเปลี่ยนจากการผลิตแบบแรงงานเข้มข้นไปสู่การผลิตแบบอัตโนมัติใช้หุ่นยนต์และเน้นนวัตกรรม วิจัยและพัฒนา (R&D) มากขึ้น

เป้าหมายต่อมาคือลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จีนต้องการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองโดยเฉพาะสินค้าเชิงยุทธศาสตร์ เช่น ชิป (chip), เครื่องจักร, ซอฟต์แวร์ เป็นต้น เพื่อให้จีนควบคุมห่วงโซ่อุปทานได้เอง ไม่ต้องกลัวการถูกแบนหรือคว่ำบาตร

สุดท้ายคือสร้างแบรนด์จีนที่แข็งแกร่งในตลาดโลกจากเดิมที่จีนผลิตของให้แบรนด์ต่างประเทศ เปลี่ยนมาเป็นเจ้าของแบรนด์เอง และต้องการให้ "เมด อิน ไชน่า" = คุณภาพดี + ทันสมัย + เชื่อถือได้ จากเป้าหมายนี้ประเทศตะวันตกโดยเฉพาะ สหรัฐฯ แสดงความกังวล ว่านโยบายนี้อาจทำให้จีนกลายเป็นคู่แข่งด้านเทคโนโลยีที่น่ากลัวในอนาคต และเพราะนโยบายนี้เองกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของ สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

จีนผ่านยุคแรกในการพัฒนาอุตสาหกรรมหลังปฏิรูปเปิดประเทศ จนได้ฉายา “โรงงานโลก” ที่ผลิตสินค้าราคาถูกส่งออกทั่วโลก
ถึงแม้จีนจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการยกระดับอุตสาหกรรมและสินค้า แต่ปัจจุบันสินค้าจากจีนยังประสบกับข้อกังขาด้านคุณภาพอยู่ไม่น้อยในสายตานานาชาติ! จริงๆ แล้ว "สินค้าจากจีน" ในปัจจุบันมีทั้งสินค้าที่คุณภาพต่ำ-กลางและสูง แต่ที่คนจำนวนมากยังตีตราว่าสินค้าจีนคุณภาพต่ำนั้นมาจากหลายปัจจัยทั้งด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และการรับรู้ของผู้บริโภค

ตั้งแต่ช่วงปี 1980-2000 จีนผลิตสินค้าราคาถูกจำนวนมหาศาลเพื่อส่งออก เพื่อที่จะกำหนดราคาต่ำ ผู้ผลิตจำนวนมากเลือกใช้วัสดุและกระบวนการผลิตที่ประหยัด ซึ่งอาจลดคุณภาพของสินค้าลง หลายประเทศ (รวมถึงไทย) ได้รับสินค้าจากจีนที่เป็น “เกรดล่าง” หรือราคาถูก เพราะผู้ค้าท้องถิ่นส่วนใหญ่เลือกนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนมาขายเพราะได้กำไรสูง ทำให้ผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ คิดว่าสินค้าจีนมักมีคุณภาพไม่ดี ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาข่าวเกี่ยวกับสินค้าจีนที่เสียเร็วพังง่าย หรือเลียนแบบแบรนด์ดัง ถูกแชร์ในสื่อบ่อยๆ ประสบการณ์ตรงของผู้บริโภคที่เคยซื้อของจีนราคาถูก แล้วผิดหวัง ก็ยิ่งตอกย้ำภาพจำนี้

แต่ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้จีนไม่ได้ผลิตแค่ของถูก แต่ยังผลิตสินค้าคุณภาพสูงระดับโลก เช่น ผลิตภัณฑ์ไฮเทคฯของบริษัทรายใหญ่ อย่างเช่น Apple, Huawei, DJI, Lenovo และเป็น OEM ให้กับสินค้าแบรนด์ระดับโลกหลายประเภท แต่สิ่งที่เราพบบ่อยอาจเป็นสินค้าราคาถูกตามตลาดนัดหรือออนไลน์ ทำให้เข้าใจว่าทั้งหมดต้องเป็นของคุณภาพต่ำ ดังนั้นคุณภาพของสินค้าจีนขึ้นอยู่กับ "ระดับที่สั่งผลิต" และ "ความต้องการของผู้ค้า" มากกว่า แต่ภาพจำว่า "ของจีน = ของไม่ดี" ยังฝังอยู่เพราะประสบการณ์ในอดีตและการรับรู้ของผู้บริโภค

จีนพัฒนาอุสาหกรรมเทคโนโลยีสูงจนสามารถท้าทายแบรนด์โลกตะวันตก
นอกไปจากนี้ ปัญหาสินค้าปลอมในจีนยังถือว่าเป็น "ปัญหาใหญ่และเรื้อรัง" แม้ว่ารัฐบาลจีนจะมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการจัดการแก้ไขปัญหานี้ แต่สินค้าปลอมก็ยังคงพบเห็นได้อยู่มาก โดยเฉพาะในบางพื้นที่หรือบางแพลตฟอร์มออนไลน์ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เคยรายงานว่า จีนเป็นแหล่งผลิตสินค้าปลอมรายใหญ่ที่สุดของโลกโดย 70-80% ของสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่ยึดได้ทั่วโลกล้วนมีต้นทางจากจีน ประเภทสินค้าปลอมที่พบบ่อยคือ เสื้อผ้า, กระเป๋าแบรนด์เนม, เครื่องสำอาง, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ยา และของใช้ในชีวิตประจำวัน! เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นสินค้าปลอมจากจีนเกลื่อนกราดแบบที่เรียกว่า “ตั้งแต่สากเบือยันเรือรบ”

ผู้ผลิตจีนสามารถทำกำไรได้มากจากสินค้าเลียนแบบหรือสินค้าปลอม เพราะไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ มูลค่าการตลาดตรงนี้ไม่เป็นที่แน่ชัดแต่น่าจะมีขนาดมหาศาลแน่นอน สำหรับผู้บริโภคบางกลุ่ม "รู้ว่าเป็นของปลอมแต่ก็ยอมซื้อ" เพราะราคาถูก และต้องการแค่ภาพลักษณ์ ไม่สนใจคุณภาพ และถึงแม้ว่าจีนจะมีกฎหมายป้องกันสินค้าปลอม แต่ในบางพื้นที่ยังขาดการบังคับใช้อย่างจริงจังหรือมีการคอร์รัปชัน แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์อย่าง “เถาเป่า” (Taobao) หรือ พินตัวตัว (Pinduoduo) เคยถูกวิจารณ์เรื่องสินค้าปลอมอย่างหนักหน่วง แม้ปัจจุบันจะเริ่มมีการจัดการกวาดล้างฯมากขึ้นแล้วแต่สินค้าปลอมก็ยังมีขายเกลื่อนหน่ำซ้ำเทคโนโลยีการผลิตของปลอมนับวันก็ยิ่งพัฒนาขึ้นอีก สินค้าเลียนแบบจึงเหมือนของแท้แบบแทบแยกไม่ออก

“ปัญหาคุณภาพสินค้า” ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน ในระดับสังคม ปัญหาคุณภาพสินค้า ได้สร้างผลกระทบกับประชาชนอย่างมาก เช่น ปัญหาคุณภาพของสินค้าบริโภคที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหรือเป็นภัยต่อสุขภาพร่างกาย และในระดับธุรกิจเมื่อเกิดปัญหาคุณภาพสินค้าสิ่งที่สูญเสียไปไม่ใช่เพียงต้นทุนจากการชดใช้ความเสียหาย แต่ยังรวมถึงชื่อเสียงของบริษัทและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจด้วย กล่าวได้ว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจและชื่อเสียง อาจส่งผลในระยะยาวและยากต่อการฟื้นฟู และอีกประเด็นที่น่าสนใจคือปัญหาสินค้าปลอมและไม่มีคุณภาพในตลาดชนบทนั้นรุนแรงมาก เช่น ผู้บริโภคส่วนใหญ่ถูกหลอกลวงโดยผู้ขายล่อให้ซื้อสินค้าที่มีปัญหา

ปัญหาสินค้าปลอมในจีนยังถือว่าเป็น ปัญหาใหญ่และเรื้อรัง แม้ว่ารัฐบาลจีนจะมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหานี้ (แฟ้มภาพรอยเตอร์)
กลับมาที่ประเด็นของสินค้าไม่ได้คุณภาพ ขอตาม “กระแสวัสดุก่อสร้างจีนที่ไม่ได้มาตรฐาน” ในประเทศจีนเองก็ตรวจพบปัญหากันไม่น้อย ในเดือนธ.ค. 2024 สำนักงานกำกับดูแลเทศบาลนครปักกิ่งได้ประกาศผลการสุ่มตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างและเครื่องตกแต่งอาคาร/ที่อยู่อาศัยประจำปี 《ประกาศผลการสุ่มตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างและเครื่องตกแต่งฯของเทศบาลนครปักกิ่ง》ได้ดำเนินการสุ่มตรวจสอบผลิตภัณฑ์วัสดุหลัก 10 ประเภทอย่างครอบคลุม รวมถึงเหล็กเส้นสำหรับงานก่อสร้างและซีเมนต์ เป็นต้น จากการตรวจสอบ พบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพ ได้แก่ ซีเมนต์ 28 รุ่น, กระจกสำหรับงานก่อสร้างตึกอาคาร 5 รุ่น, อุปกรณ์ประปา 4 รุ่น,หม้อน้ำและอุปกรณ์ให้ความร้อน 6 รุ่น, วาล์ว 10 รุ่น, ท่อพลาสติกและท่อผสมพร้อมข้อต่อ 4 รุ่น, แผ่นไม้เทียม 11 รุ่น ซึ่งเทศบาลนครปักกิ่งได้จัดการกับสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพและให้ดำเนินการปรับปรุงอย่างเร่งด่วนเพื่อความปลอดภัยในงานก่อสร้างและอยู่อาศัยของประชาชน

สำนักงานกำกับดูแลของเมืองฉางชุน มณฑลจี๋หลิน ก็ได้ประกาศข้อมูล "ผลการสุ่มตรวจสอบคุณภาพวัสดุก่อสร้างตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ปี 2024 " บนเว็บไซต์ทางการ โดยประกาศฉบับนี้เปิดเผยว่าในการสุ่มตรวจครั้งนี้ สินค้าที่ไม่ผ่านการตรวจสอบทั้งหมดเป็นวัสดุกันซึมสำหรับงานก่อสร้าง และในจำนวนวัสดุกันซึมที่เข้ารับการตรวจทั้งหมด 30 ชุด กลับพบว่ามีมากถึง 18 ชุดที่ไม่ผ่านมาตรฐาน คิดเป็นอัตราสินค้าที่ไม่ผ่านถึง 60% จากผลการตรวจสอบอย่างเข้มงวด พบว่าผลิตภัณฑ์จากผู้จำหน่าย 13 ราย รวม 18 ชุด ไม่ผ่านมาตรฐาน และได้ถูกส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายแล้ว นอกจากนี้ ในประกาศยังได้ระบุรายละเอียดว่าผลิตภัณฑ์ทั้ง 18 ชุดที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ทั้งหมดเป็นวัสดุกันซึมแบบม้วนสำหรับงานก่อสร้าง เพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภค! ทั้งนี้การประกาศของเมืองปักกิ่งและฉางชุน ต่างเปิดเผยรายชื่อผู้ผลิตและประเภทสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานอย่างละเอียด เพื่อให้ประชาชนรับรู้กันทั่วหน้า

สรุปคือ สินค้าจีนยังเผชิญความท้าทายด้านคุณภาพอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ภายในประเทศหรือสินค้าที่ถูกส่งออกไปต่างประเทศ ถึงแม้ว่าจีนมีไลน์สินค้าบางประเภทที่โดดเด่นและภาคภูมิบนเวทีโลก แต่กลุ่มผู้ผลิตจีน (โดยเฉพาะรายเล็กและรายย่อย) จำนวนไม่น้อย ยังมีพฤติกรรมลักไก่หรือปลอมปนสินค้าเพื่อลดต้นทุนและทำทุกวิถีทางเพื่อกอบโกยกำไรสูงสุด


กำลังโหลดความคิดเห็น