xs
xsm
sm
md
lg

"ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10" บริษัทรับเหมาก่อสร้างระดับโลก โปรไฟล์ไม่ธรรมดา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10  จัดเป็นหน่วยปฏิบัติการระดับแกนกลางของไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป เข้าร่วมโครงการรับเหมาก่อสร้างข้ามอุตสาหกรรมข้ามชาติ และหลายโครงการฯในจีน เป็นอภิมหาโครงการที่มีความโดดเด่นทุบสถิติโลกในด้านต่างๆ (แฟ้มภาพจากสื่อจีน:  โครงการต่างๆที่ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10  ได้เข้าร่วมงานก่อสร้างฯ)
บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (China Railway No.10 Engineering Group) เป็นหนึ่งในบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นบริษัทในเครือของ ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป (China Railway Group) ซึ่งติดอันดับหนึ่งในบริษัทใหญ่ที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของนิตยสาร Fortune Global 500 ทั้งในระดับประเทศจีนและระดับโลก


บริษัทฯ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปี 2536 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองจี่หนาน มณฑลซานตง ปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 14,000 คน ในจำนวนนี้เป็นวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคกว่า 8,300 คน โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตวิศวกรควบคุมระดับ 1 ใกล้เคียง 300 คน

ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 มีรายได้ต่อปีมากกว่า 30,000 ล้านหยวน (ประมาณ 142,500 ล้านบาท) มีสินทรัพย์รวม 20,130 ล้านหยวน (ประมาณ 95,618 ล้านบาท) และทุนจดทะเบียน 1,334 ล้านหยวน (ประมาณ 6,342 ล้านบาท) บริษัทฯ ดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยใบอนุญาตระดับสูงสุดในงานก่อสร้างหลากหลายประเภท เช่น งานทางรถไฟ ถนน สะพาน อุโมงค์ ระบบกลไก ระบบไฟฟ้า งานสิ่งแวดล้อม ระบบประปา อาคารสูง รวมถึงงานออกแบบวิศวกรรมและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตในการรับเหมางานในต่างประเทศ และมีสิทธิ์ส่งแรงงานออกไปทำงานในโครงการต่างแดน โดยมีผลงานครอบคลุมในหลายทวีป ทั้งเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้

ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ได้โครงการรับเหมาก่อสร้างในไทยหลายโครงการ เช่น (สองภาพบน)  โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง  และ (ภาพล่างสุด) โครงการรับเหมาก่อสร้างตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่เพิ่งฉลองสิ้นสุดงานโครงสร้างเมื่อปี 2024 (แฟ้มภาพจากสื่อจีน)
ในประเทศจีน ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 มีผลงานโดดเด่นในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง และเส้นทางรถไฟหลายสาย เช่น สายปักกิ่ง-เกาลูนในฮ่องกง, สายปักกิ่ง–เซี่ยงไฮ้ (京沪高铁), สายชิงไห่–ทิเบต (青藏铁路), สายหางโจว–เซี่ยงไฮ้ (沪杭高铁) และโครงการอื่น ๆ อีกมากกว่า 100 โครงการ รวมระยะทางการก่อสร้างทางรถไฟมากกว่า 6,000 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าใต้ดินในเมืองใหญ่ เช่น กว่างโจว เซินเจิ้น เฉิงตู ซีอาน อู่ฮั่น รวมถึงงานก่อสร้างถนนและโครงสร้างพื้นฐานในเมืองสำคัญ เช่น ชิงเต่า ซูโจว กว่างโจว และโครงการทางด่วนความยาวรวมมากกว่า 1,500 กิโลเมตร

สำหรับโครงการต่างประเทศ บริษัทได้เข้าร่วมงานก่อสร้างในหลายประเทศ เช่น เบลารุส เวเนซุเอลา ซูดานใต้ ยูกันดา เคนยา ศรีลังกา รวมถึงไทย ครอบคลุมโครงการรถไฟ ถนน โครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนในเหมืองแร่

ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ได้รับรางวัลด้านคุณภาพและนวัตกรรมมากมาย เช่น รางวัลหลู่ปาน (鲁班奖) ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดในวงการก่อสร้างจีน รางวัลจันเทียนโหย่ว (詹天佑大奖) สำหรับผลงานวิศวกรรมยอดเยี่ยม และรางวัลถ้วยทองงานโยธานคร (市政金杯奖) รวมถึงรางวัลด้านเทคนิคและการพัฒนาอีกกว่า 100 รายการ พร้อมทั้งผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO ทั้งด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย

สะพานซิกิริ (Sigiri Bridge) ในประเทศเคนยา ถล่มพังลงมาก่อนที่จะสร้างเสร็จในปี 2560 อีกโครงการก่อสร้างที่ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง (ภาพจาก อินเทอร์เน็ต)
ทว่า ในแง่มุมด้านลบนั้น เคยปรากฎข่าวว่าสะพานซิกิริ (Sigiri Bridge) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างเหนือแม่น้ำเอ็นซัว (River Nzioa) ในเขตบูเซีย ทางตะวันตกของประเทศเคนยา พังถล่มเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2560 ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 27 คน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียง 12 วันหลังจากที่ประธานาธิบดีอูฮูรู เคนยัตตา (Uhuru Kenyatta) ของเคนยา เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการดังกล่าว

โครงการสะพานซิกิริมีมูลค่ารวม 1.2 พันล้านชิลลิงเคนยา (ประมาณ 11.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 420 ล้านบาท) ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 โดยเริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี 2558 และมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2560 สะพานนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อชุมชนที่ประสบปัญหาด้านการเดินทาง หลังเกิดเหตุเรือล่มขณะชาวบ้านพยายามข้ามแม่น้ำในปี 2557 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย

นายเจอโรม อาซูฮา (Jerome Azhuha) ผู้จัดการโครงการจากฝั่งบริษัทจีน ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า เหตุการณ์นี้เป็นเรื่อง “ผิดปกติ” เนื่องจากการก่อสร้างดำเนินตามมาตรฐานทางวิศวกรรมทุกประการ

เหตุการณ์นี้สร้างความเสียหายไม่เพียงแค่ในแง่วิศวกรรมเท่านั้น แต่ยังส่งผลทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยสะพานซิกิริถูกใช้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของรัฐบาลเคนยาในการหาเสียงเลือกตั้ง ภายใต้ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเลือกตั้งซึ่งประธานาธิบดีเคนยาได้เคยประกาศระหว่างเยี่ยมชมพื้นที่ว่า โครงการนี้คือเครื่องพิสูจน์ว่า “รัฐบาลมีเจตจำนงที่แท้จริงในการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่แค่คำโฆษณา”

ฝ่ายค้านโดยนายไรลา โอดิงกา (Raila Odinga) ผู้นำฝ่ายค้าน ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยกล่าวหารัฐบาลว่าผลักดันโครงการนี้อย่างเร่งรีบเพื่อหวังผลทางการเมือง พร้อมอ้างถึงการทุจริตในโครงการรัฐผ่านเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจในการอนุมัติโครงการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

ที่มา กลุ่มสื่อต่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น