xs
xsm
sm
md
lg

ตายก็หนีไม่พ้นของจีน! จีนยึดตลาด “สินค้าหลังความตาย” ทั่วโลก กวาดเงินแสนล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จีนเริ่มมีบทบาทสำคัญในธุรกิจ “สินค้าหลังความตาย” ทั่วโลก ทั้งการบริหารจัดการพิธีศพ ผลิตโลงศพ หีบเก็บอัฐิ หรือตราสัญลักษณ์บนหลุมศพ แม้แต่การผลิต “เงินกงเต๊ก” ก็เริ่มตีตลาดตะวันตกได้แล้ว โดยเฉพาะในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงและความต้องการหลากหลาย

ในปี 2565 "อาเบะ ชินโซ" อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่เสียชีวิตจากเหตุลอบยิง มีพิธีเผาศพที่ดำเนินการโดยบริษัท Tokyo Bozen Co., Ltd. ซึ่งอยู่ภายใต้การถือหุ้นของทุนจีน บริษัทนี้ควบคุมการดำเนินงานของสถานที่เผาศพ 6 แห่งจากทั้งหมด 9 แห่งในโตเกียว รวมถึงสถานที่จัดพิธีศพของอาเบะด้วย

เมืองเฉาหยาง ในมณฑลซานตง เป็นแหล่งผลิตโลงศพรายใหญ่ที่ส่งออกไปญี่ปุ่น โดยในปี 2567 ส่งออกโลงศพไปญี่ปุ่นถึง 1.2 ล้านชุด คิดเป็น 90% ของตลาดโลงศพในญี่ปุ่น โดยใช้ไม้เบาทนความร้อน ซึ่งเหมาะกับพิธีเผาศพแบบญี่ปุ่น และมีต้นทุนต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ในประเทศญี่ปุ่นถึงครึ่งหนึ่ง

นอกจากนี้ ผู้ผลิตในเฉาหยางยังผลิตแท่นบูชาและป้ายวิญญาณสำหรับใช้งานในพิธีศพแบบญี่ปุ่น และได้ปรับสินค้าให้เข้ากับกระแสนิยมใหม่ เช่น โลงศพขนาดเล็กหรือกล่องอัฐิที่ใช้เก็บในบ้าน สอดคล้องกับความนิยมในครอบครัวที่มีขนาดเล็กลงจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดต่ำ

เมืองฮุ่ยอัน มณฑลฝูเจี้ยน ส่งออกหลุมศพหินแกรนิตไปยังญี่ปุ่นกว่า 200,000 ชุดต่อปี คิดเป็น 90% ของตลาดญี่ปุ่น มูลค่ารวมประมาณ 20,000 ล้านหยวน หรือราว 104,000 ล้านบาท จุดแข็งคือราคาถูกกว่าของญี่ปุ่นถึง 2 ใน 3 และระยะเวลาผลิตเพียง 3-4 สัปดาห์


ในช่วงการระบาดของโควิด-19 เมื่อโรงงานในฮุ่ยอันหยุดผลิตชั่วคราวเพียง 3 สัปดาห์ ญี่ปุ่นถึงกับต้องใช้ป้ายไม้แทนหลุมศพหินชั่วคราว ทำให้ชาวญี่ปุ่นหลายคนแสดงความรู้สึกว่า “แม้แต่การตายก็ยังหลีกหนีสินค้าจีนไม่ได้”

หมู่บ้านหมี่เป่ยจวง ในเมืองเป่าติง มณฑลเหอเป่ย เป็นศูนย์กลางการผลิตธนบัตรกงเต๊ก ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในสื่อสังคมออนไลน์ของตะวันตก โดยมีการผลิตในรูปแบบของเงินดอลลาร์สหรัฐ ยูโร ปอนด์ ฯลฯ และมีการพัฒนาเป็นสินค้าเผาจำลองไอโฟน เครื่องบิน กระเป๋าแบรนด์เนม หรือของใช้สัตว์เลี้ยง เพื่อรองรับพิธีศพสัตว์เลี้ยงที่กำลังได้รับความนิยม

ในช่วงฮาโลวีนปี 2567 ยอดค้นหา “Ancestor Money” (เงินกงเต๊ก) ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 1,800% และยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 135% โดยสินค้าต้นทุน 3.9 หยวน (ประมาณ 20 บาท) ถูกขายใน Amazon สูงถึง 110 บาท

แม้ตลาดสินค้าหลังความตายของสหรัฐฯ จะมีขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 657,000 ล้านบาท) และถูกครอบครองโดยบริษัทใหญ่ เช่น Batesville และ Matthews International แต่ผู้ประกอบการจีนก็เริ่มแทรกตัวเข้าไปได้แล้ว

บริษัท Sich Casket จากฮ่องกง เป็นหนึ่งในผู้จัดจำหน่ายโลงศพให้กับสุสานในสหรัฐฯ มีคลังสินค้าอัตโนมัติ 63 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่ห้าง Costco ก็จำหน่ายโลงศพที่ผลิตจากจีน ผ่านบริษัทพันธมิตรจากออสเตรเลียอย่าง Scientia Coffins and Caskets ซึ่งใช้วัสดุรีไซเคิลต้นทุนต่ำ

ผู้ประกอบการจีนเล็งเห็นโอกาสในตลาดพิธีศพสัตว์เลี้ยง โดยโรงงานในเฉาหยางเริ่มผลิตโลงศพสำหรับสัตว์เลี้ยงเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ โลงศพที่มีต้นทุนเพียง 20 หยวน (ประมาณ 104 บาท) ถูกนำไปจำหน่ายบน Amazon ในราคา 25 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 913 บาท) ส่วนโลงศพเกรดพรีเมียมสำหรับสัตว์เลี้ยงมีราคาสูงถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7,300 บาท)



กำลังโหลดความคิดเห็น