xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : ส่อง “โครงการกากเต้าหู้จีน” และความพยายามแก้ไขปัญหาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล


จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา-ไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯที่รุนแรงแบบไม่เคยมีมาก่อน สร้างความตื่นตระหนกและความหวาดกลัวให้กับชาวไทยเป็นอย่างมาก หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เกิดมาไม่เคยเจอ” ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงจากเมียนมาที่แรงสั่นสะเทือนมาถึงไทยครั้งนี้สร้างความเสียหายระดับต่างๆโดยเฉพาะตึกสูงในกรุงเทพฯ โดยมีเหตุการณ์ที่สร้างความตกใจและเกินความคาดหมายของประชาชนคือ ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. แห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างบริเวณเขตจตุจักร ได้พังครืนถล่มลงมาต่อหน้าต่อตา

ในบรรดาตึกที่กำลังก่อสร้างนั้นมีตึกสตง.นี้ที่เดียวที่พังถล่มลงมา ทำให้ประชาชนไทยตั้งคำถามและมีข้อสงสัยกับโครงการนี้กันมาก หลังจากเกิดเหตุฯมีการเปิดเผยข้อมูลว่า โครงการก่อสร้างตึกสตง.ดำเนินการโดยกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด หลังจากเกิดเหตุ สตง.ออกมายืนยันว่าการดำเนินโครงการก่อสร้างเป็นไปตามขั้นตอนที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีสื่อไปขุดคุ้ยและรายงานว่าบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด มีความไม่ชอบมาพากล ซึ่งบริษัทนี้เป็นหนึ่งในผู้รับจ้างก่อสร้าง มีสำนักงานตั้งอยู่ในอาคารห้องแถว หลังเกิดเหตุสำนักงานดังกล่าวปิดเงียบและยังมีเหตุการณ์ที่น่าสงสัยคือพบชาวจีนหอบเอกสารจำนวนมากออกจากไซด์งานและหลบหนีผู้สื่อข่าว

จากประเด็นเรื่องโครงสร้างและความไม่ชอบมาพากลของตึกที่พังถล่ม ทำให้ทั้งสื่อและภาคประชาชนขุดคุ้ยปัญหาการก่อสร้างของบริษัทผู้รับเหมาจีน ซึ่งอาจเกี่ยวโยงกับการคอรัปชั่นในโครงการ ทำให้มีการลดสเปกวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง หรือใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น

ในจีนมีวลีหนึ่งที่ใช้กันมานาน คือ “โครงการกากเต้าหู้” ที่ภาษาจีนเรียกว่า“豆腐渣工程” (อ่านว่า โต้วฟูจากงเฉิง)หมายถึงโครงการก่อสร้างที่มีคุณภาพต่ำ ไม่ได้มาตรฐาน มีการลดต้นทุนโดยการใช้วัสดุคุณภาพต่ำ และมีโครงสร้างที่ไม่ปลอดภัย มักเกิดจากปัญหาการทุจริต การกำกับดูแลที่หละหลวม หรือผู้รับเหมาแอบลดสเปกวัสดุ ทำให้สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้พังถล่มได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อเกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือภัยพิบัติอื่นๆ และบางครั้งก็พังลงมาเองโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน

คำโปรยภาษาจีนในภาพเขียนว่า “โครงการกากเต้าหู้โผล่อีกแล้ว ถนนยังไม่เปิดใช้ ก็มีสภาพเช่นนี้ ผู้ที่เหนื่อยเป็นคนงานอีกเช่นเคย”  (ภาพจาก Bilibili)
ตัวอย่าง “โครงการก่อสร้างกากเต้าหู้” ที่ฉาวโฉ่ในจีน มีดังนี้  1. เหตุโรงเรียนถล่มในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวน ในปี 2008 โดยโรงเรียนหลายพันแห่งพังถล่มลงมา ขณะที่อาคารของรัฐบาลและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่เดียวกันกลับไม่เสียหาย ต่อมามีการสืบสวนเผยออกมาว่าโครงสร้างของโรงเรียนหลายแห่งที่ถล่มพังไปนั้นใช้วัสดุคุณภาพต่ำ เช่น ปูนซีเมนต์อ่อนตัว เหล็กเสริมไม่เพียงพอ

2. โครงการสะพานหยางหมิงถัน (Harbin Yangmingtan Bridge) พังถล่ม ในปี 2012 สะพานแห่งนี้เปิดใช้งานได้เพียง 1 ปีก่อนที่ส่วนหนึ่งของสะพานจะพังถล่มลงมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ต่อมาจากการสอบสวนพบว่ามีปัญหาทั้งในขั้นตอนการออกแบบและการก่อสร้าง

3. โครงการหอหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมืองเฟิงเฉิง พังถล่ม ในปี 2019 เพราะอุบัติเหตุในระหว่างการก่อสร้างทำให้โครงสร้างหอหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าพังถล่ม คร่าชีวิตคนงาน 73 ราย ตอนหลังพบว่าเกิดจากการขาดมาตรการด้านความปลอดภัย และการออกแบบที่มีปัญหา

4. โครงการอาคารที่พักอาศัยในเมืองฉางซา พังถล่มในปี 2021 เป็นอาคารสูง 6 ชั้นพังถล่มโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า จากการสอบสวนพบว่าเจ้าของอาคารมีการต่อเติมผิดกฎหมาย ทำให้โครงสร้างรับน้ำหนักไม่ไหว

5.โครงการทางด่วนพังถล่มในมณฑลกุ้ยโจว ในปี 2022 เป็นถนนทางด่วนใหม่ถล่มพังหลังจากเปิดใช้งานได้ไม่นานเนื่องจากดินถล่ม ผลการสอบสวนพบว่าโครงการขาดการสำรวจทางธรณีวิทยาอย่างละเอียด และไม่มีมาตรการป้องกันดินถล่มที่เพียงพอ นอกไปจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการในจีนที่ไม่ได้กล่าวถึง ณ ที่นี้

หากเรามองไทม์ไลน์ที่เกิดเหตุการณ์จะเห็นว่าในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงว่า “โครงการก่อสร้างกากเต้าหู้” ในจีนยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน

สาเหตุของโครงการก่อสร้างกากเต้าหู้ในจีน มีหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การลดต้นทุนของผู้รับเหมา โดยใช้วัสดุราคาถูก ลดปริมาณเหล็กเสริม, การกำกับดูแลที่อ่อนแอ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เข้มงวดหรือมีผลประโยชน์ร่วมกับผู้รับเหมา, การทุจริตโดยเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนรับสินบนจากบริษัทก่อสร้างเพื่อลดมาตรฐาน และสุดท้ายข้อผิดพลาดในการออกแบบเพราะไม่มีการศึกษาปัจจัยแวดล้อมก่อนการก่อสร้างอย่างเพียงพอ จะสังเกตได้ว่าเหตุผลต่างๆเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในจีนก็มีโอกาสเกิดในไทยเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นการคอรัปชั่นร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้รับเหมา

ชาวเน็ตจีนรณรงค์ให้เฝ้าระวัง “โครงการกากเต้าหู้” ชักชวนให้จับตามองโครงการตึกอาคารที่อาจแฝงภัยอันตราย (ภาพจากโซเชียลฯจีน เวยปั๋ว)
ที่น่าสนใจคือ 86% ของโครงการก่อสร้างในจีนใช้ระบบแบบ “รับเหมาช่วง” เป็นอีกสาเหตุทำให้เกิดปัญหาโดยที่ผู้รับเหมาหลักส่งต่อโครงการให้ผู้รับเหมารายย่อย และผู้รับเหมาช่วงมักลดต้นทุนโดยใช้วัสดุที่ด้อยคุณภาพหรือก่อสร้างแบบไม่ได้มาตรฐาน เพราะมีลำดับชั้นของการบริหารโครงการที่มากเกินไป ทำให้เกิดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการบริหารในแต่ละขั้นตอน ส่งผลให้ต้นทุนสำหรับการก่อสร้างที่แท้จริงถูกลดลงจนกระทบต่อคุณภาพ

การติดสินบนเพื่อให้ได้งานก่อสร้างกลายเป็น “กฎลับ” ที่แพร่หลายในวงการก่อสร้างของจีน ผู้รับเหมาบางรายต้องใช้เงินจำนวนมากในการติดสินบนเพื่อให้ได้รับสัญญาก่อสร้างทำให้เงินทุนที่เหลือสำหรับการก่อสร้างจริงลดลง ต่อมาคือการโอนงานแบบผิดกฎหมาย กล่าวคือโครงการก่อสร้างมักถูกส่งต่อให้ผู้รับเหมารายอื่นๆ เป็นทอดๆ โดยแต่ละครั้งที่มีการส่งต่อ จะมีการหักเงินค่าธรรมเนียมออกไป ทำให้เงินทุนที่ใช้จริงในการก่อสร้างเหลือน้อยลง

ในบางกรณีของจีนการตรวจสอบคุณภาพของโครงการเป็นเพียง “พิธีการ” ที่ขาดความเข้มงวด บางครั้งถึงขั้นมีการปลอมแปลงเอกสารให้ผ่านการตรวจสอบซึ่งกรณีแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนับเป็นเรื่องใหญ่ที่น่าตกใจมาก กรณีสะพานเฉียนเจียงซานเฉียว (Qianjiang Third Bridge) ในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง มีการทุจริตในโครงการอย่างรุนแรง ทำให้ตัวสะพานเกิดรอยร้าวและพังถล่มหลายครั้ง เนื่องจากมีการลดต้นทุนโดยใช้วัสดุที่ต่ำกว่ามาตรฐาน สุดท้ายต้องรื้อสะพานและสร้างกันใหม่

รัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายและระเบียบข้อบังคับหลายฉบับเพื่อควบคุมคุณภาพของสิ่งก่อสร้าง
เช่น กฎหมายว่าด้วยการก่อสร้าง ประกาศใช้ในปี 1997 และปรับแก้หลายครั้ง กำหนดมาตรฐานคุณภาพการก่อสร้าง และกระบวนการตรวจสอบ , ข้อบังคับว่าด้วยการบริหารคุณภาพงานก่อสร้างในปี 2000 ควบคุมกระบวนการออกแบบ ก่อสร้าง และตรวจสอบงาน, กฎหมายว่าด้วยการประกวดราคาในปี 1999 ป้องกันการคอร์รัปชันและการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส การตรวจสอบโครงการก่อสร้างทั่วประเทศ ,ในปี 2019 กระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมืองชนบท ได้เริ่มทำการตรวจสอบคุณภาพงานก่อสร้างทั่วประเทศเพื่อค้นหาปัญหาการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน และในปี 2022 รัฐบาลได้สั่งให้มีการตรวจสอบโครงสร้างของอาคารและสิ่งปลูกสร้างในเมืองใหญ่ เพื่อลดความเสี่ยงจากอาคารเก่าและการก่อสร้างที่ไม่ได้คุณภาพ

ล่าสุดในปี 2023 รัฐบาลจีนออกนโยบาย "ระบบความรับผิดชอบตลอดชีพ" (终身责任制) ที่ให้ผู้รับเหมา นักออกแบบ และวิศวกรต้องรับผิดชอบตลอดชีวิตในกรณีเกิดปัญหากับโครงการที่พวกเขามีส่วนรับผิดชอบ

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนพยายามเพิ่มมาตรการตรวจสอบคุณภาพของโครงการก่อสร้างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีกรณีอาคารถล่มและปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้มาตรฐานให้เห็นอยู่บ่อยๆ ซึ่งทำให้สังคมจีนยังจับตาดูปัญหานี้อย่างใกล้ชิด จากปัญหาในจีนหันมามองไทยก็พบปัญหาคล้ายๆกัน เหตุการณ์ “โครงการก่อสร้างกากเต้าหู้” ในจีน ก็เหมือนได้บังเกิดขึ้นในไทยแล้ว เพราะถึงแม้ว่าจะมีการตรวจสอบและออกมายืนยันความถูกต้อง ถูกสเปกของโครงการอย่างไร แต่ภาคสื่อและประชาชนก็แสดงความสงสัยและชี้ถึงความไม่ชอบมาพากลในโครงการนี้อยู่ไม่น้อย .


กำลังโหลดความคิดเห็น