ในมุมมองของนักวิเคราะห์ จีนมีความเปราะบางมากกับมาตรการภาษีล่าสุดที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์งัดมาเล่นงาน อาจถึงขั้นเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า
การประกาศอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariffs) ที่สหรัฐอเมริกาจะเรียกเก็บกับสินค้านำเข้าจากกว่า 180 ประเทศและดินแดนของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์เมื่อวันพุธที่ 2 เมษายน ซึ่งทรัมป์เรียกว่า เป็นวันแห่งการปลดปล่อยนั้น
ในส่วนประเทศจีนถูกรีดเพิ่มอีก 34 % จากอัตราภาษีนำเข้าเดิม 20 % รวมเป็น 54 %
มาตรการล่าสุดนี้ทำให้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน สองชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่เดือดปุด ๆ กลายเป็นเดือดพล่าน รัฐบาลจีนสาบานว่าจะประกาศมาตรการตอบโต้ พร้อมกับเตือนว่าอัตราภาษีนำเข้าใหม่นี้จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกเป็นง่อยรวมถึงผลประโยชน์ของสหรัฐฯเองด้วย
จีนเป็นเป้าหมายที่มีความเปราะบางมากๆ ก็เพราะเศรษฐกิจจีนมีการส่งออกเป็นปัจจัยขับเคลื่อน การส่งออกสินค้าของจีนเมื่อปีที่แล้ว 16.4 % ส่งไปสหรัฐฯ มีมูลค่ารวมมากกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์
ด้วยสงครามการค้าที่เลวร้ายหนักจีนจึงไม่น่าจะฝากความหวังไว้กับการส่งออกได้อีกต่อไปว่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่งในปีนี้ หลังจากจีนส่งออกมากประวัติการณ์ในปี 2567
รัฐบาลจีนต้องเร่งแก้ไขวิกฤตหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับใช้มาตรการทางการคลังมากระตุ้นเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างอ่อนแรง แต่การขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนที่สหรัฐฯประกาศในปีนี้อาจลบล้างผลดีที่จีนได้รับจากการออกมาตรการด้านการคลังก็เป็นได้ นาย เฟรเดอริก นอยมันน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียของเอชเอสบีซีระบุ
แม้ผลกระทบด้านการแข่งขันในการส่งออกอาจบรรเทาลงบ้าง เนื่องจากทุกประเทศล้วนได้รับแรงกระแทกจากภาษีศุลกากรตอบโต้ แต่เศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตล่าช้าอย่างมีนัยสำคัญอยู่ดี เขาย้ำ
ภาษีศุลกากรตอบโต้นี้กำหนดอัตราพื้นฐานที่ 10% แต่สำหรับประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯจะถูกเก็บในอัตราสูงกว่านั้น และทรัมป์เดือดดาลที่จีนเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯมาตลอด ซึ่งสูงถึง 295,400 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ตามข้อมูลของสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ
ภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ จะบังคับใช้เป็นขั้นตอนคือเริ่มจาก 10 % ในวันพฤหัสฯ ( 3 เม.ย.) ตามมาด้วยการเก็บภาษีเต็มรูปแบบในวันที่ 9 เมษายน
นักวิเคราะห์คาดว่า ภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ จะเฉือนจีดีพีของจีนไปไม่น้อยจากที่รัฐบาลปักกิ่งคาดหวังว่าจะโต 5 % ในปีนี้
นาย จูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ด หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์จีนของแคปปิตอล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) คาดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจะอยู่ระหว่าง 0.5 - 1 %ของจีดีพี
อย่างไรก็ตาม นาย ยีน หม่า หัวหน้าฝ่ายวิจัยจีนของสถาบันการเงินระหว่างประเทศมองว่า สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุนและวัสดุอุตสาหกรรม ไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภค ฉะนั้น ผู้ผลิตและผู้บริโภคอเมริกันจะพลอยเดือดร้อนจากภาษีศุลกากรตอบโต้ไปตาม ๆ กัน
“สงครามการค้าครั้งนี้นอกจากจะส่งผลเสียหายต่อจีนแล้ว ยังส่งผลเสียหายต่อระบบการค้าโลกอีกด้วย” เฉิน เหวินหลิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของศูนย์แลกเปลี่ยนเศรษฐกิจระหว่างประเทศแห่งจีนในกรุงปักกิ่งระบุ
ที่มา : เอเอฟพี