อัยการสูงสุดของจีน กล่าวรายงานต่อที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติว่าคดี "แก๊งตระกูลหมิง" ที่ก่ออาชญากรรมในเมียนมา เป็นหนึ่งในคดีตัวอย่างสำคัญของปีนี้ ซึ่งแสดงถึงความตั้งใจจริงของหน่วยงานยุติธรรมจีนในการจัดการอาชญากรรมข้ามชาติอย่างเด็ดขาด
อัยการในมณฑลเจ้อเจียง ได้ยื่นฟ้องสมาชิกแก๊งหมิงจำนวน 39 คนเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ในข้อหาหนักต่างๆ ซึ่งต่อมาศาลประชาชนระดับกลางเมืองอู๋โจว มณฑลเจ้อเจียง เปิดการพิจารณาคดีครั้งแรกระหว่างวันที่ 14-19 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีจำเลย 23 คน รวมถึง หมิง กั๋วผิง, หมิง เจินเจิน, ปี๋ ฮุ่ยจวิน, หมิง จี้วหลาน และ อู๋ หงหมิง ถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง ฆาตกรรม ทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว ขู่กรรโชก เปิดบ่อนพนัน จัดหาหญิงให้บริการทางเพศ ค้ายาเสพติด ลักลอบพาคนเข้าออกประเทศ และละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
แก๊งตระกูลหมิงสร้างภาพว่าเปิด "นิคมอุตสาหกรรม" และเสนองานที่มีรายได้สูง เพื่อหลอกล่อชาวจีนให้เดินทางข้ามแดนไปยังพื้นที่ที่แก๊งควบคุมในเมียนมาตอนเหนือ แต่เมื่อเหยื่อเดินทางไปถึงกลับถูกกักขัง และถูกบังคับให้ทำงานฉ้อโกงทางโทรคมนาคม โดยใช้วิธีหลอกเหยื่อ เช่น ปลอมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือสร้างเว็บลงทุนปลอม หากทำยอดไม่ได้ตามเป้า ก็จะถูกทำร้าย เช่น ถูกช็อตไฟฟ้า ทุบตี หรือขายต่อให้แก๊งอื่น
เครือข่ายของแก๊งนี้แผ่ขยายจากเมียนมาเข้าสู่จีน มีเงินหมุนเวียนจำนวนมาก และสร้างความเสียหายทั้งต่อครอบครัวของผู้เสียหาย และต่อความมั่นคงของสังคม
อัยการสูงสุดยังเน้นว่า จีนยึดหลัก "ใครหนีต้องตาม ใครโกงต้องยึดคืนทรัพย์" พร้อมยกตัวอย่างคดีอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานเชิงรุก
คดีนี้ถือเป็นหนึ่งในคดีอาชญากรรมข้ามชาติที่มีเอกสารหลักฐานจำนวนมากโดยสื่อจีนรายงานว่าตำรวจได้ส่งมอบเอกสารการฟ้องร้องต่ออัยการที่มีน้ำหนักมากถึง 2 ตันประกอบด้วยแฟ้มสำนวน 1,110 เล่ม เอกสารและหลักฐานกว่า 15,000 รายการ และข้อมูลดิจิทัลขนาด 50TB
ในปี 2567 จำนวนผู้ถูกฟ้องในคดีโกงทางโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นถึง 53.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน จีนยังได้พัฒนาความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งการจับกุมผู้ต้องหาตามแนวชายแดน การตามยึดทรัพย์ในต่างแดน การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการขอความร่วมมือด้านกฎหมาย
การทลายเครือข่ายแก๊งหมิงจึงไม่ใช่แค่การจับผู้ร้าย แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายของจีนสามารถขยายอำนาจไปไกลถึงต่างประเทศ และแสดงให้เห็นว่าความยุติธรรมจะไม่ล่าช้าและไม่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล