xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการภาษีรถยนต์นำเข้าของทรัมป์ ซัปพลายเออร์ชิ้นส่วนจีนไม่เดือดร้อน ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จูดี้ จาง ผู้จัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ชาวจีน (ขวา) กับเพื่อนร่วมงานในงานมหกรรมบำรุงรักษาและซ่อมแซมรถยนต์ ( Auto Maintenance and Repair Expo) ในกรุงปักกิ่ง
มาตรการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนจากต่างประเทศ 25 % ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกา มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันพฤหัสฯ ที่ 3 เมษายน 2568

มาตรการภาษีของทรัมป์ ผู้บริโภคอเมริกันคือผู้จ่าย ไม่ใช่จีน นี่คือความเห็นของซัปพลายเออร์หรือผู้จัดหาชิ้นส่วนรถยนต์หลายรายในงานแสดงชิ้นส่วนรถยนต์ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งมีซัปพลายเออร์ของจีน1,200 รายเข้าร่วมเมื่อวันจันทร์ ( 31 มี.ค.)

“ จูดี้ จาง” เป็นซัปพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์ของบริษัทชิงเต่า เคเอสที เทคโนโลยี (Qingdao KST Technology Inc.) ซึ่งผลิตและจำหน่ายท่อเบรกให้กับรถยนต์หลายพันรุ่นในสหรัฐฯ บริษัทของจางเป็นหนึ่งรายที่ถูกรีดภาษีใหม่นี้


นอกจากภาษีนำเข้ารถดังกล่าวแล้ว ภายใต้การบริหารของทรัมป์จีนถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ามาแล้วหลายรอบได้แก่ภาษีนำเข้าในอัตรา 25 % ที่เรียกเก็บในช่วงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก เมื่อกลับมาดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ในเดือนมกราคมเรียกเก็บเพิ่ม 20 % และล่าสุดในการประกาศอัตราภาษีนำเข้าใหม่ ซึ่งเป็นภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariffs) สำหรับประเทศทั่วโลกเมื่อวันพุธ ( 2 เม.ย.) นั้น จีนถูกรีดเพิ่มอีก 34 % ทำให้จีนถูกเก็บภาษีสินค้านำเข้ารวมทั้งหมดอย่างน้อย ๆ 54%


จางให้สัมภาษณ์ว่า ภาษีนำเข้าเดิมที่เธอต้องจ่าย 45 % เธอสามารถผลักภาระภาษีไปให้กับลูกค้าชาวอเมริกันได้แล้ว ส่วนมาตรการภาษีใหม่ที่ทรัมป์ประกาศเธอจะพิจารณาแบกรับได้อย่างมากที่สุด 15 % แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าอเมริกันมีคำสั่งซื้อมากขึ้นหรือไม่


“หากพวกเขาต้องการทำธุรกิจกับเราต่อไปก็จะต้องรับภาระภาษีนี้และอาจต้องขึ้นราคาสินค้ากับผู้บริโภคด้วย” จางระบุ

การสาธิตที่งานมหกรรมบำรุงรักษาและซ่อมแซมรถยนต์ ( Auto Maintenance and Repair Expo ) ในกรุงปักกิ่งเมื่อวันจันทร์ ( 31 มี.ค. )
รถยนต์ผลิตในจีนไม่จำหน่ายกันอย่างแพร่หลายในสหรัฐฯ แต่ความสำคัญของจีนอยู่ตรงที่ตลาดหลังการขาย ซึ่งให้บริการซ่อมรถแก่ลูกค้า

ร้านขายอะไหล่รถยนต์ เช่น ออโต้โซน (AutoZone) โอ’ไรลลี ( O’Reilly ) และนาปา (NAPA) เชื่อมือซัปพลายเออร์จีนในการจัดหาชิ้นส่วนหลากหลายประเภทได้ด้วยราคาที่ต่ำ เนื่องจากจีนมีสายการผลิตที่ยืดหยุ่นและมีแรงงานถูกกว่า ซึ่งหาชาติอื่นมาแทนที่ยาก

แจ็ก เพอร์โควสกี้ ผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนการบริหารของเจเอฟพีโฮลดิงส์ ( JFP Holdings ) สถาบันเพื่อการลงทุนซึ่งมีฐานอยู่ในปักกิ่งระบุว่า คนจีนเก่งมากในการคิดหาวิธีผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หลากหลายแบบซึ่งสามารถใช้ได้กับรถยนต์ยี่ห้อต่าง ๆ ที่ขายในสหรัฐฯ เช่น ฟอร์ด จีเอ็ม โตโยต้า และบีเอ็มดับเบิลยู แถมต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มถูกกว่าที่อื่นอีกด้วย

รถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ในศูนย์กระจายสินค้าในเมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน เมื่อปีที่แล้ว
นาย กอสเวน จั๋ว ( Gosven Zuo) ผู้ผลิตแท่นยึดเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ดและเจเนอรัลมอเตอร์ส รวมถึงยี่ห้ออื่นๆ กล่าวว่าภาษีนำเข้า 45% ที่สหรัฐฯเรียกเก็บที่ผ่านมา เขาจ่ายเงินไม่เกิน 5% แต่ผู้ซื้ออเมริกันรับผิดชอบเสียส่วนใหญ่ แน่นอนว่าสำหรับมาตรการภาษีใหม่เขาต้องยอมสูญเสียมากขึ้น เพราะยิ่งภาษีนำเข้าสูงขึ้นเท่าไร การจะลดค่าใช้จ่ายก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น

“พูดตรงๆ ก็คือ เราไม่มีช่องทางประนีประนอมอีกแล้ว เราเป็นผู้ผลิต เราไม่ได้มีอัตรากำไรสูง” เขากล่าว

ผลิตภัณฑ์ของจั๋วราว 30 % จำหน่ายในสหรัฐฯ ขณะนี้เขาพยายามขยายตลาดใหม่ ๆ โดยมองหาผู้ซื้อเพิ่มในจีน รวมถึงในยุโรปและตะวันออกกลาง ภาษีนำเข้าเป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นก็เพื่อความอยู่รอดของโรงงาน


ทรัมป์ระบุว่า มาตรการภาษีของเขาจะผลักดันการผลิตจากชาติต่าง ๆ เช่นจีน กลับเข้ามาในสหรัฐฯ แต่จั๋วและคนอื่น ๆ มองว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้

จูดี้ จางกล่าวว่า เธอไม่มีแผนหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าด้วยการย้ายการผลิตไปอยู่ในสหรัฐฯ เพราะบริษัทของเธอไม่ใช่บริษัทใหญ่โตอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนโยบายของทรัมป์เอาแน่เอานอนไม่ได้เลย

ที่มา : เอ็นบีซีนิวส์


กำลังโหลดความคิดเห็น