MGR Online: ผู้เชี่ยวชาญในเวทีประชุม “ป๋ออ๋าว ฟอรั่ม” ชี้ ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน รั้งท้ายประเทศอาเซียน ต้องเพิ่มความร่วมมือนานาชาติ พัฒนานวัตกรรม ถึงจะ Make Thailand Great Again! ได้
ป๋ออ๋าว ฟอรั่ม (Boao Forum) เป็นการประชุมระหว่างประเทศ ที่จัดขึ้นโดยมี ประเทศจีน เป็นแกนนำ พร้อมด้วยความร่วมมือของ26 ประเทศในเอเชียและออสเตรเลีย โดยชื่อของ ป๋ออ๋าว ฟอรั่ม ก็มาจากชื่อตำบลป๋ออ๋าว ในมณฑลไห่หนาน ซึ่งเป็นที่จัดการประชุมหลักเป็นประจำทุกปี โดยถูกเรียกว่า“การประชุมดาวอสแห่งเอเชีย” เพราะว่ามีบทบาทคล้ายกับเวที World Economic Forum ที่จัดขึ้นในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดย เวทีดาวอส ส่วนใหญ่จะหารือกันเรื่องเศรษฐกิจโลกในทัศนะของชาติตะวันตก แต่ป๋ออ๋าว ฟอรั่ม จะให้ความสำคัญกับเอเชียเป็นหลัก
การประชุมป๋ออ๋าว ฟอรั่ม ในปีนี้ มีหัวข้อหลักคือ “ร่วมสร้างอนาคตของเอเชีย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก” โดยความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ ก็มาจากหลายปัจจัย ทั้งภูมิรัฐศาสตร์, การเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ, โครงสร้างประชากรที่หลายประเทศในโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย รวมถึง การเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีด้วย
เศรษฐกิจไทยรั้งท้ายกลุ่มประเทศอาเซียน
รายงานประจำปีของป๋ออ๋าว ฟอรั่ม ระบุว่า ในปีที่แล้ว2567 GDP ของประเทศไทย เติบโต2.5% และที่น่าสังเกตก็คือ ประเทศไทยเราเป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่เศรษฐกิจเติบโตน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มอาเซียน ที่อยู่ที่ 4.3%
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนใน ป๋ออ๋าว ฟอรั่ม บอกตรงกันว่า ประเทศไทยกำลังเสียเปรียบด้านการแข่งขัน เพราะว่าไทยผลิตสินค้าที่ล้าสมัย ตกยุค เช่น ฮาร์ดดิส,ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิสก์แบบเก่า, รถยนต์สันดาปภายใน นอกจากนี้ ไทยยังเป็นทำแค่ รับจ้างผลิต รับจ้างประกอบชิ้นส่วน ซึ่งไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มมากมาย
ในด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยทำผลงานได้ดี นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทยเมื่อปีที่แล้ว มีมากกว่า 35 ล้านคน
ถือว่ากลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาดแล้ว และสูงกว่าหลายประเทศในเอเชีย แต่ความท้าทายของเราก็คือ
จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากกว่านี้ ได้ยากแล้ว เพราะมีคู่แข่งมากขึ้น โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ที่แต่ก่อนมีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเยือนน้อยกว่าเมืองไทยเรา แต่บัดนี้ได้แซงหน้า ขึ้นมาเป็นคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวกับเมืองไทยแล้ว
ปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเที่ยวญี่ปุ่นมากกว่า 36 ล้านคน มากกว่านักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทย และที่สำคัญก็คือ ญี่ปุ่นมีอัตราการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงที่สุดในเอเชีย คือ เพิ่มขึ้น 1,335% จากปีก่อนหน้า และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไปญี่ปุ่นทุบสถิติ สูงกว่าช่วงก่อนหน้าที่มีโรคโควิด-19 ด้วย
ส่วนประเทศจีน เดิมทีก็มีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากกว่าเมืองไทยอยู่แล้ว ในปีที่แล้ว มีชาวต่างชาติไปเที่ยวเมืองจีนมากกว่า610 ล้านคน และนโยบายฟรีวีซ่าก็มีส่วนอย่างมากในการสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยเมื่อ6 ปีก่อน นักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวเมืองจีนมากเป็นอันดับที่10 แต่หลังจากมีฟรีวีซ่า ในปีที่แล้ว คนไทยไปเที่ยวเมืองจีนเพิ่มขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 7
ในด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคในรายงานระบุว่าe-commerce หรือ การค้าขายออนไลน์ เติบโตอย่างรวดเร็วมาก และไทยเป็นหนึ่งในประเทศ ที่มีอัตราการเติบโตของการค้าออนไลน์สูง โดยในปีที่แล้วมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 14% แต่ว่า การค้าขายออนไลน์ก็กำลังเผชิญกับความท้าทาย เพราะหลายประเทศ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศไทยด้วย ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ และเก็บภาษีกับสินค้าที่สั่งซื้อข้ามประเทศมาทางออนไลน์ แน่นอนว่ามาตรการทางกฎหมายเช่นนี้ จะส่งผลกับทั้งคนซื้อ และคนขายของในช่องทางออนไลน์
ทางสองแพร่งของเศรษฐกิจโลก
บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมในเวที ป๋ออ๋าว ฟอรั่ม ต่างพูดตรงกันว่า การพัฒนาของโลกเราตอนนี้กำลังอยู่บนทางสองแพร่ง
หนึ่งคือ แยกตัว กีดกัน ดึงเศรษฐกิจกลับมาในประเทศตัวเอง หรือ deglobalization
ส่วนอีกแนวทางหนึ่งก็คือ ค้าขายแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า การค้าขายจะมีทั้งคนที่ได้กำไรและขาดทุน
แต่ว่าเมื่อรวมผลลัพธ์ในทุก ๆ เรื่องแล้ว จะไม่มีใครได้ทั้งหมด หรือเสียทั้งหมด
ศาสตราจารย์ จอห์น คีน จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ บอกว่า เขาไม่เชื่อว่านโยบายตั้งกำแพงภาษี ทำสงครามการค้า ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะสร้างความยิ่งใหญ่อีกครั้งให้กับอเมริกาได้ เขากล่าวว่า “สหรัฐฯ เลือกที่จะถอยห่างจากโลก แต่จีนเลือกที่จะมีความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ รวมถึงสนับสนุนนวัตกรรมอย่าง AI หุ่นยนต์ และสนับสนุนห่วงโซ่อุปทาน มหาอำนาจชาติหนึ่งกำลังถอยห่างจากโลก แต่มหาอำนาจใหม่อีกชาติหนึ่งได้ขยับเข้าหาโลกมากยิ่งขึ้น”
ประเทศจีนได้มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ หลายอย่าง ที่เป็นเครื่องมือใหม่ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน และก็คงจะถูกพูดถึงกันมากในเวที ป๋ออ๋าว ฟอรั่ม ปีนี้
อาจารย์ สูว์ ซิ่วจวิน จากสถาบันสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน บอกว่า “การสร้างนวัตกรรมของประเทศจีน มีนัยยะสำคัญต่อโลก 2 อย่าง หนึ่งคือ จะสร้างนวัตกรรมได้ ต้องเปิดกว้างสำหรับความร่วมมือ และสองคือ เมื่อมีนวัตกรรมแล้ว ก็ยังต้องเปิดกว้าง ให้โลกก้าวหน้าไปร่วมกัน ทำเช่นนี้ นวัตกรรมถึงจะมีอนาคตไปไกลได้”.