อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นอาคารสูงเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่พังถล่มลงมาหลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูดในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา สร้างความตื่นตระหนกและคำถามใหญ่ตามมาว่า โครงสร้างนี้มีปัญหาอะไร? และใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการก่อสร้าง?
คำตอบพุ่งไปที่ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน (ประเทศไทย)
ผลงานใหญ่ ของ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน
ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน (China Railway No.10 Engineering Group ชื่อย่อ CREC 10) เป็นบริษัทในเครือของ ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป (China Railway Group Limited ชื่อย่อ CREC) ซึ่งเป็นวิสาหกิจของรัฐจีนและมีชื่ออยู่ในทำเนียบกลุ่มบริษัทชั้นนำ 500 รายของโลกที่้จัดอับดับโดยนิตยสารฟอร์จูน
จากข้อมูลสารานุกรมออนไลน์จีน ไป่ตู้ (Baidu) ระบุว่า ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ก่อตั้งเมื่อปี1993 จัดเป็นหน่วยปฏิบัติการระดับแกนกลางของ ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป ซึ่งก่อตั้งในปี 1950 CREC 10 มุ่งเน้นการลงทุนในโครงการรับเหมาก่อสร้างข้ามอุตสาหกรรมและข้ามชาติ มีผลงานที่โดดเด่น เช่น การก่อสร้างเส้นทางรถไฟ ทางหลวง สะพาน สำนักงานของเทศบาลเมือง และโครงการอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ CREC 10 เข้าร่วมการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายสำคัญๆระดับชาติ กว่า100 โครงการ, บรรลุโครงการก่อสร้างโครงการตึกสูง โรงงานขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังเข้าร่วมโครงการ "วิศวกรรมโครงการ" ในต่างประเทศ เช่น เบรารุส อูกันดา เคนยา ศรีลังกา และอื่นๆ
CREC 10 ได้รับรางวัลเกียรติยศหลายครั้ง เช่น “รางวัลโครงการก่อสร้าวทางวิศวกรรมลู่ปาน” (China Construction Engineering Luban Prize (National Quality Project))
บริษัทยักษ์ใหญ่ แต่มือเปื้อนประวัติสะพานถล่ม
แม้บริษัทนี้จะมีผลงานในโครงการสำคัญระดับโลก ทั้งทางรถไฟความเร็วสูง ทางด่วน รถไฟฟ้าใต้ดิน และอาคารขนาดใหญ่จำนวนมาก แต่กลับเคยมีประวัติที่ไม่น่าภูมิใจในปี 2560 ที่ประเทศเคนยา
ในปีนั้น บริษัทฉาวเป็นผู้สร้างสะพานซิกิริ (Sigiri Bridge) ในเขตบูเซีย ประเทศเคนยา ซึ่งใช้งบประมาณถึง 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 444 ล้านบาท) สะพานนี้เป็นความหวังของชาวบ้านที่ต้องเสี่ยงชีวิตข้ามแม่น้ำด้วยเรือ เพราะในอดีตเคยมีคนเสียชีวิตจากเรือล่มมาแล้วหลายราย
อย่างไรก็ตาม เพียง 2 สัปดาห์หลังจากประธานาธิบดีอูฮูรู เคนยัตตา ไปตรวจเยี่ยมโครงการ สะพานกลับถล่มลงมาก่อนจะสร้างเสร็จ เหตุการณ์นี้กลายเป็นเรื่องน่าอับอายของรัฐบาลเคนยา และสะท้อนถึงปัญหาคุณภาพงานก่อสร้างอย่างชัดเจน
ผู้นำฝ่ายค้านในเคนยาออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า โครงการนี้ถูกเร่งรัดเพื่อใช้หาเสียงการเลือกตั้ง ทำให้ไม่ได้มาตรฐาน และกล่าวถึงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐบางรายที่ใช้โครงการเป็นช่องทางหาประโยชน์ส่วนตัว
โครงการอื่นในไทยต้องเร่งตรวจสอบ สกัด "ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย"
ปัจจุบัน CREC 10 ยังมีโครงการอื่นๆในประเทศไทย เช่น หอพักนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต หอพักบุคลากรการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อาคารที่ทำการศาลแพ่ง-อาญา มีนบุรี ตึกศุูนย์ฝึกมวยสากลการกีฬาแห่งประเทศไทย
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และโครงการรถไฟไทย-จีนช่วงแรก (3-1) ช่วงเส้นทางจังหวัดสระบุรีถึงโคราช
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งตรวจสอบโครงการทั้งหมดที่บริษัทนี้รับผิดชอบในไทย เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุซ้ำรอยกรณีสะพานถล่มในเคนยา หรือตึกอาคารในกรุงเทพฯ ที่เพิ่งถล่มพังไป ชีวิตคนนับร้อยต้องมาเป็นเหยื่อสังเวยให้กับความเน่าเฟะจากคอรัปชั่นอย่างน่าสะเทือนใจยิ่ง