ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันมนุษย์สามารถวัดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ด้วยเครื่อง "ไซสโมกราฟ (Seismograph)" และ "ไซสโมมิเตอร์ (Seismometer)" อย่างไรก็ตาม เคยสงสัยไหมว่า ผู้คนในอดีตใช้อะไรในการตรวจจับแผ่นดินไหว โดยในวันนี้ขอพาทุกคนไปพบกับเครื่องวัดแผ่นดินไหวเครื่องแรกของโลกจากจีน
"โฮ่วเฟิง" หรือ "โฮ่วเฟิงตี้ต้งอี๋ (候风地动仪)" เครื่องวัดแผ่นดินไหวที่ถูกสร้างขึ้นก่อนชาติตะวันตก 1,700 ปี ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่แสดงถึงภูมิปัญญาของชาวจีน ถูกสร้างขึ้นในช่วงยุคฮั่นตะวันออก (ค.ศ.132) รัชกาลของฮ่องเต้ซุ่นตี้ โดย “จางเหิง” นักดาราศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ และนักประดิษฐ์ ผู้เปี่ยมไปด้วยความสามารถ
ตามบันทึก โฮ่วเฟิง ทำด้วยทองแดง มีลักษณะคล้ายไหเหล้าใบใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.7 เมตร แต่เนื่องจากโฮ่วเฟิงเครื่องจริงนั้นหายสาบสูญ รวมทั้งมีรายละเอียดและคำอธิบายการทำงานของเครื่องไว้เพียงคร่าวๆ จึงมีการตีความการทำงานของเครื่องที่ต่างกันออกไป
โดยแนวคิดที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ระบุว่า ด้านในของเครื่องวัดฯ ประกอบไปด้วยกลไกต่างๆ ได้แก่ เสาทองแดงเป็นแกนกลาง สัมพันธ์กับลางทั้ง 8 ที่เชื่อมโยงกับปากมังกรทั้ง 8 ตัว ซึ่งอยู่ภายนอกไห ด้านล่างมีคางคก 8 ตัว อ้าปากรอรับลูกสำริด
หลักการทำงานของโฮ่วเฟิงกล่าวง่ายๆ คือ เมื่อเกิดแผ่นดินไหว เสาทองแดงภายในไหจะเสียสมดุลไปชนเข้ากับลางด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้ลูกสำริดหล่นออกจากปากมังกร ไปสู่ปากคางคกที่นั่งอยู่ด้านล่าง และเกิดเสียง ทำให้ผู้คุมเครื่องทราบว่า แผ่นดินไหวนั้นเกิดขึ้น ณ ทิศทางใดและเวลาใด โดยมังกรทั้ง 8 เปรียบดั่งตัวแทนของทิศทั้ง 8 ทิศ
บันทึกทางประวัติศาสตร์ ระบุว่า โฮ่วเฟิงประสบความสำเร็จอย่างมากในการวัดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่มณฑลกานซู่ ปีค.ศ.138
แม้ตอนแรกจะไม่พบการเกิดแผ่นดินไหว จนถูกชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์ถึงความแม่นยำและประสิทธิภาพ ทว่าหลายวันต่อมา ม้าเร็วก็ส่งจดหมายมารายงานว่า เมืองหล่งซัน (มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนานไปทางตะวันตกกว่า 1,000 ลี้ เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
นับแต่นั้น ผู้คนก็หมดความสงสัย มีความเชื่อถือและเชื่อมั่นในโฮ่วเฟิง รวมทั้งยอมรับนับถือจางเหิง แม้ว่าเครื่องวัดนี้จะบอกทิศทางได้แค่คร่าวๆ แต่ก็เป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่วงการวิทยาศาสตร์โลก
ที่มา : จางเหิง ผู้ประดิษฐ์เครื่องวัดธรณีไหวคนแรกของโลก