xs
xsm
sm
md
lg

New China insights: ร้านอาหารจีนกำลังบุกตลาดต่างประเทศแบบจัดเต็ม ไทยจะรับมืออย่างไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

หากท่านผู้อ่านสังเกตดีๆ จะเห็นได้ว่าในช่วงสองปีนี้ร้านอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์จีนจำนวนมาก หลั่งไหลเข้ามาเปิดร้านสาขาในประเทศไทย นอกจากเมนูฮิตอย่างหม่าล่าและหม้อไฟเสฉวน ยังมีร้านไก่ทอด- เครื่องดื่มชานมไข่มุกผุดขึ้นหนาตา ร้านอาหารจีนที่เข้ามาเปิดในไทยมีทั้งแบบแฟรนไชส์ชื่อดังในจีน ไปจนถึงกลุ่มร้านอาหารของกลุ่มทุนจีนรายเล็กรายย่อยๆที่ลุยเข้ามาทำธุรกิจเปิดกิจการเอง

ปัจจุบันภาคธุรกิจร้านอาหารจีนกำลังอยู่ในช่วงของ “การก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ" ซึ่งได้กลายเป็นคำสำคัญในกลยุทธ์การพัฒนาของร้านอาหารจีนจำนวนมาก ตามการคาดการณ์ของงานวิจัยจาก Frost & Sullivan ระบุว่าภายในปี 2026 ขนาดของตลาดอาหารจีนทั่วโลกจะสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ประมาณ 9.4% แนวโน้มนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสที่มีอยู่มากสำหรับแบรนด์อาหารจีนในตลาดต่างประเทศ

ร้านหม้อไฟจีน Haidilao บูมในจีนและยังเป็นแบบอย่างร้านอาหารจีนในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ (ภาพจากโซเชียลมีเดียจีน เวยปั๋ว)
วัฒนธรรมการกินของจีนได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆมาอย่างน้อยๆนับหลายร้อยปี ย้อนกลับไปในช่วงปลายราชวงศ์หมิงถึงปลายราชวงศ์ชิง ชาวจีนจำนวนมากได้อพยพไปยังต่างประเทศเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้นพร้อมกับนำวัฒนธรรมอาหารจีนไปเผยแพร่ยังต่างแดน จากรูปแบบการกินอาหารภายในครอบครัวไปจนถึงการเปิดร้านขายอาหารจีนในท้องถิ่นที่ชาวจีนอพยพไปลงหลักปักฐาน อาหารจีนจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการส่งออกทางวัฒนธรรม ดังนั้นหากมองจากมิติทางประวัติศาสตร์ จะเห็นว่ากระบวนการก้าวสู่ตลาดโลกของอุตสาหกรรมอาหารจีนมีมานานแล้ว

ต่อมาเมื่อจีนดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศอย่างต่อเนื่อง ประตูของประเทศเริ่มเปิดกว้างสู่โลก แบรนด์อาหารจีนเก่าแก่และดำเนินการโดยรัฐ อย่างเช่น แบรนด์ร้านเป็ดปักกิ่งชื่อดัง “เฉวียนจี้ว์เต๋อ” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1864 จนถึงปัจจุบัน “เฉวียนจี้ว์เต๋อ” ได้ขยายสาขาไปยังหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน ออสเตรเลีย แคนาดา และโปรตุเกส

แต่การขยายตลาดในต่างประเทศอย่างจริงจังของร้านอาหารจีน เริ่มตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา โดยมีเหล่าแบรนด์ร้านอาหารเอกชนชื่อดังนำทัพซึ่งต่อมากลายเป็นแบบอย่างให้แบรนด์ร้านอาหารเจ้าอื่นๆ เช่น แบรนด์อาหารหม้อฟจีน ไหตี่เลา (Haidilao) เหมยโจวตงปัว (Meizhou Dongpo) และ หวงจี้หวง (Huangjihuang)

ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นมา การขยายตัวของแบรนด์ร้านอาหารจีนในระดับโลกได้เข้าสู่ศักราชใหม่ ซึ่งถูกขนานนามภายในอุตสาหกรรมว่าเป็น "ปีแห่งการเริ่มต้นอย่างแท้จริงของการบุกตลาดต่างประเทศของอาหารจีน" และในปี 2024-2025 จะเป็นปีแห่งการเร่งเครื่องเพื่อขยายตลาดต่างประเทศของอาหารจีนอย่างเต็มรูปแบบ

ในปี 2024-2025 จะเป็นปีแห่งการเร่งเครื่องเพื่อขยายตลาดต่างประเทศของอาหารจีนอย่างเต็มรูปแบบ ในภาพ เนื้อเป็ดปักกิ่งถูกนำมาตกแต่งเป็นดอกโบตั๋น  (แฟ้มภาพ ซินหัว)
ทำไมปี 2024 ถึงเป็นปีแห่งการเร่งเครื่องของร้านอาหารจีนสู่ตลาดโลก

- ความต้องการและแรงผลักดันที่เพิ่มขึ้น ในช่วงปี 2020-2021 อุตสาหกรรมร้านอาหารของจีนได้รับการสนับสนุนจากเงินทุนมหาศาล หลายแบรนด์สามารถเข้าระดมทุนได้ในตลาด แต่ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศที่อยู่ในภาวะชะลอตัวและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น แบรนด์เหล่านี้จำเป็นต้องมองหาช่องทางการเติบโตใหม่ๆ ดังนั้นการขยายสู่ตลาดต่างประเทศจึงกลายเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ

- สภาวะแวดล้อมและโอกาสทางการตลาด รัฐบาลจีนกำลังผลักดันนโยบายสนับสนุนให้ธุรกิจในประเทศก้าวสู่เวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้โครงการ "ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" (BRI) ซึ่งอัดฉีดมาตรการสนับสนุนด้านการลงทุนและการค้ากับต่างประเทศในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน หลังยุคการแพร่ระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ นอกจากนี้ การเติบโตด้านซอฟต์พาวเวอร์ของจีนยังช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของจีนได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งสร้างความได้เปรียบอย่างสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร

- ความพร้อมของระบบบริหารจัดการและความหลากหลายของอาหารจีน ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอาหารของจีนมีพัฒนาการที่โดดเด่นในด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและการสร้างแบรนด์ ด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น อิทธิพลของแบรนด์ที่แข็งแกร่งขึ้น, มาตรฐานการบริหารจัดการที่ดีขึ้น, เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลที่ก้าวหน้า, การพัฒนานวัตกรรมด้านกระบวนการผลิตและการถนอมอาหาร, ความก้าวหน้าในระบบคลังสินค้าและโลจิสติกส์ ปัจจัยเหล่านี้ช่วยสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับการขยายตัวของร้านอาหารจีนไปยังตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ อาหารจีนมีความหลากหลายทั้งในด้านเมนูและรสชาติ อีกทั้งยังมีเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่ช่วยให้แบรนด์อาหารจีนสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้

- การสนับสนุนจากบุคลากรที่มีความเป็นสากลและชุมชนชาวจีนในต่างประเทศ ในประเทศจีนเอง การขยายตัวของธุรกิจไปยังต่างประเทศในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ห่วงโซ่อุปทาน การผลิต และอีคอมเมิร์ซ ได้สร้างบุคลากรที่มีประสบการณ์ด้านการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศและความเข้าใจตลาดโลก บุคลากรเหล่านี้กลายเป็นแรงสนับสนุนสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอาหารจีนในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ ขณะเดียวกันชุมชนชาวจีนก็ขยายตัว ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนที่ตั้งถิ่นฐานในต่างแดน นักท่องเที่ยว หรือกลุ่มนักศึกษา ต่างก็เป็นฐานลูกค้าสำคัญที่คอยอุดหนุนร้านอาหารจีนในต่างแดน ชุมชนเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นผู้บริโภคหลักของอาหารจีนเท่านั้น แต่ยังช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมจีนไปทั่วโลก ส่งเสริมให้ร้านอาหารจีนได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงในระดับสากล

ร้านหมาล่าทัง แบรนด์ Yangguofu ในญี่ปุ่น (ภาพจาก Tencent news)
ในช่วงสองปีมานี้ อาหารจีนบุกตลาดต่างประเทศหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภัตตาคารจีนแบบดั้งเดิมอีกต่อไป แต่ยังรวมถึงร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด คาเฟ่ ชานม และอาหารที่จำหน่ายริมถนนอีกด้วย ตัวอย่างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบันได้แก่ Haidilao เปิดร้านแรกในสิงคโปร์ปี 2012 ปัจจุบันมี 115 สาขาในต่างประเทศ , เสี่ยวหลงคาน (Xiao Long Kan) เปิดร้านแรกในนิวซีแลนด์ปี 2017 ปัจจุบันมีเกือบ 50 สาขา, จางเหลียงหมาล่าทัง (Zhang Liang Malatang) เริ่มบุกตลาดญี่ปุ่นในปี 2016 ปัจจุบันมีร้านใน 16 ประเทศ รวม 64 สาขา, หยางกั๋วฝู หมาล่าทัง(Yang Guo Fu Malatang) มี 8 สาขาในสิงคโปร์ และ 3 สาขาในมาเลเซีย, :ซยาปู้ซยาปู้ (Xiabuxiabu) เปิดร้านแรกในสิงคโปร์ปี 2023, เจวี๋ยเว่ยยาปั๋ว (Juewei Duck Neck) เริ่มขยายไปยังสหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย และสิงคโปร์ อาหารจีนที่ออกสู่ตลาดโลกยังมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น อาหารหูหนานแบรนด์ หนงเกิงจี้ (Nong Geng Ji) นำเข้าสู่สิงคโปร์หรือร้านอาหารหรูระดับมิชลินอย่าง ซินหลงจี (Xin Rong Ji) ที่เปิดในโตเกียว

การที่ร้านอาหารจีนบุกตะลุยตลาดในต่างประเทศนั้น ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน โดยเมื่อเดือนมี.ค. 2024 กระทรวงพาณิชย์จีนออกประกาศ "แนวทางส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมร้านอาหารคุณภาพสูง"โดยเน้นสนับสนุนการพัฒนาตลาดต่างประเทศ, การส่งออกวัตถุดิบอาหารจีนสู่ตลาดโลก, การส่งเสริมเชฟอาหารจีนไปทำงานในต่างประเทศและการยกระดับมาตรฐานการประเมินร้านอาหารจีนในระดับนานาชาติ

ความท้าทายของแบรนด์อาหารจีนในต่างประเทศก็มีอยู่เช่นกัน ส่วนผสมและเครื่องปรุงอาหารจีนบางชนิดอาจไม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในต่างประเทศ เช่น เป็ดปักกิ่ง ของเฉวียนจี้ว์เต๋อ ไม่สามารถส่งออกได้  (ภาพจากสื่อจีน)
แต่ความท้าทายของแบรนด์อาหารจีนในต่างประเทศก็มีอยู่เช่นกัน อย่าง มาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารที่แต่ละประเทศมีกฎระเบียบแตกต่างกัน ส่วนผสมและเครื่องปรุงอาหารจีนบางชนิดอาจไม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในต่างประเทศ เช่น "เป็ดปักกิ่ง" ของเฉวียนจี้ว์เต๋อ ไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากเป็ดจากจีนไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าในหลายประเทศ ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน การขนส่งวัตถุดิบจีนไปต่างประเทศมีข้อจำกัด ทำให้ราคาสูงขึ้น คุณภาพลดลง และจัดหาวัตถุดิบได้ยาก ตลอดจนการปรับตัวเข้ากับรสนิยมของคนท้องถิ่น เป็นต้น

สำหรับไทยเราเป็นหนึ่งประเทศในอาเซียน ที่ร้านอาหารจีนเข้ามาบุกตลาดผุดเป็นดอกเห็ดหน้าฝน เหตุผลหลักที่ผู้เขียนสืบค้นข้อมูลและสรุปวิเคราะห์ออกมาเป็นประเด็นได้ดังนี้ หนึ่ง) ข้อตกลงการยกเว้นวีซ่าถาวรระหว่างไทยจีน สร้างความมั่นใจให้แก่นักธุรกิจจีน การลงทุนจึงหลั่งไหลเข้ามายังไทยมากขึ้น

สอง) ไทยเป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยวและตลาดเปิดใหม่ยังมีโอกาสให้ร้านอาหารจีนอยู่มาก

สาม) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานร้านอาหารในประเทศไทยค่อนข้างต่ำ ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงงานในอุตสาหกรรมบริการหรือการจัดซื้อวัตถุดิบและห่วงโซ่อุปทานอาหาร ทำให้ธุรกิจจีนมีโอกาสสร้างกำไรมากขึ้น

สี่) เครือข่ายคนจีนในไทยมีเป็นจำนวนมาก ระบบสังคมไทยเป็นแบบอุปถัมภ์คล้ายกับของจีน การที่นักธุรกิจจีนมาไทยสามารถหาคอนเน็กชั่นได้โดยง่าย ห้า) วัฒนธรรมการกินอาหารของคนไทยมีความชอบในรสชาติคล้ายคลึงกับอาหารจีน ทำให้ได้รับความนิยมในวงกว้าง

สุดท้าย นักลงทุนจีนในภาคร้านอาหารบางกลุ่มเล็งเห็นในอนาคตว่าอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศไทยอย่างบ่อนคาสิโนจะถูกรับรองให้เป็นธุรกิจถูกกฎหมายและการเปิดใช้โครงการทางรถไฟจีน-ไทย ไทยจะกลายเป็นจุดสนใจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลก ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการในการแพร่กระจายวัฒนธรรม “ซอฟต์พาวเวอร์” ของภาคร้านอาหารจีนในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง

จากสภาพความเป็นจริงจะเห็นได้ว่ากลุ่มร้านอาหารจีนเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยได้อย่างง่ายดาย มีทั้งกลุ่มที่ขออนุญาตอย่างถูกต้องและกลุ่มที่ซิกแซกผิดกฎหมาย การนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมดก็อยู่ในห่วงโซ่ที่ถูกผูกขาดโดยคนจีนไปเกือบหมดแล้ว ไทยเราเองตั้งรับและรักษาผลประโยชน์ของชาติกันมากแค่ไหนกับกระแสร้านอาหารจีนถาโถมเข้ามาเปิดในไทยทั้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและอนาคต



กำลังโหลดความคิดเห็น