"ไล่ ชิงเต๋อ" ผู้นำไต้หวันเดินหน้านโยบายคุมเข้มความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ ล่าสุดเพิกถอนใบอนุญาตพำนักของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่แต่งงานกับชาวไต้หวันและใช้ชีวิตอยู่ในไต้หวัน 3 ราย โดยให้เหตุผลว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงไต้หวัน และยังห้ามบุคคลทั้ง 3 รายนี้ยื่นขอพำนักใหม่เป็นเวลา 5 ปี
บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ ได้แก่
(1) "หลิว เจิ้นหย่า" อินฟลูเอนเซอร์ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในไต้หวันและทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มติ๊กต็อก (TikTok) ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่แนวคิด "บุกยึดไต้หวัน" และสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่
(2) "เสี่ยว เหวย" ถูกไต้หวันกล่าวหาว่ามีส่วนในการทำลาย "อธิปไตยของไต้หวัน" โดยเผยแพร่เนื้อหาที่สนับสนุนการรวมจีน-ไต้หวัน และ
(3) "เอิน ฉี" ถูกเพ่งเล็งจากการโพสต์วิดีโอเกี่ยวกับการซ้อมรบของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA) พร้อมกับแสดงความคิดเห็นว่า "ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน"
การตัดสินใจครั้งนี้ของรัฐบาลไต้หวันทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสังคม โดยหลายคนตั้งคำถามว่า เพียงแค่การแสดงความคิดเห็นสามารถเป็นภัยคุกคามต่อไต้หวันได้จริงหรือ
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่า มาตรการนี้เป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเป็นเพียงข้ออ้างของรัฐบาลในการกวาดล้างกลุ่มที่มีแนวคิดแตกต่างจากพรรครัฐบาล นอกจากนี้ คอนเทนต์ของผู้ที่ถูกขับออกจากไต้หวันส่วนใหญ่เผยแพร่ในแพลตฟอร์มจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อประชาชนไต้หวัน
นักวิจารณ์ยังชี้ว่า รัฐบาลไต้หวันใช้มาตรฐานที่แตกต่างกัน กับบุคคลที่มีแนวคิดตรงกันข้ามกับพรรคฝ่ายปกครอง
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เฉา ซิงเฉิง อดีตประธานบริษัท UMC ที่เคยออกมาเรียกร้องให้ไต้หวันเปิดฉากสงครามกับจีนแผ่นดินใหญ่ และสนับสนุนแนวคิด "ตีก่อนดีกว่าถูกตีทีหลัง" แต่กลับไม่ถูกดำเนินคดีใด ๆ แถมยังได้รับการต้อนรับจากรัฐบาลไต้หวันอย่างอบอุ่น
ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่แสดงความเห็นเรื่องการรวมจีน-ไต้หวัน กลับถูกเพิกถอนใบอนุญาตพำนักและถูกเนรเทศออกจากไต้หวัน
นอกจากนี้ ตำรวจในเมืองเถาหยวน ถูกลงโทษเพียงเพราะโพสต์ข้อความว่า "ฉันเป็นคนจีน" บนโซเชียลมีเดีย รวมถึง ครูใหญ่ของโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ถูกสอบสวนเพราะพูดว่า "สองฝั่งเป็นครอบครัวเดียวกัน"
รัฐบาลไต้หวันยังเดินหน้าตรวจสอบข้าราชการทั้งหมด ว่ามีใครถือพาสปอร์ตจีน หรือมีความสัมพันธ์กับจีนหรือไม่
ความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลไล่ ชิงเต๋อ ทำให้ฝ่ายค้านเริ่มเคลื่อนไหว ผลักดันการลงประชามติ "มหาโหวตไม่ไว้วางใจ" เพื่อลดอำนาจของพรรครัฐบาล
นักวิเคราะห์การเมืองชี้ว่า รัฐบาลไล่ ชิงเต๋อกำลังเปลี่ยนไต้หวันให้กลายเป็น "รัฐตำรวจ" ที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้าม และสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว
ที่มา: 海峡导报社