ขณะนี้โรงพยาบาลของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนทั่วประเทศได้นำโมเดล DeepSeek R1-70B LLM มาใช้งาน ซึ่งสามารถให้คำแนะนำแผนการรักษาเพื่อช่วยการทำงานของแพทย์ โรงพยาบาลเหล่านี้รวมถึง“โรงพยาบาล 301” ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งรักษาบุคคลสำคัญของประเทศ เจ้าหน้าที่ระดับสูงและนายทหาร และโรงพยาบาลของกองบัญชาการภาคกลางที่ให้การอนุมัติเมื่อต้นเดือนนี้ โดยมีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลผู้ป่วยบนเซิร์ฟเวอร์ภายใน
เหริน เหา วิศวกรซอฟต์แวร์อาวุโสของ “โรงพยาบาล 301” ให้รายละเอียดว่า ทางโรงพยาบาลกำลังทำโครงการร่วมกับบริษัทหัวเหว่ยในการนำโมเดล DeepSeek-R1 มาใช้กับฮาร์ดแวร์ Ascend ของหัวเหว่ย เพื่อสร้างฐานข้อมูลความรู้ในท้องถิ่นอีกด้วย
ขณะที่บางหน่วยของกองกำลังตำรวจติดอาวุธแห่งประชาชน ในสังกัดคณะกรรมาธิการการทหารกลาง (CMC) ซึ่งเป็นองค์กรผู้นำทางทหารสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กำลังใช้แอปแชตบอตเอไอของบริษัทดีปซีก (DeepSeek) นี้กำหนดแผนการฝึกฝนร่างกายและให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาเป็นประจำทุกวัน
แอปแชตบอตเอไอดีปซีกเป็นแบบจำลองภาษาและการใช้เหตุผลขนาดใหญ่ (LLMs) ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าใช้งาน หรือพัฒนาต่อยอดได้ฟรี (open-source)
แซม เบรสนิก นักวิจัยประจำศูนย์ความปลอดภัยและเทคโนโลยีเกิดใหม่ (CSET) ซึ่งมุ่งเน้นด้านการประยุกต์ใช้เอไอทางการทหารในสังกัดมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ของสหรัฐฯ มองว่า การนำโมเดลเอไอดีปซีกมาใช้งานในสถานการณ์ที่ไม่ใช่การสู้รบในเบื้องต้นเท่ากับเป็นการทดลองที่กองทัพจีนสามารถควบคุมได้ เพื่อจัดการกับปัญหาท้าทายเชิงเทคนิคและปฏิบัติการ ก่อนจะขยายการใช้งานไปสู่พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้น ซึ่งกองทัพจีนก็พูดมานานแล้วว่า เอไออาจมีประโยชน์ในการตัดสินใจทางทหาร การเกิดขึ้นของโมเดลขั้นสูง เช่น R1 ของดีปซีกก็อาจช่วยในด้านนั้นได้
ฝู เฉียนเซา นักวิเคราะห์การทหารของจีนชี้ว่า การนำดีปซีกไปประยุกต์ใช้ในการฝึกฝนร่างกายประจำวันและการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ แสดงว่ากองทัพจีนมุ่งมั่นปรับปรุงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเอไออย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรบอย่างครอบคลุม
“ยังตัดประเด็นการใช้ดีปซีกสำหรับภารกิจด้านการรบทิ้งไปไม่ได้” เขากล่าว
กองทัพพญามังกรเรียกร้องให้นำเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาใช้เพื่อเสริมความสามารถในการรบ เช่น กลยุทธ์ฝูงโดรน การปรับปรุงประสิทธิภาพและความสมจริงของการฝึกนักบิน และการสนับสนุนการตัดสินใจในสนามรบ
รายการหนึ่งของสถานีโทรทัศน์ CCTV เมื่อปี 2566 ระบุว่ากองทัพปลดแอกประชาชนจีนกำลังทดสอบกลยุทธ์การรุมโจมตีด้วยโดรนหลายร้อยลำ โดยอาศัยความช่วยเหลือของเอไอและระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง อย่างไรก็ตาม รายละเอียดว่าใช้เครื่องมือเอไอแบบใดนั้นยังคงปิดเป็นความลับ
ในบทความของหนังสือพิมพ์กวงหมิงรายวันซึ่งเป็นสื่อของรัฐเมื่อเดือนที่แล้วระบุว่า ดีปซีกกำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการใช้เอไอเชิงความสามารถในการตัดสินใจทางทหาร โดยดีปซีกมีความสามารถในการประมวลผลข้อมูลในสนามรบจำนวนมหาศาลได้แบบเรียลไทม์ ช่วยให้รับรู้สถานการณ์ได้อย่างแม่นยำระหว่างการสู้รบ นับเป็นการเปิดศักราชใหม่แห่งวิวัฒนาการของการสร้างปัญญาประดิษฐ์ในกองทัพ
บทความยังยกตัวอย่างการยกพลขึ้นบนในการรบสะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งดีปซีกสามารถปรับแผนปฏิบัติการได้อย่างคล่องแคล่วสร้างสรรค์ตามการเปลี่ยนแปลงในสนามรบแบบเรียลไทม์ จึงช่วยให้ผู้บัญชาการตัดสินใจได้แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น
นายเบรสนิกกล่าวเสริมว่า ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่าสหรัฐฯ มีข้อได้เปรียบเหนือจีนในการพัฒนาเอไอ แต่ประเทศที่สามารถบูรณาการและนำเอไอไปใช้ในการปฏิบัติการทางทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าคือผู้ได้เปรียบมากที่สุด
“ปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่า ใครวิ่งนำในเรื่องนี้” เขากล่าว
ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์