เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2568 บริษัทสตาร์ทอัปสัญชาติจีน Monica เปิดตัวเทคโนโลยี AI ตัวใหม่ที่มีชื่อว่า "Manus" ซึ่งสร้างกระแสไปทั่วโลกในชั่วข้ามคืน AI ตัวนี้ถูกขนานนามว่าเป็น "AI Agent อเนกประสงค์ตัวแรกของโลก" ที่สามารถทำงานได้เองโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่แค่ช่วยให้คำแนะนำหรือพูดคุยเหมือนแชตบอตทั่วไป
ความนิยมของ Manus พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนรหัสเชิญเข้าทดลองใช้ (invite code) กลายเป็นของหายากจนมีการนำไปขายในตลาดมือสองในราคาสูงถึง 50,000 หยวน (ประมาณ 250,000 บาท) ขณะที่ชาวเน็ตจีนจำนวนมากต่างพากัน “ขอรหัส” กันทั่วโลกอินเทอร์เน็ต
Manus เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้ AI ก้าวข้ามจาก "เครื่องมือ" ไปสู่ "ผู้ช่วยที่สามารถลงมือทำงานแทนมนุษย์ได้จริง"
Manus คืออะไร? ทำไมถึงถูกพูดถึงไปทั่วโลก?
AI ส่วนใหญ่ที่เรารู้จัก เช่น ChatGPT, Claude, Gemini มักทำงานในรูปแบบของ "แชตบอต" ที่สามารถให้คำตอบหรือช่วยให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้ แต่ Manus ก้าวไปไกลกว่านั้น เพราะความสามารถคิด วิเคราะห์ วางแผน และลงมือทำงานได้เองโดยอัตโนมัติ
จุดเด่นสำคัญที่ทำให้ Manus แตกต่างจาก AI อื่นๆ มีอยู่ 3 ข้อหลัก ได้แก่
1.จาก "แค่ที่ปรึกษา" สู่ "ผู้ลงมือทำจริง"
Manus สามารถทำทุกอย่างให้เสร็จสมบูรณ์โดยอัตโนมัติ เช่น กรณีฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล ต้องการคัดเลือกผู้สมัครงานจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ก็เพียงแค่อัปโหลดไฟล์เรซูเม่ที่บีบอัดไว้เข้าไป และ Manus จะทำการแตกไฟล์ วิเคราะห์ข้อมูล จัดอันดับผู้สมัครลงในไฟล์ Excel และยังสามารถจดจำความต้องการของผู้ใช้ เพื่อใช้ในการจัดอันดับครั้งต่อไปโดยอัตโนมัติ
2."สมองบนคลาวด์" + "มือดิจิทัล" ที่ทำงานได้เอง
กรณีที่ผู้ใช้ต้องการวิเคราะห์แนวโน้มตลาดหุ้น Manus สามารถดึงข้อมูลจาก API การเงิน เขียนโค้ด Python เพื่อวิเคราะห์ สร้างกราฟข้อมูล และเปิดเว็บไซต์เพื่อแชร์ผลลัพธ์ โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่รอรับผลลัพธ์
3."เหนือกว่า GPT-4 Turbo" ด้วยระบบ Multi-Agent
ในการทดสอบ GAIA ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้วัดความสามารถของ AI ในการแก้ปัญหาจริง Manus ทำคะแนนแซงหน้า GPT-4 Turbo ด้วยโครงสร้าง "Multi-Agent" ที่แบ่ง AI ออกเป็นหลายส่วนเพื่อทำงานร่วมกัน ได้แก่ ตัววางแผน (Planner) ตัวลงมือทำ (Executor) และตัวตรวจสอบความถูกต้อง (Verifier) ซึ่งช่วยให้ Manus สามารถทำงานได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงกว่าคู่แข่ง
Manus ถูกพัฒนาโดยสร้างขึ้นโดย นาย "เซียว หง" (肖弘) นักพัฒนาเอไอ ชาวจีนวัย 30 กว่าปี ที่เริ่มต้นสร้างธุรกิจตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา
เซียว หง เริ่มต้นเส้นทางธุรกิจในปี 2556 โดยพัฒนา "WeChat Drift Bottle" ซึ่งเป็นฟีเจอร์บนแอป WeChat ที่ให้ผู้ใช้สามารถส่งข้อความแบบสุ่มหากัน และมีผู้ใช้มากกว่าหมื่นคนภายในวันเดียว จากนั้นในปี 2558 เขาก่อตั้งบริษัท Nightingale Tech และสร้าง "Weiban Assistant" ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยจัดการธุรกิจบน WeChat ที่มีลูกค้าองค์กรกว่า 2 ล้านราย
ต่อมาในปี 2565 เขาเปิดตัว "Monica" ซึ่งเป็นปลั๊กอิน เอไอ ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถใช้งาน เอไอ อย่าง ChatGPT, Claude, และ DeepSeek ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกลายเป็นหนึ่งในปลั๊กอิน เอไอ ที่ได้รับความนิยมสูงสุด และล่าสุดในปี 2568 เขาได้เปิดตัว Manus ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงโลกของเอไอ ไปอย่างสิ้นเชิง
ที่มาข่าว กลุ่มสื่อจีน