ใครที่ถูกกล่าวหาว่ามี “สมองแบบติ๊กต็อก” แล้วรู้สึกโกรธ หยุดแวะอ่านเรื่องนี้สักนิด
ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า ผู้ที่คลั่งการไถดูคลิปวิดีโอในสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนจะได้รับผลตอบแทนคือ “ความบกพร่องทางสติปัญญา” (cognitive deficits)
นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจินในประเทศจีน และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาวิจัยร่วมกัน และค้นพบว่า นอกจากผู้ที่เสพติดการดูแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นจะมีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ หยุดหรือควบคุมตัวเองไม่ได้แล้ว คนเหล่านี้ยังดูเหมือนกำลังพัฒนาโครงสร้างของสมองที่แตกต่างไปจากผู้อื่นอีกด้วย
คนที่เสพติดคลิปวิดีโอมักจะบริโภคเนื้อหาที่มีความเป็นส่วนตัวหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องของตัวเองมากเกินไป จนถึงขั้นที่มองกิจกรรมอื่นว่าไม่ดี หรือเข้าไปก้าวก่ายกับกิจกรรมอื่นๆ ในเชิงลบ
นักวิทยาศาสตร์ได้สแกนสมองผู้ที่มีอายุระหว่าง 17 ถึง 30 ปี จำนวน 112 คน และพบความบกพร่องทางสติปัญญาในด้านการมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ด้านการเรียนรู้ และความจำ รวมถึงภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล
“สมองแบบติ๊กต็อก” (TikTok brain) หรือที่เรียกกันว่า “สมองเน่า” (brain rot) มักมีความเชื่อมโยงกับการใช้เวลาอยู่กับแอปพลิเคชันที่เน้นคลิปวิดีโอสั้นนานๆ ได้แก่ ติ๊กต็อก สแนปแชต (Snapchat ) อินสตราแกรม เฟซบุ๊ก และเอ็กซ์ (X )
“การติดวิดีโอสั้นกลายมาเป็นปัญหาด้านพฤติกรรมและสังคมที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถูกกระตุ้นจากการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งมีวิดีโอสั้นกันอย่างแพร่หลาย วิดีโอเหล่านี้มีเนื้อหาดึงดูดใจและตรงกับเรื่องราวหรือความชอบความสนใจของคนดู” คณะนักวิจัยระบุในรายงาน ซึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ นิวโรอิมเมจ (NeuroImage)
ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์