ร่มฉัตร จันทรานุกูล
หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นรอบที่สอง ทำให้ทั่วโลกให้การจับตาถึงประเด็นสงครามการค้าระลอกใหม่ หรือที่เรียกขานกันว่า “สงครามการค้าเวอร์ชัน 2.0” จากนโยบายการหาเสียงของทรัมป์ที่ผ่านมาชูนโยบายการปกป้องเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศ และมุ่งหมายจะให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้งหนึ่ง แน่นอนว่าหนึ่งในประเทศคู่แข่งของสหรัฐฯ ที่ขนาดเศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด ระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมก็เติบโตอย่างว่องไว จนสหรัฐฯ มองว่าเป็นภัยคุกคามใหม่ คือประเทศจีนตกเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของสงครามการค้ารอบนี้ แน่นอนว่าในสงครามการค้า 2.0 นี้จีนได้รับผลกระทบอีกเช่นเคย ไม่มากก็น้อย สงครามการค้าในรอบนี้ต่างจากรอบที่แล้วในประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้
-ขอบเขตของสงครามการค้า รอบที่แล้ว (2018-2020) เน้นไปที่มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องจักร เทคโนโลยีและสินค้าเกษตร แต่รอบใหม่นี้ (2024-2025) นอกจากภาษีศุลกากรแล้ว ยังรวมไปถึงข้อจำกัดด้านการลงทุน การควบคุมเทคโนโลยี การแบนบริษัทจีน และมาตรการกีดกันที่ซับซ้อนกว่าเดิม การจำกัดการส่งออกชิปและวัสดุสำคัญเป็นมาตรการเบื้องต้น อาจจะมียาแรงกว่านี้ในอนาคตอันใกล้
-ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น รอบที่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนโดยตรง แต่ในรอบใหม่นี้มีหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น แคนาดา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ซึ่งเริ่มกำหนดนโยบายควบคุมการค้าและเทคโนโลยีที่เข้มงวดมากขึ้น
-ประเด็นหลากหลายมากขึ้น รอบที่แล้วเน้นเรื่องดุลการค้า การขาดดุลของสหรัฐฯ และนโยบายอุดหนุนของจีน แต่รอบใหม่ มุ่งเป้าไปที่เทคโนโลยีขั้นสูงด้วย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) พลังงานสีเขียวและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สหรัฐฯ ใช้มาตรการที่ซับซ้อนขึ้น เช่น CHIPS Act (เป็นกฎหมายของสหรัฐฯ ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการผลิตชิปภายในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้าชิปจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนและไต้หวัน) และข้อจำกัดด้านการลงทุนในจีน ส่วนจีนหันไปพึ่งพาการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศมากขึ้น (เช่น ชิป SMIC และเอไอ ของ Huawei) ส่วนของ Tiktok DeepSeek และ Shein แอปของจีนมีความท้าทายในตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น
-ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้างมากขึ้น รอบที่แล้วกระทบต่อการค้าโลกผ่านภาษีศุลกากร แต่รอบใหม่กระทบผ่านห่วงโซ่อุปทาน ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับกลยุทธ์ เช่น การกระจายฐานการผลิตไปลงทุนประเทศที่สาม อย่างในปัจจุบันจะเห็นได้ชัดเจนว่า โรงงานจีนเริ่มย้ายฐานการผลิตมาไทยจำนวนมากและรวดเร็ว
สำหรับจีนแล้วตั้งแต่เผชิญกับสงครามการค้าในรอบที่แล้ว จีนได้ใช้หลายกลยุทธ์ในการรับมือกับสงครามการค้า โดยเน้นไปที่การพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยี การกระจายตลาด และการใช้มาตรการตอบโต้ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของตนเอง หลังจากถูกสหรัฐฯ จำกัดการเข้าถึงชิปขั้นสูงและเครื่องมือการผลิต จีนได้เพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของตนเอง SMIC (Semiconductor Manufacturing International Corporation) เร่งพัฒนากระบวนการผลิตชิปขั้นสูง 7 นาโนเมตร แม้จะขาดเทคโนโลยี EUV (เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์วงจรบนชิปที่ใช้แสงอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่นสั้นมากประมาณ 13.5 นาโนเมตร เพื่อสร้างทรานซิสเตอร์ที่มีขนาดเล็กและหนาแน่นขึ้น เทคโนโลยีนี้เป็นหัวใจสำคัญของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับ 7 นาโนเมตรหรือต่ำกว่า ซึ่งใช้ในอุปกรณ์ไฮเทค) ส่วน Huawei ได้เปิดตัวชิป Kirin 9000s ซึ่งพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีของจีนเอง การอุดหนุนและเงินลงทุนจากรัฐบาลจีน ได้ตั้งกองทุนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนบริษัทเซมิคอนดักเตอร์
ที่ผ่านมา จีนได้ใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อตอบโต้ข้อจำกัดของสหรัฐฯ เช่น จำกัดการส่งออกแร่ธาตุสำคัญ เช่น แกลเลียมและเจอร์เมเนียม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ควบคุมการลงทุนของบริษัทต่างชาติโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ โดยเพิ่มการตรวจสอบและออกกฎหมายที่เข้มงวดขึ้น แบล็กลิสต์บริษัทต่างชาติที่ปฏิบัติตามมาตรการของสหรัฐฯ เช่น ในปี 2023 หน่วยงานไซเบอร์ของจีน (CAC) สั่งแบนการใช้ชิปของ Micron ในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ศูนย์ข้อมูลและระบบโทรคมนาคม โดยให้เหตุผลว่าเป็น "ความเสี่ยงด้านความมั่นคง"
ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าจีนมีการเตรียมตัวอยู่ตลอดจากความเสี่ยงด้านการค้าการร่วมมือกับสหรัฐฯ และยุโรป จีนพยายามลดการพึ่งพาตะวันตก โดยขยายความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เช่น เสริมสร้างความร่วมมือกับรัสเซีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เพื่อหาแหล่งพลังงานและวัตถุดิบทางเลือก ผลักดันโครงการ Belt and Road Initiative หรือ “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เพื่อสร้างเครือข่ายเส้นทางการค้า การลงทุนใหม่ ขยายตลาดเทคโนโลยีในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ผลักดันเทคโนโลยี 5G และ เอไอในอาเซียนและละตินอเมริกา
ผลักดันนโยบาย "Dual Circulation" (เศรษฐกิจหมุนเวียนสองวงจร) จีนเน้นพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศให้แข็งแกร่งขึ้นโดย กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ลดการพึ่งพาการส่งออกแต่การส่งออกก็ยังสำคัญอยู่ พัฒนาเทคโนโลยีในประเทศแทนการนำเข้า เช่น เอไอ อีวี (รถยนต์ไฟฟ้า) และพลังงานสะอาด การพัฒนาเงินหยวนดิจิทัลและลดการใช้ดอลลาร์สหรัฐ ส่งเสริมการใช้เงินหยวนดิจิทัล (E-CNY) ในการค้าระหว่างประเทศ ทำข้อตกลงการค้าด้วยเงินหยวนแทนดอลลาร์กับหลายประเทศด้วย อีกทั้งจีนยังลดการถือครองเงินดอลลาร์และหันมาถือครองทองคำมากขึ้น โดยช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาจีนเพิ่มการถือครองทองคำมาตลอด
ล่าสุด ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งบริหารเพื่อเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 10% เมื่อพิจารณามาตรการภาษีที่ทรัมป์ใช้ในสมัยแรก (Trump 1.0) จะเห็นได้ว่าการกลับมาเปิดฉากสงครามการค้าครั้งนี้ อาจมีเป้าหมายเดิมคือ “การสกัดกั้นและกดดันจีน พร้อมทั้งผลักดันให้ภาคการผลิตกลับสู่สหรัฐฯ”
ผู้เชี่ยวชาญจีนมองเรื่องของสงครามการค้าไปในแนวทางเดียวกันว่า “ในสมัยแรกของทรัมป์ก็เคยประกาศสงครามการค้ากับจีนและเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีน แม้ดูเหมือนเป็นการทำให้ผู้ส่งออกของจีนเสียเปรียบและส่งผลกระทบต่อการค้าส่งออกของจีน แต่ในความเป็นจริง หลังจากที่ทรัมป์กลับมาใช้ไม้แข็งด้านภาษี ชาวอเมริกันเองที่เดือดร้อนได้ส่งเสียงสะท้อนออกมา เช่น วิศวกรชาวอเมริกันรายหนึ่งเปิดเผยว่า บริษัทของเขาถูกสั่งห้ามซื้อชิ้นส่วนจากจีน ทำให้ต้องไปหาซื้อจากบริษัทอังกฤษแทน แต่สุดท้ายพบว่า ราคาสูงขึ้นถึง 50% และที่แย่กว่านั้น ชิ้นส่วนนั้นยังผลิตในจีนอยู่ดี! ดังนั้นทรัมป์เองอาจคิดว่า การใช้มาตรการภาษีจะสามารถทำให้จีนสั่นคลอนแต่สุดท้าย คนที่เจ็บหนักกลับเป็นชาวอเมริกันเสียเอง
มีข้อมูลระบุว่าความจริงแล้ว สงครามการค้ากับจีนแทบไม่ได้กระทบต่อปริมาณการส่งออกของจีนเลย ตรงกันข้าม ผู้นำเข้าชาวอเมริกันยังคงนำเข้าสินค้าจากจีนตามปกติ เนื่องจากความต้องการในตลาดยังมีอยู่ ในปี 2024 มูลค่าการค้าสินค้าของจีนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และจีนยังคงเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้าสินค้าสูงสุดของโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 8
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีนมองว่า ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ พยายามจะทำสงครามการค้าแต่ก็หยุดจีนไม่ได้ เพราะการพึ่งพาสหรัฐฯ ของจีนในปัจจุบันลดลง โดยช่วงปี 2024-2025 การส่งออกไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นเพียง 3% ของ GDP จีน (ไม่รวมในส่วนของบริษัทหรือโรงงานจีนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ) ซึ่งต่อให้สหรัฐฯ คว่ำบาตรจีน การเติบโตของจีนก็ยังดำเนินต่อไป
ต่อมาคือสหรัฐฯ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสินค้า “Made in China” ได้ แม้แต่ในอุตสาหกรรมการทหารของสหรัฐฯ ที่มีกฎระเบียบเข้มงวด ก็ยังต้องพึ่งพาชิ้นส่วนจากจีน สุดท้ายคือสินค้าจีนมีคุณภาพดี ราคาถูก เพราะระดับอุตสาหกรรมของจีนถูกพัฒนาขึ้นมามากแล้ว สำหรับคนอเมริกันและชาวโลก หลังการระบาดของโควิด-19 ปัญหาเงินเฟ้อสูง สินค้าจากจีนยังคงเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ที่คุ้มค่าที่สุด
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่สงครามการค้ารอบที่แล้ว จีนพยายามปรับตัวและเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่แน่นอนมาก่อนหน้า จีนมีการเตรียมตัวในสงครามการค้าในรอบนี้ดีกว่ารอบที่แล้ว อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าในรอบนี้ไม่เพียงแค่จีน ยังมีประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบ และทุกครั้งที่สหรัฐฯ มีมาตรการกีดกันจีน จีนก็มีมาตรการตอบโต้อย่างทันควันเช่นกัน
ผู้เขียนเชื่อว่าในรอบนี้ทั้งจีนและประเทศต่างๆทั่วโลกต่างกำลังจับตาทรัมป์ ว่าจะมีนโยบายสุดเหวี่ยงอะไรออกมาอีก หลายคนมองว่าทรัมป์เป็นนักธุรกิจที่ฉลาดเฉลียว สิ่งที่เขาวางหมากไว้ก็เพื่อเป้าหมายในการเจรจาและบรรลุเป้าหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯนั่นเอง